ยุติภาวะไร้สัญชาติ เพื่ออนาคตของเด็กทุกคน
สิทธิในการมีสัญชาติ เพื่อเด็กทุกคน

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ คือ เด็กที่มีชีวิตอยู่โดยไร้ตัวตนในแผ่นดินที่อยู่ และไม่ถูกยอมรับว่าเป็นพลเมืองของรัฐใดในโลก สำหรับในประเทศไทย เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือสัญชาติใดเลยจะถูกจัดเป็นเด็กไร้สัญชาติ และหากไม่มีเอกสารแสดงตนของรัฐไทย หรือรัฐใดอีก ก็จะกลายเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไร้เอกสาร และมักถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สถานะที่ไร้รัฐไร้สัญชาตินี้ ทำให้เด็กคนดังกล่าวไม่มีตัวตนในทางกฎหมาย แม้เด็ก ๆ เหล่านี้จะมีชีวิตเฉกเช่นเด็กทั่วไป แต่ก็เป็นชีวิตที่ไร้ตัวตน เด็กไร้สัญชาติมักเป็นผู้ที่ถูกลืม เพราะในทางกฎหมายก็เสมือนกับไม่มีใครมองเห็น และได้ยินพวกเขา ความไร้สัญชาติจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อชีวิตของเด็ก และเด็กเหล่านั้นมักต้องเผชิญกับผลกระทบของภาวะไร้สัญชาติต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในแทบทุกวัน

ภาวะไร้สัญชาติทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ นำไปสู่การขาดโอกาส และมักถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม โดยเด็กไร้สัญชาติมักตกอยู่ในสภาวะเปราะบาง ที่นำไปสู่ปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การขาดโอกาส และการเข้าไม่ถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล และความคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นในประเด็นคุ้มครองเด็ก เช่น ความรุนแรง การละเมิด การแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์ หรือการถูกใช้แรงงานเด็ก เมื่อเด็กไร้สัญชาติเติบโตจนถึงวัยที่สามารถทำงานได้ ก็มักจะเผชิญข้อจำกัด และการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่สามารถทำงานบางอาชีพได้ หรือการได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าปกติ ในหลายกรณีตัวเลือกการทำงานมีอย่างจำกัดมากจนมักถูกจ้างให้ทำงานที่เสี่ยงอันตราย นอกจากนี้ เด็กไร้สัญชาติมักถูกกีดกันจากสิทธิขั้นพื้นฐานอีกด้วย เช่น สิทธิในการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
ภาวะไร้สัญชาติมักมีสภาพปัญหาเป็นวงจรสืบต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น กล่าวคือ บุตรหลานของผู้ไร้สัญชาติจะสืบต่อสถานะไร้สัญชาติตั้งแต่แรกเกิด และสถานะนี้จะยังสืบต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ากระบวนการพัฒนาสถานะจะแล้วเสร็จ ซึ่งมักกินเวลานานหลายปี เป็นผลให้วงจรปัญหาดังกล่าวดำรงต่อเนื่องและทำให้มีเด็กที่ตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุไว้อย่างชัดเจน ถึงสิทธิของเด็กทุกคนในการได้รับการแจ้งและจดทะเบียนเกิด รวมถึงมีสัญชาติ โดยรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ มีหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือเด็กที่ตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มาตรา 7
- เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จักและได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน
- รัฐภาคีจะประกันให้มีการปฎิบัติตามสิทธิเหล่านี้ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีของรัฐภาคี ที่มีอยู่ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ
ในประเทศไทย สภาพความไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในประเทศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตและดำเนินต่อเนื่องมายังปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมีแนวนโยบายและกฎหมายที่ครอบคลุม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติยังคงเป็นสาเหตุหลักของข้อท้าทายที่ทำให้ยังไม่สามารถยุติวงจรไร้สัญชาติได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ยังมีเด็กที่อยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่นับแสนคนในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย
วิดีโอแคมเปญ
เมื่อพวกเขาเกิดมาพร้อมกับคำว่า “ไร้สัญชาติ” ชีวิตที่ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน โอกาสในการเลือกเรียนสิ่งที่รัก ได้ทำงานที่อยากทำ ได้ทำตามความฝัน ได้แสดงความสามารถที่ตัวเองมี หรือแม้กระทั่งได้เที่ยวเล่นเหมือนเด็กปกติทั่วไปก็กลายเป็นแค่จินตนาการ
“ไม่เป็นไร...” สำหรับคนทั่วไป อาจเป็นคำพูดพิเศษที่สามารถปลอบประโลมจิตใจในยามที่ต้องเผชิญปัญหา แต่สำหรับเด็กบางกลุ่มแล้ว คำ ๆ นี้ อาจยังไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ อย่าให้คำว่า “ไม่เป็นไร…” มาทำให้ชีวิตของเด็กไร้สัญชาติต้องไร้ตัวตนตลอดไป
“เสียง” ที่สังคมไม่ได้ยิน…เสียงของเด็กไร้สัญชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนเด็ก ๆ คนอื่น สิทธิขั้นพื้นฐานคือความหวังเดียวที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่านี้
งานของยูนิเซฟในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก
ยูนิเซฟได้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้การแจ้งและจดทะเบียนการเกิดถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยลดและตัดวงจรภาวะไร้สัญชาติได้ เพราะถือเป็นบันทึกทางการแรกที่แสดงถึงการมีอยู่ของเด็ก และสร้างการมีตัวตนให้เด็กผู้นั้นในทางกฎหมาย ภายใต้การสนับสนุนของพันธมิตร ยูนิเซฟร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาโปรแกรมและริเริ่มการเชื่อมข้อมูลของเด็กที่คลอดในโรงพยาบาลเข้ากับข้อมูลทะเบียนราษฎรโดยอัตโนมัติ โดยใน ปี พ.ศ. 2556 โรงพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐทั่วประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบการจดทะเบียนออนไลน์มาเป็นตัวเชื่อมโยงข้อมูลของทารกแรกเกิด เพื่อรับประกันว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าพ่อแม่จะมีสัญชาติใด ต้องได้รับการแจ้งและจดทะเบียนการเกิด และได้รับสูติบัตรซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการพิสูจน์ตัวตนเด็ก อันจะนำไปสู่การเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา การรักษาพยาบาล และสวัสดิการสังคมต่าง ๆ
ภายใต้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ในโครงการคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2561 ยูนิเซฟประเทศไทยได้มุ่งเน้นภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาวงจรภาวะไร้สัญชาติและข้อท้าทายต่าง ๆ ที่เด็กไร้สัญชาติยังคงต้องเผชิญอยู่
ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ยูนิเซฟได้ร่วมกับพันธมิตร ทำการศึกษารวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ถึงสถานการณ์ล่าสุดของเด็กไร้สัญชาติ รวมทั้งออกแบบและนำเสนอแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานดูแลกระบวนการพัฒนาสถานะบุคคลดังกล่าว เพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยุติวงจรภาวะไร้สัญชาติในที่สุด
รายงาน
ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น: 48 ปีสถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย
รายงานฉบับนี้ ดำเนินการศึกษาทบทวนสถานการณ์ปัญหา ข้อจำกัดในการเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิด และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีพันธกิจในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
สิทธิและแนวทางการพัฒนาสถานะบุคคลของเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย
เอกสารฉบับนี้ทำการศึกษารวบรวมกลุ่มผู้ติดตามผู้ลี้ภัย ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีปัญหาเรื่องสถานะบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย โดยสรุปความสำคัญในการพัฒนาสถานะบุคคล สิทธิที่กฎหมายรับรอง และกฎหมายนโยบายที่เกี่ยวข้องพอสังเขปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติหรือกลุ่มอื่น ๆ จะได้ศึกษาข้อมูลด้านสถานะบุคคล และสิทธิตามกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตนเองเบื้องต้นได้
คู่มือการจดทะเบียนการเกิด และกระบวนการพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทย
คู่มือฉบับนี้จัดทำเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะไร้สัญชาติ บุคคลในครอบครัว ตลอดจนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจข้อกฎหมาย นโยบาย และขั้นตอนปฏิบัติ เพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ได้อย่างชัดเจน
โครงการการประเมินสถานการณ์การเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดเด็กข้ามชาติ: การศึกษาเชิงปริมาณ
การเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดของเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงประชากรกลุ่มข้ามชาติพันธุ์ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการตกเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการศึกษาและบริการสุขภาพ รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นการประเมินสถานการณ์การเข้าถึงการจดทะเบียนเกิด และศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งอิทธิพลเชิงสนับสนุน และเชิงปัญหาข้อจำกัด ต่อการเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดของเด็กที่เป็นประชากรกลุ่มศึกษา
รายชื่อหน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติ
เอกสารฉบับนี้รวบรวมรายชื่อและรายละเอียดติดต่อของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
การคุ้มครองและยุติภาวะไร้สัญชาติในเด็กในประเทศไทย: การพัฒนาแนวทางปฏิบัติเร่งกระบวนการทบทวนสิทธิในสัญชาติ
เอกสารฉบับนี้เป็นรายงานฉบับเต็มในการศึกษาทบทวนสถานการณ์ปัญหา ข้อจำกัดในการเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิด และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทย และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติแบบอย่างเพื่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาการเข้าไม่ถึงการจดทะเบียนการเกิด และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิทธิในสัญชาติอย่างมีประสิทธิภาพ