การคุ้มครองเด็ก
สิทธิที่จะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอาใจใส่เพื่อเด็กทุกคน

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
ความท้าทาย
เด็กมักจะได้รับประสบการณ์ความรุนแรงที่แอบแฝงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิด ในสถานที่ที่พวกเขาควรได้รับการปกป้องคุ้มครองที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน และโลกออนไลน์ ความรุนแรงต่อเด็กอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในทางกายภาพ ทางจิตใจและอารมณ์ หรือทางเพศ โดยในหลายกรณี เด็กคือเหยื่อของคนที่พวกเขาให้ความไว้วางใจ
เด็กในประเทศไทยจำนวนมากยังคงพบอุปสรรคในการเข้าถึงการคุ้มครอง โดยเฉพาะเด็กพิการ เด็กข้ามชาติ และเด็กไร้สัญชาติ นอกจากนั้น ร้อยละ 58 ของพ่อแม่ผู้ปกครองยังใช้วิธีการลงโทษด้วยความรุนแรง และเด็กผู้หญิงหนึ่งในห้าคนต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย
โรคโควิด-19 ได้เพิ่มความเสี่ยงให้แก่เด็กจากการถูกแยกจากครอบครัว โดยเด็กประมาณ 55,000 คน กำลังเติบโตขึ้นโดยปราศจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และต้องอยู่อาศัยในสถานสงเคราะห์ ซึ่งมักขาดการกำกับดูแล
และเมื่อเด็กใช้เวลาในโลกออนไลน์มากขึ้น พวกเขาจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเด็กอายุ 12-17 ปี ประมาณ 400,000 คน ตกเป็นเหยื่อของการถูกแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ในปีที่ผ่านมา โดยมีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่แจ้งความกับตำรวจ
การดำเนินการของยูนิเซฟ
ยูนิเซฟทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการคุ้มครองเด็กเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบสนองต่อความรุนแรงและการแสวงประโยชน์ รวมทั้งการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ นอกจากนั้น ยังทำงานร่วมกันเพื่อปฏิรูปนโยบายและพัฒนากำลังเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และระบบการบริหารจัดการข้อมูลให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ยูนิเซฟทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ภาคเอกชน ชุมชน และครอบครัว เพื่อค้นหาและให้การสนับสนุนเด็กที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และช่วยพัฒนานโยบายปกป้องและคุ้มครองเด็กในสถาบันที่ให้ที่พักพิงกับเด็ก รวมทั้งในระบบการศึกษา โดยยูนิเซฟยังทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการป้องกันความรุนแรงและส่งเสริมความยืดหยุ่นและความรู้ด้านดิจิทัล และการรณรงค์และการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้ผู้ดูแล เด็ก และชุมชน ได้เรียนรู้วิธีการสังเกตและป้องกันการล่วงละเมิด รวมทั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมและทางเพศที่เป็นอันตรายและยังคงส่งเสริมหรือยอมรับความรุนแรง
ยูนิเซฟทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่บริการคุ้มครองเด็กและกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน เพื่อปรับปรุงการจัดการรายกรณี (case management) โดยเฉพาะสำหรับเด็กข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาติ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ การฟื้นฟู และการกลับคืนสู่สังคมสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน และเด็กที่ประสบการล่วงละเมิด นอกจากนั้น ยูนิเซฟยังผลักดันข้อตกลงระหว่างไทยกับเมียนมา กัมพูชา และลาว ในการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ