คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (YPAB)
เพื่อสร้างพื้นที่ในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายให้กับเด็กและเยาวชน
- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
เกี่ยวกับคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (YPAB)
คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (YPAB) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายให้กับเด็กและเยาวชน โดยพื้นที่นี้จะเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้กับยูนิเซฟและองค์กรพันธมิตรได้ฟังเสียงของเยาวชน โดยเฉพาะเสียงจากกลุ่มเยาวชนที่ยังขาดโอกาสและกลุ่มเปราะบาง เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินงานต่อไป
YPAB มีบทบาทและความรับผิดชอบในการให้ข้อคิดเห็นกับยูนิเซฟในหลากหลายด้าน เช่น โครงการของยูนิเซฟ การรณรงค์ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับเครือข่ายอื่น ๆ และการสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชน สมาชิก YPAB ถูกแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ตามความสนใจของสมาชิกแต่ละคน ภายใต้หัวข้อ สุขภาพและสุขภาวะ การศึกษาและการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปสู่ระดับอุดมศึกษาหรือไปสู่ชีวิตการทำงาน ความสามารถในการทำงาน ความรุนแรงต่อเด็ก การมีส่วนร่วมของเยาวชนสิ่งแวดล้อม/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการ YPAB มุ่งสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงกับผู้นำเยาวชนคนอื่น ๆ รวมถึงพัฒนาศักยภาพของสมาชิก เพื่อเด็กและเยาวชนสามารถมีพื้นที่ให้ข้อคิดเห็นต่อโครงการของยูนิเซฟ นําไปสู่การทํางานของยูนิเซฟอย่างมีส่วนร่วม มีความเกี่ยวข้อง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นสําหรับเยาวชนในประเทศไทย
คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนจะทํางานอย่างไร?
ในปี พ.ศ.2566 สมาชิก YPAB ประกอบด้วยเยาวชนจากทั่วประเทศไทยจำนวน 51 คน อายุระหว่าง 10-23 ปีที่มีประสบการณ์จริงในการทำกิจกรรมภายใต้หัวข้อที่ตนเองสนใจ
สมาชิก YPAB จะปฏิบัติภารกิจเป็นระยะเวลาหนึ่งปี และมีบทบาทและความรับผิดชอบ ดังนี้
- การมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการของยูนิเซฟ: สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนจะให้ข้อคิดเห็นและมีบทบาทในการวางแผน ออกแบบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการของยูนิเซฟ
- การรณรงค์: สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนดำเนินงานจะร่วมกับยูนิเซฟหาช่องทางแบ่งปันและสะท้อนความคิดเห็นของเยาวชน รวมทั้งมีส่วนร่วมในกิจกรรมการรณรงค์ของยูนิเซฟ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก นอกจากนี้ จะมีบทบาทในการพัฒนาเนื้อหาและสื่อสำหรับการรณรงค์ซึ่งมีเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย และมีส่วนร่วมในการเผยแพร่และสื่อสารข้อความต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
- การสร้างเครือข่าย: สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนจะร่วมกันสร้างเครือข่ายด้วยการหากลุ่ม องค์กร และเครือข่ายเยาวชนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและมีความมุ่งมั่นมาร่วมทำงานและสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อประโยชน์ของเยาวชน
- การสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนคนอื่น ๆ: สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนจะร่วมกับเยาวชนอื่น ๆ ในการระบุประเด็นปัญหาของเยาวชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมต่าง ๆ เช่น การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์ การสำรวจความคิดเห็น เป็นต้น
สมาชิก YPAB ถูกแบ่งเป็น 6 กลุ่มตามเป้าหมายหลักในแผนงานของยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยจัดแบ่งตามความสนใจของสมาชิกแต่ละคน ดังนี้
- สุขภาพและสุขภาวะของวัยรุ่น (Health and Wellbeing)
- การศึกษาและการเตรียมทักษะความพร้อมไปสู่ชีวิตการทำงาน (Education and school to work/high education transition)
- ความสามารถในการทำงานและการสร้างโอกาสการมีงานทำ (Employability)
- ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน (Violence against children)
- การมีส่วนร่วมของเยาวชน (Youth participation)
- สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environment/Climate Change)
โครงการ YPAB จะมีการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอโดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่
- ค่ายพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำเยาวชน YPAB
- กิจกรรมออนไลน์พัฒนาทักษะและการสร้างความสัมพันธ์
- การประชุมเฉพาะกิจ โดยความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนกับยูนิเซฟ ประเทศไทย
- การสื่อสารผ่านอีเมล กลุ่มสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) หรือกลุ่มสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์อื่น