สอนลูกรับมือกับ ‘ความเศร้าโศก’ และก้าวผ่าน ‘การสูญเสีย’

คำแนะนำจากนักจิตวิทยาในการช่วยให้เด็กก้าวผ่านการสูญเสียและความเศร้าโศกในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

ยูนิเซฟ
เด็กสาวกำลังสวมกอดคุณแม่ของเธอโดยมีสีหน้าที่เศร้าสร้อย
Adobe Stock/296606048
20 สิงหาคม 2021

โรคโควิด-19 ถือเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงชีวิตของเรา มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขไปทั่วโลก ส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ทั้งในด้านพฤติกรรมและความรู้สึก หลายคนต้องเผชิญหน้ากับความเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รับมือได้ยากสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเด็กที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกในช่วงชีวิตวัยเยาว์

เราจึงได้พูดคุยกับดร. ลิซ่า ดามัวร์ (Dr. Lisa Damour) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ที่เป็นทั้งนักเขียนหนังสือขายดี นักเขียนคอลัมน์ประจำนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ และคุณแม่ลูกสอง เกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือเด็ก ๆ ในครอบครัว ให้ก้าวผ่านความสูญเสียในทุกแง่มุมท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก

 

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง การสูญเสีย และ ความเศร้าโศก?

“การสูญเสียและความเศร้า ถือเป็นประสบการณ์เชิงจิตวิทยาที่ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างมากต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาจทำให้เกิดความรู้สึกปั่นป่วน สับสน บ่อยครั้งมักพบอาการเศร้าซึมร่วมด้วย” ดร. ดามัวร์ กล่าว “เราอาจใช้คำว่า ‘สูญเสีย’ (Loss) เพื่อบรรยายถึงการสูญเสียสิ่งต่าง ๆ ที่อาจหวนคืนกลับมาได้ เช่น วิถีชีวิตเดิมก่อนเกิดโรคระบาด ใขขณะที่ ‘ความเศร้าโศก’ (Grief) ถูกใช้อธิบายสิ่งที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีก เช่น ความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก ในทางจิตวิทยาสองสิ่งนี้มีความแตกต่างกัน เพราะนอกจากจะต้องยอมรับว่าบุคคลนั้นได้จากไปแล้ว ยังมีสิ่งที่ยากกว่าคือ การทำใจยอมรับว่าพวกเขาจะไม่มีวันกลับมาอีก”

 

ความรู้สึกสูญเสียและโศกเศร้าของเด็กต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร?

ดร. ดามัวร์ บอกกับเราว่า หลายอย่างขึ้นอยู่กับว่าเด็กอายุเท่าไหร่แล้ว “เด็กเล็กหลายคนอาจสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียหรือความเศร้า เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้ไปโรงเรียน ทำไมพ่อแม่ถึงอยู่บ้าน ในกรณีที่มีคนเสียชีวิต พวกเขาอาจไม่เข้าใจจริงๆ ว่าความตายคืออะไร ทำไมความตายนั้นถาวร ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กเล็กๆ ไม่ได้แค่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องรับมือกับความไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ขึ้นด้วย และอะไรคือสาเหตุของสิ่งเหล่านี้”

สำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี “พวกเขามักจะอยากได้คำอธิบาย พวกเขาพร้อมที่จะทำความเข้าใจว่าสถานการณ์ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ทั้งในเรื่องที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ รวมไปถึงเรื่องความตายของบุคคลที่พวกเขารัก บางคำถามเรามีคำตอบให้พวกเขา แต่เมื่อเจอกับคำถามที่เราอาจไม่รู้และไม่มีคำตอบให้ นั่นอาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา”

“สำหรับวัยรุ่น กระบวนการนี้ค่อนข้างหนัก เพราะอารมณ์มีผลอย่างมากสำหรับเด็กในวัยนี้ ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กเข้าใจก่อนว่า ความเศร้าโศกเสียใจเป็นอารมณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เสียชีวิตเป็นคนที่เรารัก หรืออาจจะมีบางช่วงที่เราไม่ได้เศร้า หรือไม่ได้นึกถึงผู้ที่เสียชีวิตตลอดเวลา ก็ถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำได้ เพราะบางทีเด็กก็ไม่รู้ว่าจะแสดงความรู้สึกอย่างเหมาะสมได้อย่างไร”

 

ผู้ปกครองจะช่วยอธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้เด็กฟังได้อย่างไร?

สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือ เห็นอกเห็นใจและตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ ไม่โกหก ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม “สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ปกครองควรพูดตรง ๆ โดยให้คำอธิบายที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายที่สุดกับเด็ก หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเปรียบเทียบ หรือการใช้คำสละสลวยเกินไป เราอาจไม่สามารถบอกเด็ก ๆ ว่าเรา 'สูญเสีย' ใครบางคนไป เพราะเด็กไม่รู้ว่าสูญเสียแปลว่าอะไร คำว่าสูญเสียเป็นคำศัพท์ที่ยากเกินความเข้าใจของพวกเขา แต่เราสามารถอธิบายด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่นและอ่อนโยนว่า ‘เด็กๆ วันนี้แม่มีข่าวร้ายจะมาบอก คุณตาคุณยายของพวกเราเสียชีวิตแล้ว ร่างกายของคุณตาคุณยายหยุดทำงาน และพวกเราจะไม่ได้เจอกันอีก’  การอธิบายในลักษณะดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ปกครอง เพราะเป็นการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แต่การพูดอย่างตรงไปตรงมากับลูกถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสำหรับเด็ก การจัดการกับความรู้สึกเมื่อมีการตายของคนที่รักเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว และจะยากยิ่งขึ้นหากเราทำให้เขาสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น”

 

หากผู้ปกครองรู้สึกเศร้าโศกเสียใจกับการสูญเสียของพ่อแม่ตนเอง พวกเขาจะประคับประคองลูกของตนเองได้อย่างไร?

ดร. ดามัวร์อธิบายว่า การที่เด็กเห็นผู้ใหญ่เศร้าโศกเสียใจไม่ใช่เรื่องที่แย่ “การที่ผู้ใหญ่รู้สึกเสียใจกับการจากไปของคนที่รัก ถือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสูญเสียที่ถูกต้องแล้ว และเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในช่วงเวลานั้น สิ่งสำคัญคือ ผู้ปกครองจะต้องพยายามสอนให้เด็กเข้าใจว่า เวลาที่เรารู้สึกเศร้า เรามีวิธีการรับมือหรือจัดการกับอารมณ์อย่างไรได้บ้าง”

แต่ถ้าหากผู้ปกครองรู้สึกเศร้าโศกเสียใจจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ก็ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว “จริงอยู่ที่ผู้ปกครองควรรู้สึกสบายใจที่จะแสดงความเศร้าต่อหน้าลูก ๆ แต่ถ้าหากความเศร้าของเราท่วมท้นจนไม่อาจควบคุมได้ เราควรแยกตัวออกมาจากลูกเพื่อไปจัดการกับอารมณ์ของตนเองก่อน สงบสติสักพักหนึ่งจนกว่าจะดีขึ้น หรือมองหาความช่วยเหลือจากที่อื่นแทน จะได้ไม่ทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัว "

 

เวลาที่ลูกของเรารู้สึกเศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก มีสิ่งใดบ้างที่พ่อแม่ควรรู้?

ดร. ดามัวร์อธิบายว่า “ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เด็กอายุ 6-11 ปีและวัยรุ่นจะมีการใช้กลไกป้องกันตนเองจากความเศร้าเพื่อก้าวผ่านความสูญเสียคนใกล้ชิด เด็กบางคนปฏิเสธความจริง ไม่เชื่อในการตาย หรือลืมไปว่าเหตุการณ์การเสียชีวิตของบุคคลนี้เคยเกิดขึ้นก็มี ซึ่งในทางจิตวิทยา กลไกดังกล่าวเป็นกระบวนการการป้องกันจิตใจที่ช่วยให้พวกเขาได้พักจากข่าวร้ายที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด โดยกระบวนการนี้จะทำให้อารมณ์ของเด็กมีลักษณะขึ้น-ลงเหมือนเกลียวคลื่น ถ้าจำได้ก็จะรู้สึกเศร้าซึมอย่างรุนแรง ถ้าหากลืมก็จะรู้สึกสบายใจและใจเย็นลง เพราะฉะนั้น พวกเขาควรได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างเต็มที่จากผู้ปกครอง เพื่อจัดการกับความรู้สึกหลังการจากไปของคนที่พวกเขารัก

“ในส่วนของเด็กเล็ก อาจมีพัฒนาการถดถอยกว่าคนอื่นในช่วงนี้ มีอาการติดคนมากเป็นพิเศษ หรือสูญเสียพัฒนาการที่สำคัญบางอย่าง เช่น มีปัญหากับตารางการเข้านอน หรือการเข้าห้องน้ำเอง ทั้งนี้ก็เพราะเด็กกำลังพยายามทำความเข้าใจกับการจากไปของบุคคลที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเขาไปพร้อม ๆ กับการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวหลังจากเกิดความสูญเสียขึ้น ยิ่งครอบครัวรักษาความมั่นคงของสิ่งรอบข้างได้มากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้เด็กกลับมาจดจ่อกับการจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น และพวกเขาจะสามารถปรับตัวเข้ากับมันได้เมื่อเวลาผ่านไปในที่สุด”

 

เมื่อพ่อแม่กังวลว่าลูกอาจมีภาวะซึมเศร้า อะไรคือสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะดังกล่าว?

“ความสูญเสียและการพลัดพราก เป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด” ดร. ดามัวร์กล่าว “สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องรู้ก่อนว่า ลูกกำลังรับมืออย่างเหมาะสมหรือไม่ และรู้ว่าพฤติกรรมแบบใดของเด็กคือสิ่งที่น่ากังวล หากมีพฤติกรรมในเชิงลบ เช่น ลูกมีอาการเหม่อลอยติดต่อกันนานเป็นเวลาหลายวัน มีการใช้สารเสพติด มีการดูแลตัวเองที่ไม่เหมาะสม หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ ก็สามารถอนุมานได้ว่าอาจมีภาวะซึมเศร้าและควรปรึกษากุมารแพทย์”

“หากผู้ปกครองเริ่มเป็นกังวลเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าของลูก สิ่งแรกที่ควรทำคือ หมั่นสังเกตว่าลูกเรามีภาวะทางอารมณ์แบบใด เช่น อารมณ์หงุดหงิด การไม่สบอารมณ์เป็นวัน ๆ เป็นต้น ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องกังวลมากจนเกินไป ต้องเข้าใจว่าความเศร้าของเด็กบางครั้งก็รุนแรง บางครั้งก็เบาบาง แต่ที่ควรระวังคือกรณีที่เด็กหรือวัยรุ่นรู้สึกหดหู่ตลอดเวลา หากพบว่าเด็กมีอาการซึมเศร้าจริง ผู้ปกครองควรติดต่อกุมารแพทย์ แพทย์ประจำครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อขอคำปรึกษาและรับคำแนะนำ” อย่างไรก็ตาม เวลาสูญเสียคนที่รักไปทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการก้าวผ่านความเศร้าด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาที่จะช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้นตามลำดับ

 

การพลาดโอกาสสำคัญต่างๆ ในชีวิตทำให้ลูกรู้สึกเสียใจ พ่อแม่ควรสื่อสารอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจ?

“เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะรู้สึกเสียใจหรือไม่พอใจ เพราะโควิด-19 พรากความฝันและวิถีชีวิตเดิมที่ควรจะเป็นของพวกเขาไป” ดร. ดามัวร์เน้นย้ำ การสูญเสียโอกาสในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในมุมมองของผู้ใหญ่ สำหรับเด็กแล้วอาจจะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการมีความทรงจำดีดีในวันที่พวกเขาเติบโตขึ้น โควิด-19 อาจกลายเป็นความทรงจำหลักในชีวิตวัยเด็กของพวกเขา ถ้าหากวัดจากประสบการณ์และช่วงวัยของชีวิตที่หายไปของพวกเขา “วิธีที่ผู้ใหญ่จะสามารถช่วยเด็กได้คือ การให้พื้นที่เด็กในการแสดงอารมณ์เชิงลบ และเห็นอกเห็นใจพวกเขา เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่คือการสูญเสียโอกาสในการเก็บช่วงเวลาดี ๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต พอเลยวัยไปแล้วก็ไม่สามารถหวนกลับมาทำได้อีก เช่น การรับวุฒิบัตรจบการศึกษาระดับอนุบาล เป็นต้น แต่กลับถูกโควิด-19 พรากโอกาสเหล่านี้ไป จึงไม่แปลกที่เด็กจะรู้สึกไม่พอใจ เพราะตั้งหน้าตั้งตารอมานานหลายเดือนแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ นอกจากการเห็นอกเห็นใจแล้ว เราต้องช่วยทำให้เขาทำใจยอมรับกับเรื่องนี้ให้ได้”

>> หนังสือนิทานที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่อง โควิด-19 มากขึ้น

 

เมื่อลูกไม่เข้าใจว่าทำไมเราทุกคนจึงต้องกักตัวอยู่บ้าน ผู้ปกครองจะอธิบายให้ลูกเข้าใจได้อย่างไร?

ดร. ดามัวร์แนะนำว่า ผู้ปกครองควรให้คำตอบที่มีการยกตัวอย่างและมีเหตุผลน่าเชื่อถือกับเด็ก จะทำให้พวกเขาเข้าใจได้มากขึ้น เช่น คุณแม่อาจจะพูดกับลูกว่า “จำได้ไหมเวลาที่หนูป่วย พ่อกับแม่ก็ให้หนูหยุดอยู่บ้าน ตอนนี้ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่ว่าไวรัสตัวนี้อันตรายมากกว่าการเจ็บป่วยทั่วไป เราถึงต้องอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงจะไปติดเชื้อไวรัสนี้ และป้องกันไม่ให้คนอื่นมาแพร่เชื้อให้กับเราได้”

การคิดถึงเพื่อนเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กในทุกช่วงวัย วัยรุ่นอาจเข้าใจได้มากกว่าว่าทำไมจึงออกไปเจอเพื่อนไม่ได้ในช่วงนี้ แต่สำหรับเด็กเล็กถือเป็นเรื่องยากเกินความเข้าใจของพวกเขา ดร. ดามัวร์กล่าวเสริมว่า เราควรเสนอวิธีแก้ปัญหาให้กับเด็กเล็ก โดยผู้ปกครองอาจพูดกับลูกได้ว่า ‘แม่รู้นะว่าลูกอยากออกไปเจอหน้าเพื่อน แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น ลูกอยากลองเขียนจดหมายให้เพื่อนก่อนไหม แล้วเราเอาไปส่งที่ตู้จดหมายหน้าบ้านเพื่อนด้วยกัน’

“คำว่า ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) มีประโยชน์กับพวกเราในสถานการณ์นี้มาก เพราะมันคอยย้ำเตือนเราว่า เราไม่ได้ทำสิ่งที่เคยมีหรือเคยเป็นอยู่แล้ว แต่นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องสร้างสรรค์ และออกแบบชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับเด็ก หาเวลาทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกัน ดูแลตัวเองมากขึ้นเป็นพิเศษ ให้เด็กได้มีโอกาสเจริญเติบโตและเรียนรู้แม้จะมีเงื่อนไขและขอบเขตที่จำกัดจากสถานการณ์โควิด-19”

>> ชวนลูกคุย ชวนลูกคิด เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

 


สัมภาษณ์และเขียนบทความโดย แมนดี้ ริช นักเขียนออนไลน์ของยูนิเซฟ

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 และอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563

ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา

สมัครเลย