วิธีดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์
5 วิธีที่จะช่วยให้ลูก ๆ มีประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่ดีและปลอดภัย
- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
เมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้น พวกเขามักจะใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น
ข้อดีของสื่อออนไลน์นั้นมีหลายอย่าง เช่น ได้ติดต่อกับเพื่อน ๆ และครอบครัว ติดตามสิ่งที่สนใจ และได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่โลกออนไลน์ก็ไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่ดีและปลอดภัยสำหรับเด็กเสมอไป
มองลองดูวิธีที่จะช่วยให้ลูก ๆ ได้ประโยชน์สูงสุดจากโลกอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัล ในขณะที่เรายังสามารถปกป้องพวกเขาจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากโลกออนไลน์ได้
1. ตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน
พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับลูก ๆ ว่า พวกเขาควรสื่อสารอย่างไรกับใคร หรือใครบ้างที่จะสามารถเห็นเนื้อหาที่พวกเขาโพสต์ออนไลน์
อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่เข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ เช่น รูปภาพ วีดีโอ คอมเมนต์ หรือสิ่งที่ลูก ๆ แชร์กับผู้อื่น รวมถึงสิ่งที่ผู้อื่นโพสต์เกี่ยวกับตัวเขาหรือแชร์กับเขานั้น จะทิ้งข้อมูลร่องรอยของพวกเขาไว้อยู่เสมอ เด็ก ๆ จึงควรไตร่ตรองถึงสิ่งที่จะพูดและทำบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ “รอยเท้าดิจิทัล” ที่หลงเหลือไว้นั้นเป็นไปในทางที่ดี
ให้ลูกเข้าใจว่าการพูดคุยแบบกีดกันเลือกปฏิบัติ หรือการพูดคุยอื่นใดที่ไม่เหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง และไม่ควรมีการเผยแพร่ข่าวลือ หรือแชร์เรื่องราวหรือรูปภาพที่สร้างความเจ็บปวดและอับอายให้แก่กัน สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกล้อเล่นกัน อาจสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสสำหรับคนอื่นได้
หากลูก ๆ ของคุณเจออะไรบนโลกออนไลน์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ หรือหวาดกลัว บอกให้พวกเขารีบมาบอกคุณ หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ในทันที
คนที่คุกคามหรือข่มเหงทางโลกออนไลน์มักเป็นคนที่เด็ก ๆ รู้จัก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะสอนให้ลูก ๆ ระวังตัว และรู้วิธีรับมือกับพฤติกรรมสร้างปัญหาที่พวกเขาอาจจะเผชิญบนโลกออนไลน์
และให้ลูก ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าควรใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไร เมื่อไหร่ และ ที่ไหน
คิดก่อนโพสต์
ฉุกคิดก่อนจะโพสต์อะไรก็ตามบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในขณะกำลังเสียใจหรือโกรธ เพราะทันทีที่ข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอถูกโพสต์ออกไป คุณจะควบคุมสิ่งที่จะเกิดตามมาได้ยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะลบสิ่งเหล่านั้นออกไป
จงจำไว้ว่าคุณมีสิทธิในความเป็นส่วนตัวของตัวเอง และผู้อื่นก็มีสิทธิ์นั้นเช่นกัน จึงไม่ควรเข้าใช้บัญชีของผู้อื่น หรือใช้โทรศัพท์ หรือแชร์ข้อมูลหรือรูปภาพของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
2. ใช้เทคโลโนยีเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก ๆ
ตรวจสอบว่าอุปกรณ์ของลูก ๆ มีการอัปเดตและใช้ซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุด และมีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว โดยจำกัดการอนุญาตเก็บข้อมูลส่วนตัวให้น้อยที่สุด เพื่อคนอื่นจะมองไม่เห็นข้อมูลที่ไม่ต้องการแสดงให้เห็น
ช่วยให้ลูก ๆ รู้จักการปกป้องรักษาข้อมูลส่วนตัว หากการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวนั้นไม่มีความปลอดภัย ใคร ๆ ก็สามารถเห็นข้อมูลดังกล่าวได้
ปิดบังกล้องเว็บแคมเมื่อไม่ได้ใช้งาน และสำหรับเด็กเล็กแล้ว การตั้งค่าระบบควบคุมของผู้ปกครองเช่น การค้นหาแบบปลอดภัย ช่วยให้ประสบการณ์ในโลกออนไลน์ของลูก ๆ เป็นไปในทางที่ดีได้
ระมัดระวังเรื่องของฟรีบนออนไลน์ แม้แต่สิ่งที่เกี่ยวกับการศึกษา หากมีการขอให้ลูก ๆ ส่งรูปภาพหรือชื่อเต็มของพวกเขาเข้าระบบ ต้องแน่ใจว่าเป็นเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้
คิดก่อนแชร์
คุณสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียของคุณได้ เพื่อช่วยควบคุมว่าใครจะเห็นข้อมูลของคุณ รวมถึงสถานที่ที่คุณอยู่ได้บ้าง
คิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะแชร์ และจะแชร์กับใคร อย่าแชร์ข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือบัญชีธนาคาร และห้ามแชร์พาสเวิร์ดกับใครเด็ดขาด แม้กระทั่งเพื่อนสนิท
3. หมั่นใช้เวลาบนโลกออนไลน์กับลูก ๆ
คอยหาโอกาสให้ลูก ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและปลอดภัยบนโลกออนไลน์กับเพื่อน ๆ ครอบครัว และตัวคุณเอง การได้ติดต่อกับคนอื่น ๆ อาจเป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ เรื่องการสื่อสารติดต่อบนออนไลน์อย่างมีน้ำใจและเข้าอกเข้าใจ
สอนลูก ๆ ให้รู้จักและหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่เป็นข้อมูลที่ผิด ข้อมูลลวง เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับวัย หรือเนื้อหาที่อาจก่อความกังวลใจหรืออันตรายในรูปแบบอื่นใด โดยควรแนะนำแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้แก่เด็ก ๆ
เด็ก ๆ อาจเห็นโฆษณาที่ส่งเสริมอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การเหมารวมทางเพศ หรือ เนื้อหาที่ไม่เหมาะกับวัย ควรช่วยพวกเขาให้รู้จักแยกแยะโฆษณาออนไลน์ และใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ร่วมกันว่าเนื้อหาเชิงลบที่เห็นเหล่านี้มีอะไรที่ไม่ถูกต้องบ้าง
ใช้เวลากับลูกเพื่อหาแอปพลิเคชัน เกม และสิ่งบันเทิงออนไลน์ต่าง ๆ ที่เหมาะกับวัย หมั่นคอยระวังแอปพลิเคชันที่อาจมีเนื้อหาที่เป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว
4. เป็นต้นแบบนิสัยออนไลน์ที่ดี
เสริมสร้างพฤติกรรมออนไลน์ที่ดีให้ลูก ๆ โดยทำตัวเป็นแบบอย่าง ไตร่ตรองให้รอบคอบถึงสิ่งที่คุณจะทำเป็นตัวอย่าง รวมทั้งการแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับลูก ๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงรูปภาพและวีดีโอของพวกเขา
ส่งเสริมให้ลูกมีน้ำใจในโลกออนไลน์ และคอยสนับสนุนเพื่อน ๆ และครอบครัว โดยการส่งข้อความหรืออิโมจิเชิงบวกให้
หากมีชั้นเรียนออนไลน์ ควรส่งเสริมเด็ก ๆ ให้รู้จักเคารพผู้อื่นและระมัดระวังสิ่งที่อาจถูกเห็นได้ผ่านกล้องเว็บแคมเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว
ต้องตื่นตัวหากลูก ๆ มีท่าทีขุ่นหมองใจจากโลกออนไลน์ หรือมีท่าทีปกปิดกิจกรรมออนไลน์ของตัวเอง หมั่นให้ความมั่นใจแก่ลูกว่าการถูกข่มเหงหรือคุกคามนั้นไม่ใช่ความผิดของลูก และลูกไม่ต้องเก็บเรื่องเหล่านี้เป็นความลับ
ทำความคุ้นเคยกับนโยบายการเรียนรู้ดิจิทัลของทางโรงเรียน คอยติดต่อศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือเพื่ออัปเดตเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของเด็ก ๆ รวมทั้งช่องทางการแจ้งเหตุกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ และการแจ้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
คิดก่อนตอบรับ
ก่อนตอบรับคำขอเป็นเพื่อน ควรเช็กโปรไฟล์ผู้ที่ขอ และดูว่าคนคนนั้นเป็นใคร มีเพื่อนที่รู้จักร่วมกันหรือไม่ หรือมาจากเมืองเดียวกันรึเปล่า
ไม่ต้องรู้สึกกดดันที่จะตอบรับคำขอเป็นเพื่อนที่ส่งมาสุ่ม ๆ เพราะบางครั้งก็มีการปลอมแปลงตัวตน และมันยากที่จะรู้ได้ว่าคนเหล่านี้พูดความจริงหรือไม่
5. ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานและแสดงออก
การใช้เวลาบนโลกออนไลน์อาจเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับลูก ๆ ในการปลอดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ ได้ส่งเสียงแบ่งปันมุมมองและสนับสนุนประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญกับพวกเขา
ส่งเสริมให้ลูก ๆ ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วีดีโอออกกำลังกายออนไลน์สำหรับเด็ก และวิดีโอเกมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย
อย่าลืมรักษาความสมดุลระหว่างกิจกรรมบนโลกออนไลน์ กับกิจกรรมสันทนาการออฟไลน์และวิถีชีวิตในโลกความเป็นจริง เพื่อสมดุลที่ดีในทุกด้านของชีวิต
ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา