ลดช่องว่างการดูแลเด็กปฐมวัยเพื่อเด็กไทยทุกคน
เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กในวันนี้ จะเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันหน้า

- English
- ไทย
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศไทยในวันนี้ คือภาระในอนาคตเมื่อเด็กกลุ่มนั้นเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน เด็กเหล่านี้จะต้องแบกรับภาระของคนสูงอายุมากขึ้นเพราะประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged-Society) โดยประมาณการในอนาคตจะมีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คน ต่อคนวัยทำงานถึง 1.7 คน เทียบกับใน 9 ปีที่แล้วที่มีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คนต่อคนวัยทำงานถึง 5 คนด้วยกัน
หลายคนกังวลกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดน้อยลง แต่ความกังวลดังกล่าวอาจยังไม่น่าหวาดวิตกอย่างที่คิด เพราะในอนาคตประเทศไทยเองจะมีการพัฒนาระดับเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น กอปรกับความเป็นไปได้ที่จะมีการนำใช้เครื่องจักรกลเข้ามามีบทบาท ลดความต้องการใช้แรงงานมนุษย์ลงไปได้ จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีคนจำนวนมากมาเป็นแรงงาน
แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ เด็กในวันนี้ที่มีจำนวนประชากรน้อยลงจะสามารถรับภาระทางเศรษฐกิจที่หนักอึ้งเมื่อเติบใหญ่ หรือจะสามารถสร้างระดับความมั่งคั่งเพียงพอที่จะรักษาสถานะทางรายได้ระดับปานกลางของประเทศ หรือแม้แต่นำพาประเทศไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้หรือไม่ เด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตสู่วัยทำงานจะต้องรับภาระรายจ่ายเงินบำนาญและการดูแลสุขภาพของประชากรคนวัยผู้ใหญ่ในวันนี้ที่จะกลายเป็นคนสูงวัยในอนาคตอีกด้วย
ทางเดียวที่จะเอาชนะความท้าทายนี้ได้ ก็คือ การช่วยให้เด็กในวันนี้เติบโตขึ้นมาเป็น “พลัง” ทางเศรษฐกิจ ที่จะสามารถนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้เทียบเท่ากับช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นแล้วว่า หากประเทศเน้นการลงทุนไปที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยสร้างหลักประกันว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในวันนี้จะได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด การลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้พวกเขามีศักยภาพในการเรียนรู้และพร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ศาสตราจารย์เจมส์ เฮกแมน เจ้าของรางวัลโนเบลด้านเศรษฐกิจได้ย้ำว่าการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะการลงทุนในช่วงอายุนี้ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมสูงได้อย่างมหาศาลและสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในช่วงอายุอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมาก อัตราการเข้าเรียนในหลักสูตรปฐมวัยของเด็กอายุ 3-5 ปีสูงถึงร้อยละ 85 ภาครัฐเองก็ตระหนักดีว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ นั้นต้องอาศัยการลงทุนเชิงนโยบายจากหลายภาคส่วนเชื่อมโยงกัน โดยเมื่อไม่นานนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการประสานความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบองค์รวมในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่ต้องได้รับการแก้ไข ตัวอย่างเช่น อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายโลกที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ อัตราการขาดสารอาหารและภาวะเตี้ยแคระแกร็นของเด็กปฐมวัยที่ยังน่าเป็นห่วง หรือแม้แต่ อัตราการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนของพ่อแม่ร่วมกับลูกยังคงต่ำ ตลอดจนการใช้ความรุนแรงในการอบรมเด็กที่ยังคงแพร่หลาย
อีกประเด็นที่น่าวิตกคือ การที่เด็กอายุระหว่าง 0-4 ปีในประเทศไทยมากถึง 1 ใน 5 คน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดแม้พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กเหล่านี้ ประกอบกับการขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กที่ราคาย่อมเยาและเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน (เมื่อแม่ต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด) จนถึง 3 ปี (ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เด็กเข้าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น โรงเรียนอนุบาล) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้พ่อแม่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายหรือสมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัวในจังหวัดบ้านเกิด และปัญหานี้มักเป็นปัญหาที่เกิดกับครอบครัวยากจนที่พ่อและแม่ต้องทำมาหากินทั้งคู่ จึงทำให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องท้าทายว่าพ่อแม่เหล่านี้จะสามารถดูแลลูกเล็กให้มีพัฒนาการสูงสุดในข้อจำกัดนี้ได้อย่างไร?

บทบาทหลักอย่างแรกของรัฐบาลที่จะช่วยลดช่องว่างที่ว่านี้ ก็คือการทำให้เกิดหลักสูตรการอบรมผู้เลี้ยงดูเด็กและพี่เลี้ยงเด็กปฐมวัยแบบองค์รวมที่ได้มาตรฐานและตอบสนองพัฒนาการรอบด้านและตามวัยของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยรัฐควรพัฒนาหลักสูตรการอบรมนี้มาใช้ควบคุมคุณภาพการจัดบริการของสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กที่อาจตั้งขึ้นร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม นอกจากนี้ ยังควรมีการจัดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้เลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีพร้อมเป็นหลักให้การรับรองศักยภาพแก่บุคลากรที่ให้บริการด้านนี้เพื่อให้มั่นใจว่าบริการต่าง ๆ สำหรับเด็กเล็กมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน ในขณะเดียวกัน รัฐอาจให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สถานรับเลี้ยงเด็กให้สามารถจัดการดูแลและเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญสำหรับสถานรับเลี้ยงเด็กที่ยังขาดโอกาสและให้บริการครอบครัวที่ยากจน ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการเหล่านี้เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกพนักงาน หรือ การส่งเสริมบริการดูแลเด็กที่บ้านอย่างมีคุณภาพ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้
ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะดำเนินการเหล่านี้ได้ การจัดบริการดูแลและเลี้ยงดูเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ปกครองจำนวนมากมีทางเลือกว่าจะกลับไปทำงานเมื่อไหร่และจะส่งเสริมพัฒนาการที่ดีที่สุดให้กับลูกน้อยได้อย่างไร การลงทุนในบริการด้านนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังจะช่วยนำพาประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาระดับชาติโดยรวมอีกด้วย
บทความนี้เป็น 1 ใน 5 บทความขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อนำเสนอประเด็นหลัก 5 ด้านที่สำคัญต่อการลงทุนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมของประเทศไทยต่อไป
บทความอื่นๆ ในซีรี่ส์นี้
นโยบายห้าประการด้านเด็กและเยาวชนที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ
ยูนิเซฟเชื่อว่าการโฟกัสไปที่ห้าแผนปฏิบัติสำคัญเพื่อเด็ก จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างขึ้น เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรจะพิจารณา เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานเพื่อเด็กทุกคนในประเทศไทย
การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21
คำว่า “การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21” ย้ำให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยไม่ใช่แค่การปฏิรูปเพียงครั้งคราว แต่ต้องเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน
ความรุนแรงต่อเด็กเป็นสิ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้าย โดยส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หนำซ้ำตัวเลขนี้อาจเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เนื่องจากกรณีที่เรารับทราบก็มักเป็นกรณีที่รุนแรงมาก ๆ เท่านั้น
พัฒนาเยาวชนให้พร้อมรับมือกับอนาคตได้อย่างมั่นใจ
เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญคือการพัฒนาเยาวชนให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำที่จะพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ