นโยบายห้าประการด้านเด็กและเยาวชนที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ
นโยบายสำคัญเพื่อเด็กและเยาวชน ที่ยูนิเซฟขอเสนอให้พิจารณา
- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของประชากรที่ยากจนในประเทศไทยลดลงอย่างมากในช่วงไม่ถึง 30 ปี จากร้อยละ 67 เมื่อปี 2529 เหลือเพียงร้อยละ 10.50 เมื่อปี 2557 และอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดก็ลดลงมาอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความยากจนและการขาดโอกาสทางสังคมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กจำนวนมาก ต้องประสบกับภาวะทุพโภชนาการ การเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพ การศึกษา และการปกป้องคุ้มครองที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กในครอบครัวที่ยากจน เด็กในชนบท เด็กพิการ เด็กชาติพันธุ์ และเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพหลายหมื่นคนและยังไม่สามารถบรรลุพันธกิจที่ว่า “จะต้องไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” ซึ่งสะท้อนอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
การเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้หันมามองว่า การเพิ่มการลงทุนในเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยไม่ว่าใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ควรให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก 5 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก การขยายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้ครอบคลุมเด็กทุกคน โครงการนี้ริเริ่มเมื่อปี 2558 ซึ่งปัจจุบันให้เงินอุดหนุนแก่เด็กในครอบครัวที่ยากจนตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี คนละ 600 บาทต่อเดือน จนถึงปัจจุบันมีครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนไปแล้วราว 5 แสนครอบครัว การประเมินผลโครงการล่าสุด พบว่า เงินอุดหนุนมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับโภชนาการและการเลี้ยงดูที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็น และยังช่วยส่งเสริมศักยภาพของแม่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่า มีเด็กยากจนถึงร้อยละ 30 ที่ยังคงตกหล่นและไม่ได้รับเงินอุดหนุน ในความเป็นจริงการคัดกรองผู้มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนโดยยึดจากรายได้มักมีความคลาดเคลื่อนสูงและนำไปสู่การตกหล่น ดังนั้น วิธีแก้ไขปัญหาการตกหล่นที่ดีที่สุด คือ การขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมเด็กทุกคน ไม่เพียงเฉพาะเด็กยากจน และควรขยายให้ครอบคลุมเด็กจนอายุครบ 6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิต ทั้งนี้ งบประมาณสำหรับโครงการนี้ถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลจะจัดสรรได้ และจะลดลงในระยะยาวเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง โดยคาดว่า ภายในปี 2573 จะมีสัดส่วนคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.09 ของจีดีพีเท่านั้น
ประการที่สอง การจัดให้มีระบบการดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีที่มีคุณภาพและทั่วถึง ปัจจุบัน เด็กปฐมวัยจำนวนมากยังขาดการกระตุ้นพัฒนาการและการดูแลอย่างเต็มที่ หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญคือ การขาดสถานดูแลเด็กเล็กที่ราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน (เมื่อแม่ต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด) จนถึง 3 ปี (ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เด็กเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) รวมถึงพ่อแม่จำนวนมากต้องย้ายถิ่นเพื่อไปทำงาน ส่งผลให้โอกาสที่เด็กจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่จากพ่อแม่ลดน้อยลง นี่เป็นปัญหาที่มักเกิดกับครอบครัวยากจน และเป็นเรื่องท้าทายว่าพ่อแม่เหล่านี้จะสามารถดูแลลูกเล็กให้มีพัฒนาการสูงสุดในข้อจำกัดเหล่านี้ได้อย่างไร ข้อเสนอของยูนิเซฟ คือ การเพิ่มการลงทุนและสนับสนุนให้มีการจัดบริการสำหรับเด็กอายุ 3 เดือนจนถึงอายุ 3 ปี ที่ได้มาตรฐานและมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงซึ่งเอื้อให้ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงได้ โดยบริการดังกล่าวอาจดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้

ประการที่สาม การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียน มีการประมาณการว่า ร้อยละ 65 ของเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา จะเรียนจบและเข้าสู่ตลาดงานใหม่ที่ยังไม่มีในปัจจุบัน แม้ทักษะการคิดเลขและการอ่านออกเขียนได้ยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเรียนรู้ทุกแขนง แต่เด็กนักเรียนในวันนี้จำเป็นต้องมีทักษะสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะในการปรับตัว การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเอาตัวรอดได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยต้องสนับสนุนให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแแนวทางใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน รวมถึงได้รับการสนับสนุนให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนและสร้างสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนที่เอื้อให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาทักษะเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านโครงงาน การวิจัยและการวิเคราะห์ และการฝึกฝนเพื่อการแก้ไขปัญหา
ประการที่สี่ พัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพในการคุ้มครองเด็กอย่างเป็นระบบในระดับท้องถิ่น ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (One Stop Service Crisis Center - OSCC) ชี้ว่าในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาพยาบาลเนื่องจากถูกกระทำรุนแรง โดยส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงทางเพศ โดยคาดว่ายังมีเหตุการณ์เหล่านี้อีกจำนวนมากที่ไม่มีการรายงาน เนื่องจากกลไกในการระบุตัวเด็กและระบบติดตามยังคงขาดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริการคุ้มครองเด็กที่มีอยู่ในปัจจุบันยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในระดับจังหวัด ในขณะที่ความรุนแรงและการล่วงละเมิดเด็กมักเกิดขึ้นในระดับตำบลหรือในหมู่บ้านที่ยังขาดกลไกการเฝ้าระวังและการตอบสนองที่เหมาะสม ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบการคุ้มครองเด็กอย่างเร่งด่วน พร้อมกับพัฒนาองค์ความรู้และสร้างศักยภาพในระดับหมู่บ้าน ซึ่งอาจทำได้โดยการเพิ่มจำนวนนักสังคมสงเคราะห์หรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นทั้งผู้นำและผู้ประสานงานให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กในแต่ละพื้นที่
ประการสุดท้าย พัฒนาทักษะให้กับเยาวชนเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ประเทศไทยมีเยาวชนที่อายุระหว่าง 10-24 ปีราว 12 ล้านคน ที่กำลังจะกลายเป็นผู้นำสังคมในอนาคต เยาวชนเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่ขาดโอกาส ปัจจุบันยังมีเยาวชนวัย 15-17 ปีในประเทศไทย ถึง 1 ใน 4 คน ที่ไม่ได้เข้าเรียน และเยาวชนวัย 15-24 ปีถึงร้อยละ 15 ไม่ได้อยู่ทั้งในระบบการศึกษา การฝึกอบรมหรือการจ้างงานใด ๆ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนให้เยาวชนเหล่านี้ได้เข้าถึงการพัฒนาทักษะ โดยอาจดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา การเพิ่มงบประมาณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาชีวศึกษาด้วยเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือ การเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่
เมื่อมองไปข้างหน้า ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนที่มากขึ้นจากปัจจัย อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการลงทุนในเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวเพื่อเอาชนะกับอุปสรรคต่าง ๆ ในวันพรุ่งนี้
บทความนี้เป็น 1 ใน 5 บทความขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อนำเสนอประเด็นหลัก 5 ด้านที่สำคัญต่อการลงทุนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมของประเทศไทยต่อไป
บทความอื่นๆ ในซีรี่ส์นี้
ลดช่องว่างการดูแลเด็กปฐมวัยเพื่อเด็กไทยทุกคน
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศไทยในวันนี้ คือภาระในอนาคตเมื่อเด็กกลุ่มนั้นเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน เด็กเหล่านี้จะต้องแบกรับภาระของคนสูงอายุมากขึ้นเพราะประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged-Society) โดยประมาณการในอนาคตจะมีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คน ต่อคนวัยทำงานถึง 1.7 คน เทียบกับใน 9 ปีที่แล้วที่มีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คนต่อคนวัยทำงานถึง 5 คนด้วยกัน
การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21
คำว่า “การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21” ย้ำให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยไม่ใช่แค่การปฏิรูปเพียงครั้งคราว แต่ต้องเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน
ความรุนแรงต่อเด็กเป็นสิ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้าย โดยส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หนำซ้ำตัวเลขนี้อาจเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เนื่องจากกรณีที่เรารับทราบก็มักเป็นกรณีที่รุนแรงมาก ๆ เท่านั้น
พัฒนาเยาวชนให้พร้อมรับมือกับอนาคตได้อย่างมั่นใจ
เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญคือการพัฒนาเยาวชนให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำที่จะพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ