ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน
เด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึงบริการด้านการคุ้มครองเด็ก

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
ความรุนแรงต่อเด็กเป็นสิ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้าย โดยส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หนำซ้ำตัวเลขนี้อาจเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เนื่องจากกรณีที่เรารับทราบก็มักเป็นกรณีที่รุนแรงมาก ๆ เท่านั้น นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงปี 2558-2559 ชี้ว่า ร้อยละ 4.2 ของเด็กอายุ 1-14 ปี เคยถูกลงโทษอย่างรุนแรงที่บ้านในช่วงเดือนก่อนการสำรวจ ซึ่งมีทั้งการถูกตบหรือตีที่ใบหน้า ศีรษะ หู หรือถูกตีซ้ำ ๆ อย่างสุดแรง และถ้าเทียบกับจำนวนประชากรเด็กในวัยนี้ จะเท่ากับว่า มีเด็กถูกทำร้ายถึง 470,000 คน
ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานด้านคุ้มครองเด็กในหลายด้าน เช่น การจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Centre) ในระดับจังหวัดและอำเภอ และจัดตั้งบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัดเพื่อให้การดูแลรักษาและช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางรวมทั้งเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง อีกทั้งยังจัดให้มีบริการสายด่วน 1300 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนทุกปัญหาสังคมรวมทั้งการกระทำรุนแรงต่อเด็ก
อย่างไรก็ตาม เด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึงบริการด้านการคุ้มครองเด็กดังกล่าว เนื่องจากบริการเหล่านั้นมักตั้งอยู่ในระดับจังหวัด แต่เหตุการณ์รุนแรงหรือการล่วงละเมิดต่อเด็ก ๆ ส่วนใหญ่กลับเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นหรือระดับหมู่บ้าน ซึ่งแทบไม่มีนักสังคมสงเคราะห์หรือเจ้าหน้าที่ด้านการคุ้มครองเด็กที่ประจำอยู่เลย ทำให้ไม่มีกลไกในการระบุตัวเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางหรือเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง รวมถึงไม่มีกลไกในการส่งตัวเด็กให้เข้ารับบริการในระดับจังหวัดที่เหมาะสมต่อไป

แม้งานด้านคุ้มครองเด็กถือเป็นงานที่ค่อนข้างซับซ้อนและต้องลงทุนในทรัพยากรทั้งด้านบุคลากรและเงินทุนในการดำเนินงาน แต่หน่วยงานท้องถิ่นกลับไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กเป็นลำดับต้น ๆ และมักจัดสรรทรัพยากรไปกับเรื่องอื่น ๆ ก่อน ทั้ง ๆ ที่งานวิจัยต่าง ๆ จะชี้ชัดว่า ความรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กตลอดชีวิต
ปัจจุบัน อัตราส่วนของนักสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยคือราว ๆ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 207 คน หรืออังกฤษซึ่งมี 137 คนต่อประชากร 100,000 คน ในระดับท้องถิ่น คาดว่ามีการขาดแคลนนักสังคมสงเคราะห์ราว ๆ 7,000 คน ซึ่งการขาดแคลนนักวิชาชีพเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองเด็กที่มีประสิทธิภาพ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้เด็กต้องถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนจะเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสม หรือไม่ก็อาจตกหล่นในกระบวนการส่งต่อ
คำถามที่สำคัญ คือ เราต้องทำอย่างไรเพื่อให้แต่ละท้องถิ่นมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวที่เปราะบางหรือถูกกระทำรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ผ่านการเฝ้าระวัง การระบุตัวเด็ก หรือการส่งต่อเด็กไปรับบริการในระดับจังหวัด ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ความท้าทายเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ประสบอยู่
การแก้ไขปัญหามีอยู่สองแนวทาง ที่อาจจะเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทำควบคู่กันก็ได้ แนวทางแรกคือ จัดให้มีนักสังคมสงเคราะห์ประจำอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือมอบหมายบทบาทและความรับผิดชอบงานด้านคุ้มครองเด็กให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องได้รับการฝึกอบรมให้สามารถประสานงานกับเครือข่ายและอาสาสมัครเพื่อระบุตัวเด็ก ตลอดจนสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนสามารถส่งต่อเด็กไปยังบริการระดับจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
แนวทางที่สองคือ มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานในภาคประชาสังคม เช่นเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ ให้ทำหน้าที่นี้แทน โดยรัฐต้องให้ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้มี “อำนาจหน้าที่” ในการคุ้มครองเด็ก เพื่อเอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงตัวเด็กที่อยู่ในระดับท้องถิ่นได้
นอกจากนี้ การปรับปรุงคุณภาพของบริการด้านคุ้มครองเด็ก รวมทั้งการติดตามและประเมินผลก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยการระบุตัวเด็ก การส่งต่อ การดูแลและการให้คำปรึกษาจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ที่ถูกกระทำรุนแรงได้รับการฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจและกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ โดยไม่มีเด็กคนใดต้องตกหล่นระหว่างกระบวนการคุ้มครองเด็กนี้
ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในทุกขั้นตอนของกระบวนการคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพบริการ การจัดให้มีกลไกคุ้มครองเด็กในระดับท้องถิ่น หรือการจ้างและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านนี้มากขึ้น แนวทางดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมสุขภาวะให้แก่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการรับรองว่าเด็กและคนหนุ่มสาวในประเทศไทยมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการความรุนแรง การล่วงละเมิด การแสวงประโยชน์ การทอดทิ้ง ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างแท้จริง
บทความนี้เป็น 1 ใน 5 บทความขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อนำเสนอประเด็นหลัก 5 ด้านที่สำคัญต่อการลงทุนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมของประเทศไทยต่อไป
More stories in this series
ลดช่องว่างการดูแลเด็กปฐมวัยเพื่อเด็กไทยทุกคน
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศไทยในวันนี้ คือภาระในอนาคตเมื่อเด็กกลุ่มนั้นเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน เด็กเหล่านี้จะต้องแบกรับภาระของคนสูงอายุมากขึ้นเพราะประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged-Society) โดยประมาณการในอนาคตจะมีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คน ต่อคนวัยทำงานถึง 1.7 คน เทียบกับใน 9 ปีที่แล้วที่มีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คนต่อคนวัยทำงานถึง 5 คนด้วยกัน
การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21
คำว่า “การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21” ย้ำให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยไม่ใช่แค่การปฏิรูปเพียงครั้งคราว แต่ต้องเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
พัฒนาเยาวชนให้พร้อมรับมือกับอนาคตได้อย่างมั่นใจ
เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญคือการพัฒนาเยาวชนให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำที่จะพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ
นโยบายห้าประการด้านเด็กและเยาวชนที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ
ยูนิเซฟเชื่อว่าการโฟกัสไปที่ห้าแผนปฏิบัติสำคัญเพื่อเด็ก จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างขึ้น เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรจะพิจารณา เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานเพื่อเด็กทุกคนในประเทศไทย
You can start taking action here
