เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็กอพยพย้ายถิ่นฐาน หรือเด็กลี้ภัยในเขตเมืองเป็นกลุ่มคนที่มักถูกมองข้ามหรือถูกลืม แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนและเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ จะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพ ในการรณรงค์เรื่องสิทธิของพวกเขาในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมพลังการขับเคลื่อนให้กับเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็กอพยพย้ายถิ่นฐาน และ เด็กผู้ลี้ภัยในเมืองจำนวน 19 คน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากองค์กรพันธมิตร เช่น มูลนิธิวันสกาย มูลนิธิโฮสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โครงการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลของเด็กผู้ลี้ภัย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย อาสาสมัครชุมชนสะพานใหม่ และองค์กรพันธมิตรการคุมขังระหว่างประเทศ (International Detention Coalition) จำนวน 12 คน ร่วมเรียนรู้ไปกับเด็กและเยาวชน โดยกิจกรรมตลอดสองวันช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิทธิพื้นฐาน และกลไกการคุ้มครองสิทธิในชีวิตประจำวัน
เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมักถูกกีดกันและเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล และการคุ้มครองทางสังคม ด้วยข้อจำกัดด้านสถานะทางกฎหมายทำให้เด็กที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างจำกัด การเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏฺบัติการในครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคน เด็กไร้สัญชาติบางคนต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่จากทางอำเภอและเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองต้องได้รับการปล่อยตัวจากห้องกักชั่วคราวตามบันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ นี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กไม่ควรถูกกักขัง และการกักขังจะเป็นทางเลือกสุดท้าย และต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โมนิ (นามสมมติ) อายุ 16 ปีอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองในประเทศไทยหลังลี้ภัยจากกัมพูชาเนื่องจากกลัวจะได้รับโทษประหารกล่าวว่า “เด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยในเมืองอย่างฉันเคยคิดเสมอว่าพวกเราทำได้แค่ยอมรับสภาพ ไม่มีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญา ไม่มีบัตรประจำตัวเหมือนคนอื่น ๆ แต่เมื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ทำให้เราได้รู้ว่าเด็กทุกคน แม้แต่เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอย่างฉันและเพื่อน ๆ ก็มีสิทธิที่จะเรียนหนังสือและได้รับสถานะทางกฏหมาย”

โมนิและเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมและการเปิดรับมุมมองที่แตกต่าง พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นและนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ผ่านการวาดรูป การแสดง การเล่นการ์ดเกมต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำแผนที่ชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก และการพัฒนาชุมชนของตนเอง ซึ่งแผนที่นี้ยังชี้ให้เห็นโอกาสและแหล่งทรัพยากรที่มีประโยชน์ในชุมชน
เด็กผู้ลี้ภัยในเมืองวัย 15 ปีจากเวียดนามกล่าวว่า “ตอนแรก ๆ ผมรู้สึกกังวลและอายเพราะว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนจากนอกชุมชน แต่ตอนนี้ผมสามารถแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นรวมถึงแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนใหม่ได้อย่างมั่นใจ”

เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ อันทรงพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน และสามารถนำเสนอแผนงานที่สามารถนำไปดำเนินการในชุมชนในช่วงท้ายของงานประชุม เด็กหลายคนตื่นเต้นที่จะได้ช่วยให้เพื่อน ๆ เรียนรู้ถึงสิทธิของตนเอง เด็กบางคนก็เริ่มวางแผนจัดวันเก็บขยะในชุมชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือ พวกเขาเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองที่จะร่วมขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงชุมชนของตนให้ดีขึ้น
ยูนิเซฟและองค์กรพันธมิตรจะสานต่อการทำงานกับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการอพยโยกย้ายถิ่นฐาน ด้วยการ รับฟังเรื่องราวและประสบการณ์ที่ผ่านมาของพวกเขาก่อนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมายูนิเซฟร่วมกับสหภาพยุโรป กรมกิจการเด็กและเยาวชน องค์กรพันธมิตรการคุมขังระหว่างประเทศ และองค์การแตร์เดซอมเยอรมันนี (Terre des Hommes Germany) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน โดยมีเด็ก ๆ ไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็กอพยพ เด็กลี้ภัยในเมืองกว่า 170 คน เข้าร่วม และได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของเด็กในบริบทของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน
การส่งเสริมสิทธิของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐานถือเป็นหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญ ดังนั้นในปีนี้ยูนิเซฟจึงได้จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก และนโยบายคุ้มครองเด็กให้กับบุคคลกรงานด้านสังคม ด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการปกป้องและคุ้มครองเด็ก ๆ ซึ่งมาจากภาคประชาสังคม จำนวน 140 คน โดยจัดอบรมร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน ยูเอ็นเอชซีอาร์ และไอโอเอ็มในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ให้กับเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจำนวน 88 คน นอกจากนี้ยูนิเซฟและกรมกิจการเด็กและเยาวชนยังได้จัดทำอบรมคู่มือปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน สำหรับนักสังคมสงเคราะห์ ให้กับให้นักสังคมสงเคราะห์กว่า 171 คน และร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 75 คนเกี่ยวกับกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่เป็นมิตรและคุ้มครองเด็ก
ยูนิเซฟได้ทำงานเพื่อแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติมาเป็นเวลายาวนานและได้สนับสนุนเด็กประมาณ 32,000 คนให้เข้าสู่กระบวนการและได้รับสถานะทางกฎหมายและสัญชาติไทยผ่านห้องทะเบียนเคลื่อนที่ในโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและด้วยความร่วมมือกับ โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ (SCPP) และองค์การแตร์เดซอมเยอรมันนี นอกจากนี้ยูนิเซฟได้ร่วมมือกับยูเอ็นเอชซีอาร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดทำหลักสูตรไร้รัฐไร้สัญชาติออนไลน์ สำหรับบุคคลทั่วไป กลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานกับบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงผู้ที่เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติเอง
สามารถดูข้อมูลในเอกสารเผยแพร่ฉบับตีพิมพ์ล่าสุดของยูนิเซฟ เพื่อเรียนรู้และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน