เรียนรู้และเติบโตผ่านการเล่น

หนังสือ ของเล่น และสื่อการเรียนรู้ในกล่องมหัศจรรย์จากยูนิเซฟจะช่วยให้เด็กเล็กจากครอบครัวยากจนได้เรียนรู้ที่บ้าน

สิรินยา วัฒนสุขชัย
คุณแม่พร้อมลูกชายและลูกสาวของเธอกำลังนั่งอยู่ด้วยกัน โดยมีของเล่นและหนังสือสำหรับเด็กที่ได้จากกล่องมหัศจรรย์ของยูนิเซฟวางอยู่ด้านหน้า
UNICEF Thailand/2021/Bundit Chotesuwan
24 พฤษภาคม 2021

“ผมชอบเล่น” แท่พูดพร้อมกับยิ้มกว้างพลางเล่นตัวต่อไม้ไปด้วย อากาศร้อนอบอ้าวไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเด็กชายที่กำลังง่วนอยู่กับภารกิจของเล่นตรงหน้า

หลังจากพยายามลองผิดลองถูกอยู่สักพัก แท่ก็จัดการต่อตัวต่อไม้รูปสิงสาราสัตว์ลงกรอบสี่เหลี่ยมได้สำเร็จ แม้ว่าเขายังไม่รู้จักชื่อสัตว์ทั้งหมดบนของเล่นชิ้นใหม่แต่เด็กชายก็บอกสีบนตัวต่อไม้แต่ละชิ้นเป็นภาษามอญ ซึ่งเป็นภาษาแม่ของเขาได้อย่างคล่องแคล่ว

“ที่โรงเรียนมีแต่สอนให้ท่องจำ” แท่เล่าถึงวิชาเรียนที่เคยเรียนในเมียนมาร์ก่อนย้ายมาที่ชุมชนชั่วคราวแห่งนี้ในจังหวัดสมุทรสาครกับพ่อแม่ของเขา ระหว่างที่พ่อแม่ไปทำงาน เวลาของแท่แต่ละวันในหมู่บ้านหมดไปกับการเล่นกับลูกพี่ลูกน้องที่บ้านป้าตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน แท่พูดคุยเป็นภาษามอญแบบอายๆ โดยให้ล่ามที่เป็นอาสาสมัครจากศูนย์ประสานงานสมาคมพราวช่วยแปล

คน โบ่ ป้าของแท่เอ็นดูความไร้เดียงสาของหลานตัวเองจนกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่พร้อมกับเล่าว่า เด็กชายไม่เคยชอบไปโรงเรียนเลยตั้งแต่ไหนแต่ไรที่อยู่เมียนมาร์ “เรามักเจอเขานั่งตกปลาอยู่ตามบึงใกล้บ้าน หรือไม่ก็ไปวิ่งเล่นในทุ่งกับเด็กแถวบ้านแทนที่จะอยู่ที่โรงเรียน”

คน โบ่ อายุ 39 ปี ยอมรับว่าแท่ไม่มีโอกาสได้กลับไปเรียนเพราะครอบครัวต้องย้ายที่อยู่ในเมืองไทยไปเรื่อย ๆ จนเขาเรียนไม่ทันเพื่อน เขาจึงหาสิ่งรอบ ๆ ตัวใกล้บ้านในตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางใต้ประมาณ 70 กิโลเมตร

คุณแม่กำลังเล่นของเล่นกับลูก ๆ ทั้งสองคนของเธอ
UNICEF Thailand/2021/Bundit Chotsuwan

ชุมชนชั่วคราวที่แท่พักอาศัยอยู่กับญาติ ๆ ประกอบด้วยกระท่อมยกใต้ถุนหลายสิบหลัง แต่ละหลังสร้างแบบเรียบง่าย หลังคาและกำแพงทำจากใบจาก ส่วนพื้นเป็นไม้ไผ่ ขนาดไม่เกิน 20 ตารางเมตร ทำให้สะดวกแก่การรื้อและย้ายบ้านเพื่อไปรับงานที่ใหม่ได้หากจำเป็น ทรัพย์สินที่มีมูลค่าของแต่ละครอบครัวมีเพียงพัดลมและมอเตอร์ไซค์ที่เอาไว้สัญจรไปทำงาน ด้วยสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นเด็ก ๆ ละแวกนี้รวมถึงลูกชายวัยสี่ขวบของ คน โบ่ จะนอนเล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือของแม่ช่วงเวลาเข้านอนตอนบ่าย

ยังมีเด็กแบบแท่อีกไม่น้อยที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไร้ซึ่งโอกาสทางการศึกษาในระบบ เพราะอาชีพพ่อแม่ไม่มั่นคงและต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ยิ่งซ้ำเติมให้เด็กจากครอบครัวยากจนจำนวนมากตกอยู่ในสภาพเดียวกัน พวกเขาต้องติดอยู่กับบ้านและส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่าตายายที่ไม่มีสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ส่งผลให้พัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคมในกลุ่มเด็กจากครอบครัวเปราะบางต้องสะดุดเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เด็กชายกำลังยิ้มอย่างดีใจ หลังจากได้รับของเล่นจากกล่องมหัศจรรย์ซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟ
UNICEF Thailand/2021/Bundit Chotsuwan

“เขาเล่นเกมและของเล่นพวกนี้บ่อยขึ้น” คน โบ่ เล่าพลางชี้ไปที่กล่องมหัศจรรย์ แท่และลูกพี่ลูกน้องของเขาต่างได้รับกล่องมหัศจรรย์จากยูนิเซฟคนละกล่องในช่วงล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาครเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คน โบ่ เชื่อว่าการอ่านหนังสือและการเล่นของเล่นกับเด็ก ๆ วันละสองครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงจะช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาการตามช่วงวัยด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่อยู่บ้าน

กล่องมหัศจรรย์แต่ละกล่องจะบรรจุหนังสือ ของเล่น สื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ และคู่มือแนะนำพ่อแม่สำหรับเป็นแนวทางการทำกิจกรรมร่วมกับลูกเมื่ออยู่บ้าน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการวัยเด็ก กล่องมหัศจรรย์เหล่านี้ถูกแจกจ่ายให้กับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบในชุมชนชาวไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านภายในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดระลอกสอง

ภาคภูมิ แสวงคำ นายกสมาคมพราว เล่าว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแรงงานไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในตลาดทันทีประมาณ 4,000 คน

คุณแม่กำลังกระเตงลูกน้อยอยู่ในแขนข้างซ้ายของเธอ ในขณะที่กำลังขนกล่องมหัศจรรย์ซึ่งได้รับจากยูนิเซฟกลับบ้าน
UNICEF Thailand/2021/Bundit Chotsuwan

การระบาดระลอกสองไม่เพียงทำให้คนจำนวนมากตกงานและการค้าขายในท้องถิ่นหยุดชะงักเป็นครั้งที่สอง แต่ยังทำให้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งเป็นสถานที่พึ่งพาด้านพัฒนาการเรียนรู้และโภชนาการอาหารต้องปิดการเรียนการสอนด้วยเช่นกัน
“ของเล่นและหนังสือ [ในกล่องมหัศจรรย์] เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับพ่อแม่ [แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน] จำนวนมาก เพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อหาให้ลูกเองได้” ภาคภูมิเล่า

นางคิม คยองซัน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทยกล่าวว่า ช่วง 6 ขวบปีแรก เป็นช่วงวัยสำคัญที่สุด และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะสมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว การหยุดชะงักการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้และกระตุ้นพัฒนาการผ่านการเล่นในช่วงวัยนี้จึงส่งผลเสียต่อพัฒนาของเด็กในระยะยาว

การปิดโรงเรียนที่ยาวนานขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถด้านเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวเปราะบางที่จะถูกกีดกันห่างออกไปกว่าเดิม

“เราจึงมีความคิดที่จะแจกกล่องมหัศจรรย์ เพื่อช่วยครอบครัวที่ขาดสื่อเสริมพัฒนาการ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้พ่อแม่ใช้เวลาเล่นและอ่านนิทานให้เด็ก ๆ ฟังที่บ้าน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และพัฒนาการเด็กได้อย่างต่อเนื่องในช่วงวัยสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา” นางคิม กล่าว

ขิ่น มา อู คุณแม่เชื้อสายมอญวัย 37 ปีจากประเทศเมียนมาร์ อาศัยอยู่ในชุมชนชั่วคราวตรงข้ามชุมชนของคน โบ่ ทั้งสองครอบครัวมีสภาพความเป็นอยู่และความแร้นแค้นไม่ต่างกันนัก

เด็กหญิงกำลังเล่นกับลูกบอลหลากสี ซึ่งเธอได้รับจากกล่องมหัศจรรย์ โดยมีคุณแม่และน้องชายนั่งอยู่ด้านหลัง
UNICEF Thailand/2021/Bundit Chotsuwan

ขิ่น มา อู และสามีมีลูกสาววัย 6 ขวบและลูกชายวัย 1 ขวบ ทำงานในไร่และพักอาศัยอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทยมาเกือบทศวรรษ โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวนี้ลดลง เหลือเพียงวันละ 400 บาทจากการทำงานในไร่ของพ่อเพียงคนเดียวเท่านั้น

ก่อนหน้านี้พวกเขาวางแผนจะส่งเด็ก ๆ กลับไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่เมียนมาร์ แต่ต้องหยุดชะงักลงเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตั้งแต่ปีกลาย พวกเขาจึงต้องเลี้ยงลูกในเมืองไทยด้วยทรัพยากรที่จำกัดและรายได้ที่ไม่แน่นอน   เมื่อผนวกกับความรู้เพียงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่สองจากเมียนมาร์ของ ขิ่น มา อู ผู้เป็นแม่ ยิ่งทำให้การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกที่บ้านยิ่งเป็นไปได้ยาก 

“ลูกไม่เคยมีของเล่นหรือสมุดระบายสีมาก่อน จะมีก็เพียงตุ๊กตา” ขิ่น มา อูพูดถึง มิ ดง โท ลูกสาวที่ไม่ยอมแยกตัวจากของเล่นและหนังสือจากกล่องมหัศจรรย์

มิ ดง โท จะไปเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเจ็ดริ้วเทอมหน้า และแม่ของเธอก็หวังว่าสื่อส่งเสริมการเรียนรู้เหล่านี้จะช่วยให้ลูกสาวไล่ตามเพื่อนร่วมชั้นได้ทันถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่นไปบ้าง

“ฉันหวังว่าตัวต่อไม้จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องสีและรูปทรง และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้บ้าง” ขิ่น มา อู พูดถึงความคาดหวังจากกล่องมหัศจรรย์ที่จะมีต่ออนาคตของลูกสาว