เป็นได้ดั่งใจฝันด้วยการอ่าน
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อการอ่านออกเขียนได้ของเด็กในประเทศไทย

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
การอ่าน: สะพานสู่ความสำเร็จทางการเรียนรู้
การอ่าน: สะพานสู่โอกาสในการมีงานทำที่มีความหมาย
การอ่าน: สะพานสู่ความฝัน
และโครงการ “เด็กทุกคนอ่านได้”
คือ สะพานสู่การอ่านของเด็กทุกคน
การอ่าน คือสะพานไปสู่ความสำเร็จทางการเรียนรู้ เพราะการอ่านช่วยจัดระเบียบความคิด เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการตั้งคำถาม รวมถึงการหาคำตอบด้วยตนเอง ทักษะที่ได้จากการอ่านเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ตลอดชีวิต จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า การอ่านคือพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น ทักษะการอ่านและทำความเข้าใจข้อความจึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตขึ้นมาตามเส้นทางที่พวกเขาใฝ่ฝันและได้ทำงานที่มีความหมายอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
เด็กทุกคนอ่านได้

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) จึงมีความตั้งใจที่จะจุดประกายนิสัยรักการอ่านและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้แก่เด็กทุกคนในประเทศไทย ผ่านโครงการ “เด็กทุกคนอ่านได้” ที่เปิดโอกาสให้เด็กในประเทศไทยสามารถร่วมกิจกรรมการอ่านตามความสนใจและตามศักยภาพของช่วงวัย พร้อมพัฒนาทักษะด้านการอ่านอย่างสนุกสนานในโรงเรียน โดยในปี 2565 นี้ได้เข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการ
กิจกรรมสร้างสรรค์กว่าร้อยรูปแบบภายใต้แนวคิด “อ่านสัปดาห์ละเล่ม” เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศน์ และคณะคุณครูจากกว่า 126 โรงเรียน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศไทย (อุดรธานี เชียงใหม่ อยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม กรุงเทพ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา จันทบุรี ตราด ตาก และสตูล) และในปีนี้เป็นปีแรกที่ยูนิเซฟสร้างสะพานแห่งความร่วมมือไปสู่เยาวชนไทยทั่วประเทศที่ต้องการเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันโครงการ “เด็กทุกคนอ่านได้” เยาวชนไทยในนามอาสาสมัครยูนิเซฟจำนวน 32 คน ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เคียงข้างเจ้าหน้าที่ยูนิเซฟและบุคลากรทางการศึกษาในฐานะ อาสาผู้นำกิจกรรมออนไลน์ และ อาสานักเขียนในพื้นที่เพื่อสร้างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนรู้สึกรักและสนุกไปกับการอ่านอย่างเต็มศักยภาพและไร้ซึ่งขีดจำกัดของจินตนาการ
อ่านสัปดาห์ละเล่มในโรงเรียน

“เด็กทุกคนอ่านได้” ถือเป็นเป้าหมายยิ่งใหญ่ที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการ “อ่านสัปดาห์ละเล่ม” ในโรงเรียน คุณครูจากทั้ง 126 โรงเรียนต่างมีวิธีการออกแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์แตกต่างกันไปตามความสนใจ และความเหมาะสมตามวัยของนักเรียน เมื่อมีกิจกรรม อ่านสัปดาห์ละเล่มเข้ามา นอกจากทำให้ห้องสมุดของโรงเรียนกลับมาคึกคัก ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและน่ารักระหว่างคุณครู นักเรียนรุ่นพี่ และนักเรียนรุ่นน้อง ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น กิจกรรม “วางทุกงาน อ่านทุกวัน” ทำให้คุณครูได้มีเวลาพักจากการตรวจการบ้านกองโต ชั่วโมงแห่งการอ่านนี้สนับสนุนให้คุณครูได้ “วางทุกงาน” เพื่อที่จะได้มา “อ่านทุกวัน” กับนักเรียนของตน บางโรงเรียนจัดกิจกรรมการอ่านในช่วงพักกลางวัน พอคุณครูทานอาหารกลางวันเสร็จก็ผลัดเวรกันมารอนักเรียนที่ห้องสมุดอย่างกระตือรือร้นเพื่อเล่านิทานให้กับนักเรียนวัยประถมที่ตั้งหน้าตั้งตามารอฟังคุณครูอย่างใจจดใจจ่อ
“วันนี้นักเรียนชนะแล้วครับ ทุกคนชนะตัวเองในการเรียนรู้ เพราะวันแรก เด็ก ๆ ไม่อยากอ่านหนังสือกัน แต่วันนี้นักเรียนชนะแล้วครับ” คุณครูภณเอก ภัชรวาณิชสกุล จากโรงเรียนบูรพาพิทยาราม จังหวัดจันทบุรี พูดกับนักเรียนขณะทำกิจกรรม

อีกหนึ่งตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนในโรงเรียน ก็คือ กิจกรรม “พี่สอนน้อง” ที่ให้พี่วัยประถมปลายได้จัดกิจกรรมตอบปัญหาเชาว์กับน้อง ๆ ประถมต้น บางโรงเรียนมีการบูรณาการการอ่านเข้ากับการแสดงเพื่อเสริมสร้างความกล้าแสดงออกให้กับนักเรียนโดยจัดกิจกรรมการอ่านร่วมกับการแสดงละคร ให้พี่รุ่นโตเล่านิทานพร้อมการแสดงของนักเรียนรุ่นน้อง หรือรุ่นพี่แสดงหุ่นมือพร้อมการเล่านิทาน แล้วให้นักเรียนรุ่นน้องจดสิ่งที่ได้เรียนรู้ลงบันทึกการอ่าน กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้ส่งเสริมทักษะการอ่าน ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออก และที่สำคัญที่สุดคือช่วยสร้างสังคมที่เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว
ทุกคนคือนักสู้ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

กิจกรรมอ่านสัปดาห์ละเล่มจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดความร่วมแรงร่วมใจของบุคคลากรทางการศึกษาทุกคน ดังที่ ดร. อาร์ตี้ เซจิ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “บุคลากรทางการศึกษาทุกคนคือ นักสู้ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (The champion of change) ในการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กทุกคน” เพราะกิจกรรมอ่านสัปดาห์ละเล่มในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินหรือการอ่านเอาเนื้อหาต่างช่วยพัฒนาทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ที่ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ทำให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ผ่านชั่วโมงการอ่านในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยสร้างวินัยให้กับเด็กและทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านระดับชาติต่อไป ในปัจจุบันเด็กนักเรียนมากกว่า 75,000 คนทั่วประเทศได้เข้าร่วมโครงการเด็กทุกคนอ่านได้ผ่านมุมอ่านหนังสือในห้องเรียน ห้องสมุดเคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกล และผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ในโรงเรียนที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการรณรงค์การอ่านเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบออนไลน์
ออนไลน์ก็อ่านได้

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนถูกปิด กิจกรรมส่งเสริมการอ่านออนไลน์จึงเกิดขึ้นเพราะไม่ว่าอยู่ที่ไหนเด็ก ๆ ต้องสามารถอ่านหนังสือและเรียนรู้ได้ บ่ายวันเสาร์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาอาสาสมัครยูนิเซฟ 29 คน กับนักเรียน 72 คน จากโรงเรียนทั่วประเทศ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมอ่านสัปดาห์ละเล่มออนไลน์ โดยอาสาสมัครยูนิเซฟได้ปฏิบัติหน้าทีเป็นผู้นำกิจกรรมออนไลน์ชวนเด็ก ๆ พูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงหนังสือเล่มโปรด และไฮไลท์กิจกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กนักเรียนและอาสายูนิเซฟ ต้องยกให้ กิจกรรมแต่งอภิมหากาพย์วรรณกรรม โดยอาสาได้ขนตัวละครที่ตนเองชื่นชอบทั้งในและต่างประเทศ ทั้งจากวรรณกรรมและวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น เหล่าฮีโร่อเวนเจอร์ โดราเอมอน สโนไวท์ บาร์บี้ โคนัน ปิกาจู แฮร์รี่พอตเตอร์ ซูเปอร์แมน แบล็กพิงก์ พระอภัยมณี หนุมาน ทศกัณฑ์และตัวละครอื่น ๆ อีกมากมาย มาให้นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมใช้พลังความคิดสร้างสรรค์อย่างสุดความสามารถร่วมแต่งหนังสือนิทานเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีบนโลกมาก่อนด้วยกัน ไปอ่านตัวอย่างเนื้อเรื่องที่เด็ก ๆ ช่วยกันแต่งขึ้นจากจินตนาการล้ำสุดขอบฟ้าของเด็ก ๆ กันได้เลย
ณ ดินแดนปราสาทสายรุ้งอันไกลโพ้น ได้กำเนิดองค์หญิงขึ้นมา ทุกคนต่างตกใจว่าเจ้าหญิงเปลี่ยนไป กลายเป็นเอลฟ์ได้ไงก่อนนน แต่แล้วนางก็ถูกเนรเทศ และมีผู้ติดตามทั้ง 7 คือเหล่าอเวนเจอร์ทั้ง 6 กับสาวรับใช้นามว่าสโนไวท์ เมื่อโตขึ้นมานางเอลฟ์ก็พยายามเข้าไปเรียนในโรงเรียนเจ้าหญิง แล้วที่นั่นเองนางก็ได้พบกับโดราเอม่อน แล้วทั้งคู่ได้สะดุดหางของสกู๊ปปีดู! แล้วจุมพิศกัน ในเวลานั้นแสงระยิบระยับโปรยลงมา เจ้าหญิงแปลงร่างกายเป็นหญิงสาวเลอโฉมที่สามารถแร็ปและเต้นได้อย่างปัง และเมื่อเธอส่องกระจกก็พบว่า “นี่ฉันคือ ลิซ่า” แล้วผู้ติดตามทั้ง 7 ก็กลายเป็นคนแคระ พวกเขาจูงมือเจ้าชายแฮร์รี่มาพบกัน หลังจากจบการศึกษา ลิซ่าก็ได้รวมตัวกับจีซู เจนนี่ และโรเซ่ เกิดเป็น BlackPink in your area! แล้วได้ไปที่ปราสาทของเจ้าหญิงเพื่อทำการแสดงให้เหล่ารุ่นน้องดู!
ติดตามเรื่องราวแสนสนุกที่เด็ก ๆ แต่งต่อได้ ที่นี่

เสียงจากใจอาสา
หนึ่งในอาสาสมัครยูนิเซฟผู้นำกิจกรรมออนไลน์ ธัญสินี สุวรรณขำ (หมิว) ได้เล่าความรู้สึกขณะที่ได้ร่วมกิจกรรมอ่านสัปดาห์ละเล่มออนไลน์ว่า “หมิวรู้สึกยินดีที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อาสาในครั้งนี้จนอธิบายเป็นคำพูดไม่ถูก และได้เรียนรู้ว่า เด็กทุกคนมีความฝัน และเมื่อเด็ก ๆ ได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการในการแบ่งปันความชอบ ความคิดสร้างสรรค์ จึงทำให้เด็ก ๆ สามารถแสดงความเป็นตัวเองได้เต็มที่ เลยดีใจมาก ๆ ที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมความฝันเหล่านั้น” ระหว่างที่ทำกิจกรรม มีนักเรียนคนหนึ่งบอกหมิวว่า “ผมฝันอยากเป็นตำรวจ” หมิวเลยได้พูดส่งท้ายในช่วงสะท้อนความรู้สึกจากพี่อาสาสู่น้อง ๆ นักเรียนว่า
“ไม่ว่าจุดเริ่มต้นความฝันของเด็ก ๆ จะเป็นอย่างไร
ความฝันของน้องได้เริ่มขึ้นแล้ว
แล้วไม่ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
แต่การเดินตามความฝันของน้องได้เริ่มขึ้นแล้ว
เพราะหนังสือที่ดีจะพาเราไปเจอจุดหมาย
หรือ สิ่งที่ดีในอนาคตการอ่านหนังสือทำให้เรามีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
อยากให้น้อง ๆ อ่านหนังสือต่อไปเรื่อย ๆ”