โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน
เรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพใจตนเองได้ทุกวัน

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
Safe Zone คืออะไร ?
เซฟโซน (Safe Zone) คือ พื้นที่ปลอดภัยทางความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งอาจไม่ใช่แค่สถานที่ แต่เซฟโซนเป็นได้ทั้งผู้คน สิ่งของ งานอดิเรก หรือสัตว์เลี้ยง เป็นพื้นที่ให้เราผ่อนคลายในยามอ่อนล้าและอ่อนไหว และเป็นที่พักใจที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกใครตัดสิน
เซฟโซนจะทำให้เราได้คุยกับตัวเอง ได้ทบทวนความรู้สึกและอารมณ์ของเราเอง ถ้าเราอยู่ที่ไหน พูดคุยกับใคร ทำอะไรแล้วรู้สึกปลอดภัย พื้นที่ตรงนั้นคือเซฟโซนของเรา
มาร่วมค้นหาเซฟโซนโซฟใจในแบบเป็นของตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนค้นพบเซฟโซนของตัวเองได้
“เซฟโซนนี้มีไว้พักใจ”
ค้นหา Safe Zone ในแบบของคุณเอง

สุขภาพใจเป็นเรื่องที่ส่งผลกับทุกคน เป็นเรื่องปกติที่เราจะมีช่วงเวลาที่แจ่มใส และช่วงเวลาที่หมองหม่น ดังนั้นเราไม่ต้องอับอายในบางเวลาที่เรารู้สึกปวดใจ เครียด กังวล สับสน หรือเดียวดาว จำไว้เสมอว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ในบางครั้งที่รู้สึกถาโถมเกินรับไหว เราสามารถที่จะพิงไหล่ของเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่เราไว้ใจได้เสมอ การขอความช่วยเหลือไม่ได้แปลว่าเราเป็นภาระให้กับคนอื่น
แคมเปญ Every Day is Mind Day อยู่ตรงนี้เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนเข้าใจและรู้วิธีรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง สามารถขอความช่วยเหลือได้ และพูดคุยเรื่องปัญหาสุขภาพใจได้อย่างเปิดเผยดยไม่ถูกตีตรา เราพร้อมสนับสนุนเรื่องสุขภาพใจ ไม่ว่าคุณคือวัยรุ่นที่อยากเข้าใจจิตใจตนเอง และดูแลใจตนเองให้ดีขึ้น หรือคุณคือคุณครูที่อยากจะช่วยสนับสนุนสุขภาวะทางใจที่ดีของเด็กนักเรียน
ดาวน์โหลดคู่มือดูแลสุขภาพใจ
คู่มือสำหรับเยาวชน
ดาวน์โหลดคู่มือดูแลสุขภาพใจฉบับเยาวชน เพื่อเก็บเคล็ดลับดูแลตัวเองและส่งเสริมสุขภาพใจ รวมถึงวิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้พูดคุยบอกเล่าความรู้สึก เยียวยาหัวใจของกันและกัน ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย!
คู่มือสำหรับผู้ปกครอง
กำลังมองหาวิธีส่งเสริมสุขภาพใจสำหรับลูกหลานของคุณและตัวคุณเองอยู่ไหม คลิกเลย! ดาวน์โหลดคู่มือดูแลสุขภาพใจฉบับผู้ปกครอง มาเรียนรู้เทคนิคง่าย ๆ ที่ใช้ได้จริงเพื่อสุขภาพใจที่ดีของลูกหลาน และของตัวคุณเอง
คู่มือสำหรับครูผู้สอน
ครูคือบุคคลสำคัญที่ช่วยดูแลและเสริมสร้างสุขภาพใจที่ดีของนักเรียน คู่มือเล่มนี้มาพร้อมขั้นตอนและกิจกรรมง่าย ๆ ที่นำไปปรับใช้ได้ในชั้นเรียนให้เหมาะสมกับวัยและความสามารถของเด็กนักเรียนได้ เพื่อสุขภาพใจที่ดีของเด็กทุกคน
ปฏิทินความรู้สึก
พบกับปฏิทินความรู้สึก #EveryDayMindDay เครื่องมือที่ช่วยเช็คความรู้สึกของตัวคุณเอง และยังนำไปใช้ในกิจกรรมชั้นเรียนได้อีกด้วย เพียงบันทึกความรู้สึกของเราในแต่ละวัน และลองดูว่าทั้งเดือนนี้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง เราสามารถนำผลที่ได้ไปลองพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจได้ด้วยนะ และถ้าคุณคือคุณครูล่ะก็ คุณสามารถนำเสนอปฏิทินนี้ให้นักเรียนลองใช้ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในช่วงกิจกรรมโฮมรูมเพื่อเรียนรู้เรื่องสุขภาพใจจากผลบันทึกของกิจกรรมปฏิทินความรู้สึกไปพร้อม ๆ กัน
ช่องทางปรึกษาเรื่องสุขภาวะทางใจ
- สายด่วนสุขภาพจิต | 1323
- คลินิกสุขภาพจิตในโรงพยาบาลทั่วไป
- บริการรับฟังเรื่องสุขภาพจิต | www.satiapp.co
- ไลน์แชทปรึกษาสุขภาพจิตเบื้องต้น | @Khuikun
- แบบประเมินสุขภาพจิตตนเอง | www.วัดใจ.com
- เลิฟแคร์สเตชั่น ช่องทางเพื่อวัยรุ่น
- ปรึกษาออนไลน์ (16.00-24.00) | www.lovecarestation.com
- ไลน์แชท (12.00 – 20.00) | @LoveCareStation
- มูลนิธิสายเด็ก ช่องทางให้คำปรึกษาเพื่อเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี | www.childlinethailand.org
- โทรสายเด็ก 24 ชม. | 1387
- ไลน์แชท | @saidek1387
- แชทเมสแซนเจอร์ | http://m.me/childlinethailand
- เครื่องมือคัดกรองอาการสุขภาพจิต และอบรมความรู้สำหรับครู | learning.hero-app.in.th
งานของยูนิเซฟในด้านสุขภาวะทางใจ
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และเยาวชนในประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาวะทางใจ และประชาสัมพันธ์ช่องทางการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและบริการทางสุขภาพจิต
แอปพลิเคชัน HERO (Health and Educational Reintegrating Operation) เป็นแอปพลิเคชันนำร่องบนโทรศัพท์มือถือที่จัดทำร่วมกับสถาบันราชนครินทร์ เพื่อช่วยพัฒนาการคัดกรองอาการและระบบส่งต่อโดยประสานงานกับโรงเรียนและโรงพยาบาล และจัดอบรมครู โดยมีเป้าหมายครอบคลุมนักเรียนประมาณ 6 ล้านคนทั่วประเทศภายในปีพ.ศ. 2567
เลิฟแคร์สเตชัน เป็นห้องสนทนาออนไลน์ ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ให้บริการให้คำปรึกษาออนไลน์เพื่อเยาวชนโดยไม่ต้องระบุตัวตนและไม่มีค่าใช้จ่าย ในเรื่องสุขภาวะทางเพศและสุขภาวะทางใจ รวมถึงแนะนำช่องทางการรับบริการเฉพาะทาง ทางสุขภาพจิตโดยมีเยาวชนกว่า 30,000 คนที่ได้รับบริการปรึกษาออนไลน์ในปีพ.ศ. 2563
ในปี พ.ศ. 2563 The Sound of Happiness: ฟัง x เล่า = ความสุข จัดขึ้นร่วมกับกรมสุขภาพจิตและ จู๊กซ์ (JOOX) พร้อมด้วยศิลปินที่มีชื่อเสียงนำโดย แบมแบม เป๊ก ผลิตโชค และไบร์ทวิน ร่วมสนทนาทางพ็อดแคสต์ เปิดอกพูดคุยเรื่องอุปสรรคด้านสุขภาวะทางใจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตคอยให้คำแนะนำ ทั้งยังปรับมุมมองให้เด็กๆ สามารถพูดคุยเรื่องปัญหาสุขภาวะทางใจกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่ไว้ใจได้ เหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป ทั้งยังมีอัลบั้ม The Sound of Happiness ประกอบด้วย 6 บทเพลงโดยศิลปินแนวหน้า เช่น MILLI วง Blacksheep และ ATTA
และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบในวงกว้าง ยูนิเซฟทำการศึกษาเรื่องการสร้างระบบสนับสนุนสุขภาวะทางใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยการศึกษานี้จะช่วยให้แต่ละภาคส่วนสามารถพัฒนาศักยภาพและทรัพยากร รวมทั้งสนับสนุนบริการสังคมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะจิตสังคม สร้างมาตรการป้องกัน และบริการดูแลด้านสุขภาพจิต
เรียนรู้เพิ่มเติมถึงเคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางใจของเยาวชน โดยยูนิเซฟได้ที่นี่