“บางครั้งผมรู้สึกไร้ค่า ผมไม่รู้ว่าผมเกิดมาทำไม” อ้น อายุ 15 ปี กล่าว อ้นต้องทนทุกข์กับความเครียดอย่างหนักตั้งแต่เล็ก เริ่มจากความพิการที่ทำให้เขาเดินไม่ได้และเหนื่อยล้าง่าย สถานการณ์ครอบครัวอันยากลำบากที่ส่งผลให้แม่ทิ้งพ่อไปซึ่งยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง รวมถึงปัญหาการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนในปัจจุบันเนื่องจากเพศสภาพของเขา อ้นเล่าว่า “บางครั้งผมรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจผมเลย”
ความทุกข์และความรู้สึกแปลกแยกทำให้อ้นติดต่อมายัง Love Care Station แพลตฟอร์มให้บริการสุขภาพวัยรุ่นทางดิจิทัลที่เปิดตัวเมื่อปี 2558 โดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health Foundation – P2H) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ แพลตฟอร์มนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นและเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตด้านสุขภาพจิตของเยาวชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย โดยผลการศึกษาในปี 2564 พบว่า เยาวชนชายร้อยละ 11.3 และเยาวชนหญิงร้อยละ 23.1 ช่วงอายุระหว่าง 13-17 ปี เคยพยายามฆ่าตัวตายอย่างน้อยหนึ่งครั้งในหนึ่งปีที่ผ่านมา Love Care Station จึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยวัยรุ่นให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันแสนท้าทายนี้ โดยมีรูปแบบการทำงานที่โต้ตอบกับผู้ใช้ อย่างห้องแชตให้คำปรึกษา กลไกการส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ และการส่งข้อความที่ปรับให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
อ้นรู้สึกแตกต่างและแปลกแยกจากคนอื่นมาตลอดชีวิต แต่ความรู้สึกเหล่านี้รุนแรงมากขึ้นเมื่อเขาเริ่มถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน โดยมุ่งเป้าไปที่ความพิการและเพศสภาพของเขา เขาเริ่มกลัวว่าจะถูกคนที่กลั่นแกล้งทำร้ายร่างกายและเริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตนเองเข้ามาในหัว ซึ่งทำให้เขาเริ่มห่างเหินจากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เพราะเขารู้สึกว่าเขาทำให้เธอต้องมาโดนกลั่นแกล้งไปด้วย นอกจากนี้ เขายังไม่ได้รับกำลังใจจากแม่ โดยเฉพาะเมื่อเขาบอกว่าอยากไปบำบัด แต่แม่กลับบอกว่ามันเป็นความคิดที่ “ประหลาด”
ในช่วงที่อ้นดำดิ่งไปกับความเหงาและความสิ้นหวังอย่างหนัก เขาได้ติดต่อทีมงาน Love Care Station เป็นครั้งแรกผ่านห้องสนทนาในการให้คำปรึกษาแบบออนไลน์เพื่อขอความช่วยเหลือ เขาติดต่อทีมงานถึง 30 ครั้งเมื่อเขารู้สึกว่าความสิ้นหวังนั้นสาหัส ทีมงานได้รับฟังปัญหาของอ้นและพร้อมให้คำแนะนำที่นำไปใช้ได้จริง เช่น เทคนิคในการจัดการกับอารมณ์อย่างมีสติและการหายใจช้า ๆ
ทีมงาน Love Care Station ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพจิตและช่วยให้เขาได้รับการวินิจฉัยโรคย้ำคิดย้ำทำซึ่งช่วยทำให้เขาเข้าใจพฤติรรมของตนมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากทีมงาน อ้นสามารถอธิบายให้แม่เข้าใจพฤติกรรมของเขาได้ดียิ่งขึ้น และทำให้แม่ยอมรับและพาอ้นไปพบจิตแพทย์ และเริ่มทำกายภาพบำบัดสำหรับความพิการของเขา
Love Care Station เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ วิธีการที่องค์การยูนิเซฟพยายามให้ความช่วยเหลือปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เยาวชนในประเทศต้องเผชิญ ยูนิเซฟร่วมกับกรมสุขภาพจิตริเริ่มแคมเปญ Every Day is Mind Day ในปี 2564 ในการจัดกิจกรรม จัดทำชุดช่วยแหลือด้านสุขภาพจิตให้แก่เยาวชน รวมทั้งให้การสนับสนุนพ่อแม่ผู้ปกครองและครูในการช่วยเหลือเยาวชน ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นแคมเปญที่ชื่อว่า ‘เซฟโซนนี้มีไว้พักใจ’ ในปี 2565 โดยมีชุดวิดีโอและแหล่งข้อมูล รวมถึงมิวสิควิดีโอที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิตและสนับสนุนเยาวชนให้ค้นหา “เซฟโซน” ในแบบของตนเอง และเป็นที่ที่แต่ละคนจะสามารถทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อดูแลใจตนเอง
Love Care Station ได้กลายเป็นเซฟโซนของอ้นที่ช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากซึ่งต้องการคำแนะนำหรือกำลังใจ ทีมงานยังช่วยให้อ้นมองไปต่อไปถึงอนาคต เขามุ่งมั่นที่จะมีการเงินที่มั่นคงมากขึ้น ตั้งใจเรียนขึ้น และทำงานนอกเวลาเป็นพนักงานขายเพื่อให้มีรายได้เสริม ซึ่งทำให้เขามีความสุข และตอนนี้อ้นยังสนใจที่จะเป็นยูทูบเบอร์หรือนักแสดง โดยได้เริ่มไปคัดตัวนักแสดงแล้ว เมื่อใดที่อ้นรู้สึกไม่สบายใจ เขาจะติดต่อมาที่ Love Care Station ซึ่งช่วยลดความเครียดให้เขาได้มากทีเดียว
เหมือนกับวันหนึ่งที่อ้นได้เขียนบอกห้องแชทว่า “ผมรู้สึกสบายใจที่รู้ว่ามีใครสักคนที่ผมสามารถพูดคุยด้วยได้เหมือนเพื่อน และผมสามารถขอคำแนะนำได้ในเวลาที่ยากลำบาก มันช่วยให้ผมรู้สึกดีขึ้นจริง ๆ”
*บทความนี้ใช้นามสมมุติเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเยาวชน