การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงมีสุขภาพกายที่ดี แต่การมีสุขภาพจิตที่ดีก็เป็นรากฐานสำคัญของการมีสุขภาวะโดยรวมของคนเรา ซึ่งบ่อยครั้งมักถูกมองข้ามไป ในประเทศไทยเองก็เป็นเช่นนั้น อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
จากการวิเคราะห์ของยูนิเซฟ ในปี พ.ศ.2564 ที่นำข้อมูลมาจาก Oxford COVID-19 Government Response Tracker พบว่าความผิดปกติทางจิตเป็นเรื่องที่ถูกพบได้มากขึ้น วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 13-17 ปี กว่า 1 ใน 7 จากทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิต สำหรับในประเทศไทยตัวเลขดังกล่าวยิ่งสูงขึ้นกว่านั้น สืบเนื่องจากข้อมูลการสำรวจที่จัดทำโดยยูนิเซฟและกลุ่มพันธมิตรในประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายน 2564 พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นกว่า 7 ใน 10 คน ที่เห็นว่าการเกิดโรคระบาดส่งผลกระทบทางด้านลบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาจนนำไปสู่ความเครียด ความกังวล และความหวาดวิตก การสำรวจดังกล่าวยังเผยให้เห็นว่า ความไม่มั่นคงทางการเงินของครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความกังวลของผู้ตอบแบบสำรวจ ทั้งยังบั่นทอนความสามารถในการเรียนรู้ การเติบโต และการประสบความสำเร็จด้วย

โรงเรียนเป็นสถานที่ซึ่งความเครียดและความวิตกกังวลมักเกิดขึ้นได้สูง ครูต้องเผชิญกับความท้าทายในการจับสังเกตและให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่กำลังต่อสู้กับปัญหาภายในใจของพวกเขาให้ทันเวลา น่าเศร้าที่หลายครั้งเกิดกรณีร้ายแรงที่สุดอย่างการฆ่าตัวตาย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นในประเทศไทย จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี กว่า 17.6 เปอร์เซ็นต์ ที่มีความคิดอยากจะฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง
ธนาศักดิ์ ยอดเมือง ครูจากโรงเรียนวัดหนองใต้ จังหวัดสระบุรี ต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้เช่นกัน เขาสังเกตเห็นว่าเด็กนักเรียนในห้องคนหนึ่งค่อนข้างเงียบ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมทางโทรศัพท์มือถือตอนที่เขาชวนให้เด็กคนนี้มานั่งกินข้าวกลางวันกับคุณครู
“วันหนึ่งเขาเดินเข้ามาหาผม บอกว่าอยากจะหนีไปให้ไกลและจบชีวิตตัวเอง” ธนาศักดิ์กล่าว ภายหลังเขาได้ทราบว่าลูกศิษย์คนนั้นมีปัญหากับย่าของตน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าขโมยเงินของย่าไปเติมเงินในเกมในโทรศัพท์มือถือ เด็กนักเรียนคนดังกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ แต่เหตุการณ์นั้นทำให้เขาเครียดมาก
ธนาศักดิ์รู้จักกับลูกศิษย์ของตนเองมาแล้วระยะหนึ่งและเชื่อว่านักเรียนพูดความจริง อย่างไรก็ตามธนาศักดิ์คิดว่าต้นตอของปัญหาความขัดแย้งของทั้งคู่ เกิดขึ้นจากการขาดความเชื่อใจและช่องว่างระหว่างวัย ธนาศักดิ์เข้าไปช่วยจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างค่อยไปค่อยไป โดยการรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจและช่วยแก้ไขโดยการไปเยี่ยมบ้านของลูกศิษย์ ช่วยไกล่เกลี่ย และแนะแนวทางในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยเด็กนักเรียนชายคนดังกล่าวจะลดการเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือลง ในขณะเดียวกันย่าของเด็กก็ต้องรับฟังสิ่งที่หลานพูดมากขึ้นก่อนจะด่วนสรุป
ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะโชคดีและมีใครสักคนที่คอยอยู่เคียงข้างในยามที่พวกเขาต้องการเช่นนี้ และอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับครูที่ไม่ได้คุ้นเคยกับการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง รวมทั้งยังไม่รู้วิธีให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการเร่งด่วนเป็นอันดับต้นสำหรับโรงเรียนในการให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย จัดหาทรัพยากรที่เพียงพอ และสร้างโอกาสในการพัฒนาของครู ตลอดจนปรับปรุงวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงและจัดการความเครียด และความวิตกกังวลของนักเรียน

ยูนิเซฟตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จับมือร่วมกับ เซ็นทรัล ทำ หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย เพื่อริเริ่มการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value) โดยมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกิจกรรมนี้มุ่งเน้นที่การให้แนวทางปฏิบัติสำหรับครูเพื่อให้มีแนวคิดที่ดียิ่งขึ้นในการส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกในห้องเรียน
“ความท้าทายเกี่ยวกับสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น” สุธาสินี ศุภศิริสินธุ์ ผู้จัดการทั่วไป ส่วนการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนจากเซ็นทรัล ทำ กล่าว “เราเชื่อว่าครูเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของเด็ก ๆ ได้ เราอาจสามารถช่วยเด็กนับร้อยในการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล หรือแม้แต่ช่วยชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ โดยการเสริมสร้างพลังให้กับครู ด้วยแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยเพิ่มทัศนคติเชิงบวกทั้งต่อตนเองและลูกศิษย์”

หลังจากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าครูเกี่ยวกับความเครียดในโรงเรียน ยูนิเซฟและเซ็นทรัล ทำ ได้นำเทคนิควิธีการในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากโครงการ Every Day is Mind Day ของยูนิเซฟ ซึ่งพัฒนาโดยยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มาปรับใช้ เทคนิคดังกล่าวเคยนำไปใช้กับกิจกรรมนำร่องที่ชื่อว่า “การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครู” ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี จังหวัดสระบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูมีทักษะในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้พูดและแบ่งปันข้อกังวลของตนโดยปราศจากอคติ และเพื่อเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์เมื่อครูจำเป็นต้องช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเครียด

มีครูกว่า 40 คน จาก 11 โรงเรียน ในจังหวัดสระบุรีเข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อใจและตั้งกฏพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่ปลอดภัย จากนั้นครูจะได้เรียนรู้วิธีการสังเกตและทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนพัฒนาทักษะการฟังและการเลือกใช้ชุดคำที่เหมาะสม ครูยังได้เรียนรู้ว่าจะปรับปรุงและเพิ่มพูนความเข้าใจในตนเองได้อย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนสำหรับโลกออนไลน์ กิจกรรมสุดท้ายจบลงที่การสะท้อนความรู้สึก การแสดงความขอบคุณและการชื่นชมซึ่งกันและกัน
“รู้สึกตื่นรู้” หนึ่งในเสียงสะท้อนจาก พูนศรี มนตรีพาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดห้วยบง จังหวัดสระบุรี “กิจกรรมในวันนี้ครอบคลุมเทคนิคหลายรูปแบบที่ครูส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยดีอยู่แล้วกับการทำงานสอนในแต่ละวัน แต่ถูกนำมาเปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้เป็นกิจกรรมง่าย ๆ เพื่อช่วยให้ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับห้องเรียนของตนเองได้ การเรียนรู้เรื่องการฟังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ทั้งยังช่วยให้รู้สึกว่าเรื่องราวต่าง ๆ ดูหนักหนาน้อยลง” พูนศรีกล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยูนิเซฟได้ทำงานในวงกว้างมากขึ้น โดยร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และคนหนุ่มสาวในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาวะทางจิต ตลอดจนการเข้าถึงทรัพยากรและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต
โครงการ 'ฉันคืออาสาสมัครยูนิเซฟ' และเซ็นทรัล ทำ ร่วมกันจัดกิจกรรมนำร่องใน 4 จังหวัดได้แก่ จังหวะสระบุรี ในเขตภาคกลาง จังหวัดเชียงใหม่ในเขตภาคเหนือ จังหวัดตรังในเขตภาคใต้ และจังหวัดอุดรธานี ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรูปแบบสุดท้ายของกิจกรรมจะถูกนำไปแบ่งปันให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ภายใต้เครือข่าย CONNEXT ED “การจับมือร่วมกันระหว่างยูนิเซฟและเซ็นทรัล ทำ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการทำงานร่วมกันแบบข้ามภาคส่วน เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติสำหรับครูในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสร้างทัศนคติในแง่บวกสำหรับเด็ก ๆ สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นด้วยขั้นตอนเล็ก ๆ แต่กลับมีเป้าหมายระยะยาวในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนของตนเอง และสร้างความแตกต่างอย่างยั่งยืนในชุมชนนั้น ๆ” นิภัทรา วิลเคส เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร ส่วนงานอาสมัคร กล่าว