อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร? ในปีหน้า สหประชาชาติจะจัดการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทบทวนความคืบหน้าในด้านต่าง ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราไม่จำเป็นต้องรอที่จะตั้งคำถามดังกล่าว หากเราต้องการมองเห็นอนาคตของประเทศ เราต้องมองไปที่เด็กเป็นอันดับแรก และหากเราต้องการกำหนดอนาคตของประเทศ เราต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง
ยูนิเซฟได้ประกาศ “7 ข้อเรียกร้องเพื่อเด็ก” เพื่อเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่าง ๆ จัดทำนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและความต้องการของเด็ก เพื่อให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนได้เลือกอนาคตที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโตและพัฒนาเต็มศักยภาพ แม้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยได้ทำให้คนนับล้านหลุดพ้นจากความยากจน แต่ขั้นตอนต่อไปคือการก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงจะเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด ภายในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่เหมือนญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อประชากรรุ่นใหม่น้อยลง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาต้องมีศักยภาพเต็มเปี่ยมเพื่อเป็นกำลังให้สังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
ความท้าทายที่ฝังรากลึกคือความไม่เท่าเทียม ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเด็ก หากเรานึกภาพเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล เราจะเห็นเด็กแรกเกิดที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ซึ่งต้องไปหางานทำในเมือง เด็กคนนั้นจะต้องพบอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะกำแพงภาษา ตามข้อมูลการศึกษาล่าสุดของยูนิเซฟ เด็กกลุ่มนี้จะมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่ากลุ่มอื่นอีกด้วย ทั้งนี้ การได้เข้าสู่ระบบการศึกษาก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเธอจะได้รับการพัฒนาทักษะที่ต้องการ เพราะปัจจุบัน ร้อยละ 60 ของนักเรียนระดับป.2 และ 3 ขาดทักษะพื้นฐานในการอ่าน และมีเยาวชนไม่ถึงร้อยละ 40 ที่รู้สึกว่าระบบการศึกษาได้ช่วยให้พวกเขามีความพร้อมสำหรับตลาดงาน
เราต้องสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย ซึ่งเราสามารถทำได้ โดย 7 ข้อเรียกร้องของยูนิเซฟคือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จับต้องได้ที่จะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มการลงทุนเพื่อเด็ก เพราะแม้ปัจจุบัน กว่าร้อยละ 86 ของเด็กอายุ 3-4 ปี จะได้รับการศึกษาปฐมวัย แต่ยังคงมีช่องว่างในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อพัฒนาการทางสมอง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวในชีวิตที่การเชื่อมต่อของเซลล์สมองเกิดขึ้นสูงสุดถึง 1,000 ครั้งต่อวินาที ดังนั้น การลงทุนเพื่อให้เกิดบริการดูแลเด็กที่มีคุณภาพในราคาเข้าถึงได้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากนี้ การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดก็สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน แม้ปัจจุบันสวัสดิการนี้จะเข้าถึงครอบครัวที่มีรายได้น้อยจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น ยูนิเซฟจึงขอสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติที่จะขยายสวัสดิการนี้ให้เป็นแบบถ้วนหน้าเพื่อครอบคลุมเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีทุกคน รวมทั้งให้มีการเพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
การยกระดับการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และไทยก็ได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาซึ่งจัดโดยสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการอีกมากเพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย และปิดช่องว่างด้านดิจิทัลที่ถ่างกว้างขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนเพื่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้
ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เราต้องไม่ลืมกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Not in Employment, Education or Training - NEET) เยาวชนกลุ่มนี้ต้องการการสนับสนุนแบบครบวงจร เช่น การมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่อให้บริการพัฒนาทักษะ และบริการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ เราต้องตระหนักถึงความเสี่ยงของเด็กในโลกออนไลน์ด้วย มีการประมาณการว่า เด็กในประเทศไทยจำนวน 400,000 คน ถูกละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์ แต่ด้วยขีดความสามารถที่จำกัดในปัจจุบัน จึงทำให้มีผู้เสียหายที่เข้าถึงความช่วยเหลือได้เพียงหลักพันในแต่ละปี ดังนั้น ยูนิเซฟจึงขอเรียกร้องให้มีการเพิ่มการลงทุนในการให้บริการทางสังคม โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ต่อจำนวนประชากรต่ำที่สุดในภูมิภาค
ประการสุดท้าย การขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าต้องไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะเด็กพิการ ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายมากมาย โดยร้อยละ 38 ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ การดูแลเด็กกลุ่มดังกล่าวก็ยังพึ่งพิงสถานสงเคราะห์มากเกินไป นอกจากนี้ ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยความพิการเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มที่ต้องการการสนับสนุนได้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมและเข้าถึงสำหรับเด็กพิการได้มากกว่าเดิม
ด้วยยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก ยูนิเซฟจึงอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับเด็กมากที่สุด เราขอเชิญชวนพรรคการเมืองต่าง ๆ มาร่วมหารือเกี่ยวกับ 7 ข้อเรียกร้องเพื่อเด็ก โดยเราพร้อมที่จะให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงวิชาการเกี่ยวกับความท้าทายต่าง ๆ ของเด็ก ซึ่งกลั่นกรองจากประสบการณ์ 75 ปี ในการทำงานในด้านเด็ก ทั้งนี้ 7 ข้อเรียกร้องเพื่อเด็กของยูนิเซฟตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเด็ก และเป็นข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจโดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและผลการศึกษาทางวิชาการ นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังต้องการให้เยาวชนเกิดความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทยและของตัวเอง ซึ่งต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้พวกเขาได้แสดงออกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเสรีโดยปราศจากความกลัว
ยูนิเซฟขอเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม โดยทุกคนที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่าสำหรับประเทศไทยควรจะศึกษาว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคให้ความสำคัญกับเด็กเพียงใดและมีนโยบายที่จะทำเพื่อเด็กอย่างไร เยาวชนคือผู้มีบทบาทสำคัญ กฎหมายไทยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเยาวชนอายุ 18 ปีประมาณ 4 ล้านคนที่จะใช้สิทธิลงคะแนนเป็นครั้งแรก ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้ทุกคนใช้สิทธิลงคะแนนเพื่อสิทธิของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มีประเทศต่าง ๆ ร่วมให้สัตยาบันมากที่สุด รวมถึงประเทศไทยด้วย