เล่นและเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
กล่องมหัศจรรย์จากยูนิเซฟเพื่อฝันการเรียนรู้ของเด็กยุคโควิด-19

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
“พ่อคะ วันนี้วันเสาร์อีกแล้วหรือคะ” เป็นคำถามที่อุ่นใจ เด็กน้อยวัยสามขวบครึ่งถามคุณพ่ออุเทนบ่อยครั้งที่สุดในช่วงเวลาที่บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่แห่งความหวังต้องปิดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-191 เพราะปกติแล้วมีเพียงวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้นที่อุ่นใจต้องเล่นคนเดียวในห้องที่บ้านของเธอ โดยที่วันจันทร์ถึงศุกร์อุ่นใจจะมีความสุขมากที่มีเพื่อนๆ รอเล่นด้วยกันที่บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ฯ แต่ตอนนี้วันจันทร์ถึงศุกร์ในโลกของอุ่นใจได้หายไป และทุกวันก็ดูเหมือนจะกลายเป็นวันเสาร์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือนแล้ว
บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่แห่งความหวังภายใต้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม (Foundation for Slum Child Care) เป็นทั้งสถานที่ที่เด็ก ๆ เรียกว่า “โรงเรียน” และเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กควบคู่ไปกับการพัฒนาครอบครัว โดยมีค่าเข้าโครงการเพียง 30 บาทต่อวัน จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่แม้จะมีฐานะยากจนก็สามารถคลายความกังวลเรื่องการดูแลลูกในช่วงเวลากลางวันขณะที่ตนต้องออกไปทำงานได้ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการคัดเลือกเพื่อดูแลกลุ่มเด็กจากครอบครัวที่เผชิญปัญหาความลำบาก และต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก เช่น กลุ่มเด็กที่ถูกพ่อหรือแม่ทิ้งให้อาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ท่านอื่น หรือเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อความรุนแรงในครอบครัว ปัจจุบันบ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ฯ ได้รับเลี้ยงดูเด็กไว้ทั้งหมด 80 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยคุณครู 12 คน แม่บ้าน 3 คน แม่ครัว 2 คน และรปภ.อีก 1 คน
แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้บรรยากาศของบ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ฯ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากบ้านที่ร่มรื่นมีบรรยากาศสวยงาม กลับดูไร้ชีวิต และรู้สึกได้ถึงความอ้างว้างอย่างชัดเจน เมื่อบ้านเด็กอ่อนฯ ไร้เสียงเจี๊ยวจ๊าวจากเด็กๆ หนังสือนิทานกว่าสิบเล่มยังคงอยู่บนชั้นวางเพราะไม่มีใครมาหยิบจับมาเป็นเวลายาวนาน ทางเข้าสนามเด็กเล่นถูกกั้นด้วยรั้วขาว เก้าอี้ชิงช้าแขวนพันบนเสาอย่างแน่นิ่ง เครื่องเล่นชิ้นอื่นๆ วางตั้งอยู่บนพื้นทราย ไม่หลงเหลือรอยเท้าของเด็กๆ บนสนามเด็กเล่นแม้เพียงรอยเดียว

องค์การยูนิเซฟเชื่อว่า แม้บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ฯ จะต้องปิดลงชั่วคราวแต่พัฒนาการของเด็กจะต้องไม่หยุดไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงอายุ 3-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุของเด็กเล็กที่ยูนิเซฟมักเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้ เพราะในช่วงวัยนี้จะเป็นช่วงที่สมองของเด็กๆ สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากกว่าช่วงวัยไหน ๆ2 ดังนั้นช่วงอายุนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่จะได้พบความมหัศจรรย์ที่เกิดจากพลังแห่งการเล่น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิด การรับรู้ การเข้าสังคม การเข้าใจอารมณ์ การฝึกฝนภาษา รวมถึงการขยับร่างกายที่ได้รับการฝึกฝนผ่านการเล่น เพราะการเล่นเป็นความสุขของเด็ก ๆ และเมื่อเด็กมีความสุข ก็จะสามารถเติบโตต่อไปด้วยจิตใจที่มั่นคง
ความเงียบสงัดของบ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ฯ ในเช้าวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมากลับเปลี่ยนเป็นบรรยากาศครื้นเครง มีกล่องพลาสติกใสกว่าร้อยใบที่ภายในบรรจุอัดแน่นไปด้วยของเล่นสีสันสะดุดตา ไม่ว่าจะเป็นลูกบอลหลากสี สมุดภาพระบายสี หนังสือนิทาน และตัวต่อพลาสติก ด้านหน้าของกล่องประทับข้อความว่า “กล่องมหัศจรรย์” พร้อมคำอธิบายสั้น ๆ ว่า เล่นด้วยกัน ปลูกฝัน ปันสนุก กล่องมหัศจรรย์นี้เกิดจากความตั้งใจของยูนิเซฟในการผลักดันให้ฝันของเด็กเป็นจริงผ่านการปลูกฝังทักษะการคิด การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการใช้จินตนาการจากการเล่นสนุกกับของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ประกอบคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กของยูนิเซฟ แววตาเปี่ยมสุขและเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นของเด็ก ๆ พร้อมรอยยิ้มจากผู้ปกครองในวันนี้ทำให้บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่กลับมาคึกคักอีกครั้ง

“กล่องมหัศจรรย์ มันมหัศจรรย์ใจสมชื่อสำหรับเด็กจริง ๆ ปกติเรามอบอาหารและถุงยังชีพ ครูนุ้ยก็เห็นพ่อแม่ดีใจ แต่วันนี้คือครั้งแรกที่เราได้มอบกล่องของเล่นแบบนี้ เป็นครั้งแรกเลยที่เห็นเด็ก ๆ ตื่นเต้นดีใจมากขนาดนี้” ครูนุ้ย คุณครูประจำบ้านเด็กอ่อนฯ กล่าว
เช่นเดียวกับน้องต้นข้าว เด็กหญิงในวัยสามขวบครึ่งที่วิ่งไปวิ่งมาทั่วบ้านเด็กอ่อน ต้นข้าวไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่แต่อยู่กับคุณทวด โดยปกติที่บ้านของต้นข้าวไม่ค่อยมีของเล่น วันที่ได้เล่นของเล่นกับทวดจะเป็นวันพิเศษของต้นข้าว และในวันนี้คุณทวดเองก็รอจะกลับไปเล่นโดยอาศัยคู่มือในกล่องมหัศจรรย์ช่วยนำเล่นกับน้องต้นข้าวเช่นกัน
“ต้นข้าวชอบกล่องมหัศจรรย์มาก ทำท่าจะเปิดอยู่ตลอดเวลา” คุณทวดของน้องต้นข้าวเล่า พร้อมอธิบายว่าเหลนสาวตัวน้อยมีของเล่นที่บ้านน้อยมาก
ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2064 ยูนิเซฟได้แจกจ่ายกล่องมหัศจรรย์ไปแล้วกว่า 4,500 ชุด ให้แก่เด็กๆ ในชุมชนที่ยากจน และชุมชนข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 ใน 7 จังหวัด
“กล่องมหัศจรรย์ของยูนิเซฟทำขึ้นเพื่อช่วยเด็กเล็กให้ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและสมวัยในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเพราะโควิด-19 ระบาด” คุณทินสิริ ศิริโพธิ์ เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟด้านเด็กปฐมวัย กล่าว “เราเชื่อว่าเมื่อเด็กๆ โตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งทั้งกายและใจก็จะเป็นคนคุณภาพที่มีความสามารถในการพัฒนาสังคมต่อไป และการที่ได้เห็นแววตา สีหน้าและรอยยิ้มของเด็กเมื่อได้รับของทำให้คิดว่าสิ่งที่ยูนิเซฟลงแรงและลงทุนไปนี้คุ้มค่าจริง ๆ ”
นอกจากกล่องมหัศจรรย์แล้ว ยูนิเซฟยังได้มอบชุดอุปกรณ์ทำความสะอาดซึ่งประกอบด้วย หน้ากากสำหรับผู้ใหญ่ หน้ากากสำหรับเด็ก สบู่ และเจลแอลกอฮอลล์เพื่อให้ทุกครอบครัวป้องกันตนเองภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย วันนี้ที่บ้านเด็กอ่อนฯ ได้เห็นเด็ก ๆ กระโดดโลดเต้นกันด้วยความตื่นเต้นดีใจที่ได้หน้ากากที่พอดีกับตนเองและที่สำคัญได้กล่องมหัศจรรย์กลับบ้าน และถึงแม้ว่ากล่องจะหนักและใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัวของเด็กอายุสามขวบครึ่ง แต่เด็ก ๆ ต่างแสดงความเป็นเจ้าของกันอย่างน่ารัก และช่วยพ่อแม่แบกกล่องมหัศจรรย์นี้ขึ้นรถกลับบ้านด้วยตนเอง

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะหลอมรวมปัญหาทุกอย่างให้มาอยู่ในพื้นที่ของบ้านจนทำให้บ้านต้องกลายเป็นโรงเรียนและพ่อแม่รับหน้าที่คุณครู แต่จากวันนี้เด็ก ๆ จากบ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ฯ กว่า 80 คนจะไม่ต้องเหงาและเดียวดายอีกต่อไป เพราะกล่องมหัศจรรย์ (Magic Box) เหล่านี้ กำลังมาช่วยคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองร่วมกันพิทักษ์ให้ความสนุกและการเรียนรู้ยังสามารถเกิดขึ้นต่อไปได้แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ในวันที่มืดหม่นจากสถานการณ์โควิด-19 ยูนิเซฟหวังให้กล่องมหัศจรรย์ได้เป็นแสงสว่างเล็กๆ ในใจ ของเด็ก ๆ และพ่อแม่ทุกครั้งที่กล่องมหัศจรรย์เปิดออก และถึงแม้ว่าทุกวันจะยังคงเหมือนวันเสาร์สำหรับเด็ก ๆ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่การได้เล่นของเล่นในกล่องมหัศจรรย์ใบนี้กับคุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณทวดก็คงช่วยให้เด็กๆ ได้สนุกไม่น้อยไปกว่าการได้วิ่งเล่นที่บ้านเด็กอ่อนทั้งยังอบอุ่นไปถึงหัวใจอีกด้วย ดังนั้น ความมหัศจรรย์จึงไม่ได้เกิดจากการเล่นของเล่นในกล่องแต่เพียงเท่านั้น แต่เป็นการได้เล่นกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูด้วยความรักและความอบอุ่นต่างหากที่จะนำความมหัศจรรย์มาสู่ชีวิตของเด็ก ๆ อย่างแท้จริง
แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ยูนิเซฟได้ทำให้ของเล่นเป็นสิ่งที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ความฝันของเด็กในชุมชนเสือใหญ่ที่เป็นจริงได้วันนี้ เกิดจากความร่วมมือของทุกคนในสังคม
-เล่นด้วยกัน ปลูกฝัน ปันสนุก-
UNICEF for every child
อ้างอิง
- อุเทน กางรัมย์, สัมภาษณ์โดยผู้เขียน, บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่, รัชดาภิเษก, 23 มิถุนายน, 2564
- UNICEF New York, Early Childhood Development Kit: A Treasure Box of Activities, 5.
ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา