อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติ เข้ารับการอบรมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางช่วงโควิด-19

อุดช่องว่างในระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทย

UNICEF Thailand
กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ ส่งมอบสิ่งของจำเป็นให้กับชุมชนแรงงานข้ามชาติ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
16 กุมภาพันธ์ 2022

ในขณะที่การระบาดใหญ่ทั่วโลกยังคงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง กลุ่มผู้เปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนข้ามชาติเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ยูนิเซฟและยูเอสเอดได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทยเพื่อฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติจำนวน 100 คนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดปัตตานี เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ความรู้เรื่องวัคซีน การบริหารจัดการสุขภาพของผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการให้การสนับสนุนด้านจิตใจ หลังการฝึกอบรมอาสาสมัครเหล่านี้จะสามารถแบ่งปันและกระจายข้อมูลสำคัญที่ได้รับระหว่างการอบรมให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติราว 4,000 คน เพื่อให้พวกเขาสามารถปกป้องตนเองและครอบครัว รวมไปถึงได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ชัย อายุ 42 ปี มาจากประเทศเมียนมาร์ใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทยมานานเกินทศวรรษ ชัยพูดและอ่านเขียนภาษาไทยได้คล่องแคล่ว จึงทำให้เขาได้ตำแหน่งงานที่ค่อนข้างสะดวกสบายในฐานะผู้ประสานงานแรงงานที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในกรุงเทพฯ ชัยทำงานหกวันต่อสัปดาห์ แต่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดตามปกติของเขา เขาได้ใช้เวลามากมายไปกับการทำงานอาสาสมัครในชุมชนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ในเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ

กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ ส่งมอบสิ่งของจำเป็นให้กับชุมชนแรงงานข้ามชาติ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
ชัยและกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ ส่งมอบสิ่งของจำเป็น เช่น สบู่ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สมุดข้อมูลโรคโควิด-19 และคู่มือการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับชุมชนแรงงานข้ามชาติในแสมดำ

ในปีพ.ศ. 2563 ชัยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตอาสาเพชรเกษม ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ที่อุทิศเวลาเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้วยกัน ตั้งแต่นั้นมา เขาได้อุทิศเวลาและเงินเพื่อเข้าถึงแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเขตเพชรเกษมทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งเขาอาศัยอยู่

ชัยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติที่กำลังขยายจำนวนเพิ่มขึ้น อาสาสมัครดังกล่าวเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐเพื่ออุดช่องว่างในระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทย พวกเขาเป็นแนวหน้าในการเข้าถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เปราะบางหรือไม่มีเอกสารประจำตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับโรคโควิด-19 อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่สำคัญแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วยกัน เช่น วิธีการเข้ารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและมาตรการของรัฐบาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ตลอดจนสิ่งจำเป็นอื่น ๆ เช่น หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ

ด้วยเครือข่ายอาสาสมัครที่กว้างขวาง (กลุ่มของชัยมีอาสาสมัครมากกว่า 30 คน และในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีกจำนวนหนึ่ง) อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติจึงค่อย ๆ ทดแทนการทำหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขชาวไทยซึ่งในบางกรณีอาจไม่สามารถเข้าถึงแรงงานข้ามชาติได้อันเนื่องมาจากอุปสรรคด้านภาษาและจำนวนอาสาสมัครที่ไม่เพียงพอ

ชูวงค์ แสงคง เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสของมูลนิธิรักษ์ไทย
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
ชูวงค์ แสงคง เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสของมูลนิธิรักษ์ไทย

“แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีประมาณ 2.5 ล้านคน” ชูวงค์ แสงคง เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสของมูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ช่วยฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมากล่าว “แต่หากรวมสมาชิกในครอบครัวที่ติดสอยห้อยตามมาด้วย จำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอาจมีมากถึง 4 ล้านคน”

ภาคแรงงานของประเทศไทยพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่มาจากประเทศเมียนมาร์ และอีกจำนวนหนึ่งมาจากประเทศกัมพูชาและลาว แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานในภาคการประมง ภาคการผลิต และเกษตรกรรม ในเขตเพชรเกษมและตามถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นทางออกจากกรุงเทพฯ ไปสู่ภาคใต้ โรงงานเสื้อผ้าและโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่ตั้งอยู่เป็นจำนวนมากย่อมหมายความว่าแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากตามไปด้วย

การอบรมเพื่อป็นอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
การอบรมเพื่อป็นอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ

ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2564 ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่ในสถานะใกล้ล่มสลาย เนื่องมาจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ในช่วงดังกล่าวงานอาสาสมัครด้านสาธารณสุขของชัยยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2564 มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับยูนิเซฟและ ยูเอสเอด ได้จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติจำนวนราว 70 คนจาก 9 เครือข่ายอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ เพื่อช่วยบูรณาการงานอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติเข้ากับระบบสาธารณสุขของไทยและเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติของกระทรวงสาธารณสุขในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565

“กระทรวงสาธารณสุขจะให้การฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ส่วนทางมูลนิธิเราก็พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับความคาดหวังจากการทำงานเป็นทีมและจากหน้าที่อาสาสมัคร” ชูวงค์กล่าว

ผู้เข้าอบรมเพื่อป็นอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
ผู้เข้าอบรมเพื่อป็นอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ

ในระหว่างการฝึกอบรม ชูวงค์เน้นว่า อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติต้องแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องและไม่มีอคติแก่แรงงานข้ามชาติ อัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพ แจ้งสถานที่ที่พวกเขาสามารถรับบริการด้านสุขภาพ และให้การสนับสนุนและประสานงานต่าง ๆ

“ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2564 แรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ติดเชื้อโควิด-19 ต้องนอนรอความช่วยเหลือที่บ้านเพราะโรงพยาบาลเต็ม เราช่วยเหลือพวกเขาโดยติดต่อประสานงานด้านบริการด้านสุขภาพ นำถังออกซิเจนไปให้ผู้ที่มีอาการรุนแรง และจัดหายาให้ผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน” ชัยกล่าว

พระสงฆ์ชาวพม่ารับสิ่งของจำเป็นเช่น เจลแอลกอฮอลล์ล้างมือ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
กลุ่มอาสาสมัครไปเยี่ยมชมองค์กรพระนิสิตชาวเมียนมาร์และมอบสิ่งของจำเป็น

หลังจากการฝึกอบรมของกระทรวงสาธารณสุขครั้งแรกในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 และเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ลดลง ชัยมีเวลามากขึ้นในการวางแผนเพื่อเข้าถึงชุมชนแรงงานข้ามชาติให้ได้มากที่สุด วันหนึ่งในเดือนธันวาคม เขาและกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 5-6 คนได้ไปเยี่ยมชมองค์กรพระนิสิตชาวเมียนมาร์ (Myanmar Student Monks Organisation) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากพระสงฆ์ชาวเมียนมาร์ในประเทศไทย และเปิดสอนหลักสูตร เช่น ภาษาอังกฤษ ไทย คอมพิวเตอร์ และออกแบบเสื้อผ้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงานข้ามชาติ

นักเรียนในองค์กรพระนิสิตชาวเมียนมาร์ได้รับสิ่งของจำเป็น
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
กลุ่มนักเรียนในองค์กรพระนิสิตชาวเมียนมาร์ได้รับสิ่งของจำเป็น

ชัยได้นำเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และหนังสือเล่มเล็กซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในภาษาเมียนมาร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟไปมอบให้กับนักเรียนที่นั่น และได้สาธิตวิธีการล้างมือและการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง

Pyae Pyae Phyoe อายุ 30 ปี ซึ่งเริ่มเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติมาเป็นเวลา 3 เดือนกล่าวว่า “ฉันอยากช่วย ถ้าไม่ได้เงินก็ไม่เป็นไร ทุกคนเป็นพี่น้องกัน”

Pyae Pyae Phyoe อาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
Pyae Pyae Phyoe อาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ

ชัยกล่าวว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เขาได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติราว 2,000 คนให้ไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชัยกล่าวว่าการโน้มน้าวใจพวกเขาให้ไปรับวัคซีนง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนที่แรงงานมีความกลัวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนและความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยชัยได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลักในการเข้าถึงแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารและยังไม่ได้รับวัคซีน

ชัยเสริมว่าวัคซีนช่วยปกป้องจากอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงและช่วยป้องกันการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหากติดเชื้อโควิด-19 ได้ และงานของอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติคือการรักษาครอบครัวและชุมชนให้ปลอดภัย และช่วยไม่ให้ระบบสาธารณสุขต้องแบกรับภาระหนักเกินไป โดยโรงพยาบาลยังคงสามารถรับรักษาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ด้วยเหตุนี้อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติจึงยิ่งต้องขยายเครือข่ายเพื่อเข้าถึงผู้คนจำนวนมากขึ้น และมุ่งมั่นกับการทำงานอาสาสมัครต่อไป

ชัย อาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
ชัย อาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติ

ชัยกล่าวว่านายจ้างมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของงานอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติ อาสาสมัครหลายคนสามารถลางานประจำได้หากมีเหตุการณ์ด่วนหรือต้องเข้ารับการฝึกอบรมด้านสาธารณสุข โรงงานหลายแห่งยังถูกใช้เป็นสถานที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับแรงงานอีกด้วย

“เราคิดว่างานอาสาสมัครจะหนักขึ้นหลังปีใหม่ เพราะการเดินทางช่วงวันหยุดอาจทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น” ชัยกล่าว แต่ตราบใดที่อาสาสมัครทำงานต่อไป "เราต้องต่อสู้กับการระบาดใหญ่และเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้"

เด็กและครอบครัวในชุมชนแรงงานข้ามชาติในแสมดำ
UNICEF Thailand/2021/Sukhum Preechapanich
เด็กและครอบครัวในชุมชนแรงงานข้ามชาติในแสมดำ

นอกเหนือจากการจัดฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติแล้ว ยูนิเซฟและมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเอสเอดยังให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่แรงงานข้ามชาติกว่า 120 คน เพื่อให้การสนับสนุนด้านจิตใจในช่วงการระบาดใหญ่ นอกจากนั้นแล้วยูนิเซฟและยูเอสเอด ยังสนับสนุนโรงพยาบาลสนามในจังหวัดปัตตานีด้านอุปกรณ์ที่จำเป็น โดยได้มอบเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด จำนวน 600 เครื่อง และเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดแบบมีด้ามจับ 600 เครื่อง เพื่อช่วยติดตามสุขภาพของผู้ป่วยโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการส่งมอบถุงขยะสีแดงจำนวน 1,800 ถุง เพื่อให้โรงพยาบาลสนามสามารถแยกและจัดการขยะทางการแพทย์ที่เป็นอันตรายได้ด้วย


ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา

สมัครเลย