อนาคตสำหรับเด็กในปี 2567: ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก
แนวโน้มทั่วโลก
- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
เรื่องราวของอนาคตสองแบบ
เมื่อเราก้าวเข้าสู่ปี 2567 โลกได้มาถึงทางแยกอันสำคัญ
เราสามารถเลือกเส้นทางที่นำพาเราไปสู่ความร่วมมือจากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเส้นทางที่รวบรวมเอานวัตกรรม การแบ่งปันความรู้ การถ่ายทอดนโยบาย และการเติบโตที่เท่าเทียมเข้าไว้ด้วยกัน หรือเราจะเลือกอีกเส้นทางที่ความเป็นหนึ่งเดียวลดน้อยลงแต่มุ่งปกป้องผลประโยชน์ตนเองมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้ง และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
อนาคตของเด็ก ๆ ทั่วโลกจะขึ้นอยู่กับหนึ่งในเส้นทางที่โลกเลือกเดิน
เมื่อโลกได้เล็งเห็นอนาคตที่มีความแตกต่างนี้ เราจะสามารถคาดการณ์ถึงความท้าทายและใช้โอกาสที่จะเกิดขึ้นในการสร้างโลกที่ปลอดภัยและเท่าเทียมกันมากขึ้นเพื่อเด็ก ๆ เราสามารถส่งต่อสังคมที่คำนึงถึงทุกคนและมีความยืดหยุ่นให้กับเด็กได้ด้วยการปฏิรูปด้านการเงิน ความรับผิดชอบทางการเมือง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และนโยบายทางสังคมเชิงรุก แต่หากความแตกแยกมีชัยชนะเหนือความร่วมมือกัน เด็ก ๆ จะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับผลที่ตามมา
ในปี 2567 นี้ ทุกคนต้องตระหนักว่าเรามีชะตากรรมร่วมกัน เราต้องจุดประกายของจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือกันตามวิสัยทัศน์ของระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยให้ผลประโยชน์และเสียงของเด็กเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตร่วมกันของเรา
8 เทรนด์ที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเด็กมากที่สุดในปี 2567 มีดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงของความขัดแย้งอาจคุกคามความอยู่รอดและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก แต่เส้นทางสู่ความร่วมมือและการรับผิดชอบร่วมกันยังทำให้เรามีความหวัง
ในปี 2567 ประเทศมหาอำนาจจะยังคงแข่งกันขยายอิทธิพลทางการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงภายในองค์กรระหว่างประเทศด้วย ในขณะเดียวกัน ประเทศขนาดเล็กและกลาง รวมถึงหลายประเทศในกลุ่มประเทศโลกใต้ เริ่มตีตัวออกห่างจากการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยการสร้างพันธมิตรใหม่แนวใหม่ที่มีความคล่องตัวใน "การเคลื่อนไหวแบบพหุภาคี" เมื่ออำนาจกระจายตัวเป็นวงกว้างขึ้น แนวทางการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมและมีความร่วมมือกันมากขึ้นก็อาจพัฒนาไปในทางที่ดี
ภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้หมายความว่าปี 2567 นี้จะยังคงผันผวนและส่งผลกระทบในวงกว้าง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การสู้รบทางทหารครั้งใหม่ การโจมตีทางไซเบอร์ การบิดเบือนข้อมูล และการปะทะกันโดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเครียดด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นอาจดึงประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปพัวพันกับข้อพิพาทในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังอาจเห็นกองกำลังส่วนบุคคลและทหารรับจ้าง และยุทธวิธีการทำสงครามในเขตเมืองที่เป็นอันตรายต่อพลเรือนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ความผันผวนนี้อาจส่งผลให้พวกเขามีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับความรุนแรงและสงครามสูงขึ้น นอกจากนี้ยังจะเพิ่มความเสี่ยงที่พวกเขาจะถูกละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ความต้องการด้านมนุษยธรรมทวีความรุนแรงจนถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ค่าใช้จ่ายทางการทหารที่เพิ่มขึ้นอาจดึงทรัพยากรอันมีค่าไปใช้ในด้านการทหารแทนด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา และโภชนาการ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- รัฐต้องเสริมสร้างระบบการติดตามและกลไกความรับผิดชอบให้เข้มแข็ง เพื่อปกป้องเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้ง
- ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องขยายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อหลีกเลี่ยง "สถานการณ์ฉุกเฉินที่ถูกลืม" ไม่ให้เกิดขึ้น
- การปฏิรูปธรรมาภิบาลด้านสันติภาพและความมั่นคงทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูเครื่องมือในการปกป้องเด็กและรักษาสันติภาพต้องเป็นความสำคัญลำดับแรก
2. ความแตกแยกทางเศรษฐกิจคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว การพัฒนาของเด็ก และการจ้างงานของเยาวชน แต่ความสามัคคีทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือกันทางตลาด และการลงทุนในทักษะแห่งอนาคตจะสามารถปกป้องสิทธิและอนาคตของเด็ก ๆ ได้
มีการคาดการณ์ว่าความแตกแยกทางเศรษฐกิจซึ่งมักถูกขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์และการพิจารณาด้านกลยุทธ์ จะถ่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศให้กว้างขึ้นในปี 2567 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอยอาจเป็นภัยคุกคามต่อความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และนวัตกรรมที่สั่งสมมานานหลายปี อีกทั้งยังเพิ่มแรงกดดันทางการคลังในช่วงเวลาที่ความยากจนในเด็กกำลังเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก
ความแตกแยกดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาหาร ข้อจำกัดในการส่งออกกำลังทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางโภชนาการและพัฒนาการของเด็ก การวิเคราะห์ของเราชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมปี2566 ถึงตุลาคมปี 2566 ทารกแรกเกิดมากกว่าสองล้านคนในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง 127 ประเทศอาจมีความเสี่ยงที่จะแคระแกร็นเนื่องจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นเพราะสงครามรัสเซีย–ยูเครน การฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่แตกต่างกันยังคุกคามโอกาสในการมีงานทำของเยาวชน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย
วิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย–ยูเครนได้ลบล้างความคืบหน้าในการลดปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงในเด็กออกไปหลายปี มีการคาดการณ์ว่าภาวะถดถอยนี้จะยังคงดำเนินต่อไป โดยมีเด็กที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในความยากจนในปี 2573 เพิ่มขึ้นอีกถึง 15 ล้านคนเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
การลดความแตกแยกและการแสวงหาการเปิดกว้างและความร่วมมือจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ๆ แนวทางนี้สามารถเพิ่มรายได้ของครัวเรือน การใช้จ่ายของภาครัฐ ค่าจ้าง และทำให้สินค้าและบริการที่จำเป็นมีความพร้อมมากขึ้น
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีความสามัคคีทางเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับเด็กในการกำหนดนโยบายการค้าและความร่วมมือในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นได้
- การจัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม นโยบายภาษี การบริหารจัดการหนี้ และการคลังสาธารณะ เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้แน่ใจว่าจะมีบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นและมีสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้เจริญเติบโต
- การดำเนินการตามนโยบายที่เป็นหนึ่งเดียวและการลงทุนอย่างมีกลยุทธ์เป็นสิ่งจำเป็นต่อการจ้างงานและการศึกษาของเยาวชนเพื่อมอบทักษะต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับภาคธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นใหม่
3. ความแตกแยกของระบอบพหุภาคีทำให้เป้าหมายหลักเพื่อเด็กไม่บรรลุผล แต่เรายังมีโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่ในปี 2567 ผ่านการปฏิรูปธรรมาภิบาลและการเงินในระดับโลก
ปี 2567 นี้จะเป็นปีสำคัญในการแก้ปัญหาระบอบพหุภาคีที่แตกแยกและล้มเหลวในประเด็นต่าง ๆ เช่น สันติภาพ ความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดหาเงินทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และการบังคับใช้มาตรฐานเชิงบรรทัดฐาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อเด็กและสิทธิของพวกเขาได้
หลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศโลกใต้ เชื่อว่าระบอบพหุภาคีนั้นล้มเหลวในการจัดการกับความท้าทายหลัก ๆ และไม่ตอบโจทย์โลกที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวร่วมและพันธมิตรระหว่างประเทศเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลเชิงบวกหรือเชิงลบกับเด็ก เช่น กลุ่มพันธมิตรขนาดเล็กสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่ติดขัดอยู่ในเวทีระดับโลกได้ แต่การมีหลายกลุ่มพันธมิตรอาจทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วของประเทศขนาดเล็กและด้อยพัฒนามีน้อยลงไปอีก
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- ประชาคมระหว่างประเทศต้องคว้าโอกาสของการประชุมสุดยอด Summit of the Future ของสหประชาชาติในเดือนกันยายนปี 2567 เพื่อต่ออายุข้อผูกพันของระบอบพหุภาคีที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และปฏิรูปธรรมาภิบาลด้านสันติภาพและความมั่นคงระดับโลก
- ระบอบพหุภาคี ซึ่งรวมถึงสหประชาชาติ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ องค์กรระดับภูมิภาค ข้อตกลงระดับพหุภาคีกลุ่มเล็ก และองค์กรอื่น ๆ ควรรวมเอาสิทธิเด็กและผลประโยชน์ของเด็กเข้าไว้ในนโยบาย โครงการและข้อตกลงต่าง ๆ
- เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการตัดสินใจและการปรับโฉมของระบอบพหุภาคี
4. ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนายังคงเผชิญกับความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจำกัดความสามารถของประเทศเหล่านี้ในการลงทุนเพื่อเด็ก แต่การปฏิรูปแนวทางเป็นการให้กู้ยืมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้เกิดความหวัง
ความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างในการจัดหาเงินทุนระหว่างประเทศจะยังคงจำกัดการลงทุนเพื่อเด็กของประเทศกำลังพัฒนาในปี 2567 นี้ ภาระหนี้ที่มากเกินไป ค่าใช้จ่ายในการโอนเงินที่สูง การพึ่งพานโยบายการเงินทางเศรษฐกิจที่คาดเดาไม่ได้มากจนเกินไป และการขาดเสียงในการกำกับดูแลทางการเงินส่งผลด้านลบต่อประเทศที่ยากจน วิกฤตหนี้ที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ผ่านการจัดสรรงบประมาณที่เข้มงวดและโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมที่อ่อนแอลง
การยกเครื่องการกำกับดูแลและความสามารถในการให้กู้ยืมของสถาบันการเงินระหว่างประเทศเป็นความพยายามในการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปี 2567 แนวทางที่มีหลายแง่มุมเป็นสิ่งจำเป็นในแก้ไขปัญหาหนี้ที่ซับซ้อนซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเผชิญอยู่ และการปฏิบัติทางการเงินที่รอบคอบและมีความรับผิดชอบ การเพิ่มการลงทุนทางสังคม การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมกลไกทางการเงิน และมาตรการนโยบายที่สมดุลที่ควบคุมอัตราเงินเฟ้อในขณะที่ยังคงให้เข้าถึงการเงินที่ยั่งยืนจะเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จ
สิทธิประโยชน์เพื่อเด็กอาจรวมถึงการลดความยากจนขั้นรุนแรงได้เร็วขึ้น การใช้จ่ายด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้น จำนวนเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดที่ลดลง และโอกาสการในการมีงานทำของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น แต่การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นต่อระบบการเงินระดับโลกที่ครอบคลุมมากขึ้น
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- ประชาคมระหว่างประเทศควรคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็ก ระหว่างกระบวนการปฏิรูปการเงินโลก
- การปฏิรูปที่นำเสนอต้องมาพร้อมกับความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา และรักษาสมดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการหนี้
- ประชาคมระหว่างประเทศสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพิ่มเติมด้วยการปรับปรุงโครงสร้างการชำระเงินระหว่างประเทศให้ทันสมัย และการพัฒนาการเงินดิจิทัลที่ก้าวหน้า
- การปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินระดับโลกควรมีสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางการเงินกับศักยภาพในการพัฒนาในระยะยาว
5. ประชาธิปไตยทั่วโลกโลกจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเกิดจากข้อมูลบิดเบือนและระดับความรุนแรงทางการเมืองที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม พลังบวก ซึ่งรวมถึงที่นำโดยเด็กและเยาวชน อาจยังคงช่วยฟื้นฟูความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยได้
การถดถอยของประชาธิปไตยและความไม่พอใจของเยาวชนต่อระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ในขณะที่หลายประเทศมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญในปี 2567 นี้ มีแนวโน้ม 2 ประการที่น่ากังวล
ประการแรก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทางด้านภาษาและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้นำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ในการบิดเบือนข้อมูลที่เป็นอันตราย ซึ่งสามารถสร้างข้อความที่น่าเชื่อถือและภาพที่สมจริงได้อย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ผลกระทบของข้อมูลบิดเบือนและเทคโนโลยีต่อประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปี 2567 นี้ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้คน 4 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง
ประการที่สอง ความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบแม้กระทั่งต่อประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงแล้ว จาก 50 ประเทศที่เผชิญกับความรุนแรงทางการเมืองในระดับที่เลวร้ายที่สุด ครึ่งหนึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ 'เสรี' หรือ 'เสรีบางส่วน' ตามการจัดหมวดหมู่ขององค์กรฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House)
เด็ก ๆ และคนหนุ่มสาวกำลังกลายเป็นพลเมืองในยุคแห่งความไม่แน่นอน พวกเขาอาจถูกชักนำให้เข้าใจผิดจากข้อมูลที่บิดเบือน และมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริการสาธารณะต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน พวกเขายังคงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชน นำมาซึ่งความหวังในการรื้อฟื้นการถกประเด็นสาธารณะให้กลับมาคึกคัก และการฟื้นฟูความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตย
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- รัฐบาล พร้อมด้วยบริษัทเทคโนโลยี สื่อสารมวลชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม รวมถึงเยาวชน ควรเคลื่อนไหวในการปรับโฉมของการถกประเด็นสาธารณะ เพื่อรักษาเสรีภาพในการแสดงออกและความถูกต้องของข้อมูล
- รัฐบาลต้องลงทุนในการศึกษาของพลเมือง จัดให้มีพื้นที่ที่ดีกว่านี้สำหรับเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และการเข้าถึงโครงสร้างประชาธิปไตยที่มีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน
- รัฐบาลต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าคนหนุ่มสาวมีการเคลื่อนไหวการทางการเมืองอย่างไร และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา
6. การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสีเขียวอันฉับไว ซึ่งกำลังพลิกโฉมตลาดแร่และแรงงานที่สำคัญ หากได้รับการจัดการร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ๆ
ในปี 2567 นี้ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวอย่างรวดเร็วจะดำเนินต่อไป โดยได้รับแรงผลักดันจากความผันผวนในตลาดพลังงาน การเติบโตในการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และความจำเป็นเชิงนโยบาย เช่น การพัฒนาของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions หรือ NDC)
การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียวอันรวดเร็วนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงเช่นกัน ในด้านหนึ่ง แรงงานที่มีทักษะในตลาดงานสีเขียวจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียวนั้นต้องการต้องการแร่ธาตุจำนวนมหาศาลทำให้การทำเหมืองแร่ขยายตัว และเพิ่มแรงกดดันต่อการค้าโลก
ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจะต้องดิ้นรนทำให้การเปลี่ยนแปลงมาสู่พลังงานสีเขียวในราคาที่เหมาะสมและทันท่วงที เว้นแต่จะมีการบริหารจัดการในลักษณะที่ครอบคลุม ยุติธรรม และโปร่งใส เด็ก ๆ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสิทธิ สวัสดิภาพ และโอกาสในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสีเขียวอย่างรวดเร็วอาจทำให้เด็ก ๆ ในชุมชนเหมืองแร่ต้องเผชิญกับแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นอันตรายและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านอันรวดเร็วนั้นจะเปลี่ยนโอกาสของคนหนุ่มสาวในการทำงานในระบบเศรษฐกิจสีเขียว และทำให้เราต้องทบทวนความต้องการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมทักษะใหม่
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- การเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานสีเขียวอันรวดเร็วจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็น แร่ธาตุที่มีเหลืออยู่ในขั้นวิกฤต ความร่วมมือระหว่างประเทศที่มากขึ้น การกระจายตัวของตลาดและเจตจำนงทางการเมืองที่ลดลง
- การดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่ากรอบการกำกับดูแลและมาตรฐานขององค์กรจะพิจารณาประเด็นเรื่องสิทธิเด็ก
- โอกาสที่ครอบคลุมสำหรับคนหนุ่มสาวในการสร้างทักษะใหม่ ๆ และเข้าถึงงานสีเขียวมีความสำคัญอันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่
- ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาแนวทางการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนสู่การงานสีเขียวแบบมองภาพรวม และตลอดทั้งวงจรชีวิตของเด็ก
7. ปรากฏการณ์เอลนีโญ โรคที่มียุงเป็นพาหะ และ การขาดแคลนน้ำ จะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ แต่การทำงานร่วมกันมากขึ้น การดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะบรรเทาผลกระทบด้านลบและปกป้องพวกเด็ก ๆ ได้
ตลอดปี 2567 นี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังคงเป็นภัยคุกคามมากมายต่อสุขภาพและโภชนาการของเด็ก โดยภัยที่สำคัญสามอย่างคือ: ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง การระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนน้ำ ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2567 นี้ อาจร้อนกว่าและเป็นอันตรายต่อผู้คนและโลกมากกว่าเมื่อปี 2566 หลังจากเกิดวิกฤตหลายด้าน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพ ความมั่นคงทางอาหาร และความยากจนทวีความรุนแรงขึ้น
การระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออกและมาลาเรีย เกิดขึ้นถี่ขึ้นและเกิดขึ้นในสถานที่ใหม่ ๆ ส่งผลให้ความคืบหน้าของการอยู่รอดและสุขภาพของเด็กต้องถดถอยไปหลายปี การขาดแคลนน้ำซึ่งรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กทั่วโลก แม้แต่เด็กในประเทศที่มีรายได้สูง ภายในปี 2593 ผู้คน 4.3 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งและเป็นภูมิภาคที่มีความตึงเครียดจากการขาดแคลนน้ำในระดับสูง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึงหนึ่งพันล้านคน การเข้าถึงน้ำที่สะอาดและปลอดภัยเป็นพื้นฐานสำคัญต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก
ภัยคุกคามทั้งสามนี้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อเด็ก ซึ่งรวมถึงภาวะขาดน้ำ โรคภัยไข้เจ็บ ภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาการที่บกพร่อง บาดแผลทางจิตใจจากการพลัดถิ่น และการเสียชีวิต เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของภัยคุกคามซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดนเหล่านี้และความเปราะบางของประเทศที่มีรายได้น้อย ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาความเสี่ยงด้านสุขภาพและโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับเด็ก
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- รัฐบาลจำเป็นต้องนำแนวทางด้านสุขภาพและการแก้ปัญหาแบบบูรณาการมาใช้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มุ่งเน้นไปที่การป้องกัน และยึดข้อมูลจากงานวิจัยและพัฒนา และเน้นย้ำถึงความร่วมมือและนวัตกรรมระดับโลก
- ระบบเตือนภัยล่วงหน้าจำเป็นต้องได้รับการเสริมความเข้มแข็งควบคู่ไปกับการเข้าถึงวัคซีน มุ้ง และน้ำสะอาดที่มากขึ้น เพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศ
- การปรับตัวและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ๆ จะต้องเป็นแกนหลักของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
8. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ ก่อให้เกิดความกลัวและความกังวลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก แต่นโยบายเชิงรุกและความร่วมมือทางดิจิทัลในระดับโลกสามารถทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการออกแบบและการกำกับดูแลที่มีความรับผิดชอบ
สภาพแวดล้อมทางดิจิทัลยังคงกำหนดทิศทางชีวิตของเด็ก ๆ ต่อไป ความก้าวหน้าต่าง ๆ เช่น AI นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการเรียนรู้ การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาของเด็ก แต่เทคโนโลยีใหม่ก็นำความเสี่ยงมาให้กับเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน การสร้างสมดุลในการกำกับดูแลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญในปี 2567 นี้ ด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ:
ประการแรก ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเทคโนโลยีที่พลิกพฤติกรรมผู้คนกำลังขับเคลื่อนแนวทางการกำกับดูแลเชิงรุกและรวดเร็ว กฎระเบียบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก เนื่องจากพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับ AI ในหลายด้าน และเด็ก ๆ เริ่มรับรู้ได้ถึงผลกระทบด้านลบของ AI ที่ปราศจากการตรวจสอบได้ตั้งแต่ตอนนี้ และตลอดชีวิตของพวกเขา
ประการที่สอง สังคมกำลังต่อต้านอิทธิพลของเทคโนโลยี ทำให้เกิดความต้องการในการพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบ การนำไปใช้งาน และการกำกับดูแลเทคโนโลยี ในอดีต หน่วยงานกำกับดูแลมักหลีกเลี่ยงการปิดกั้นนวัตกรรมในช่วงที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่การตระหนักถึงด้านลบของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าเราต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทาง
ประการที่สาม การทำเรื่องเทคโนโลยีเป็นประเด็นทางการเมืองจะเป็นอุปสรรคการลดความแตกแยกและสร้างความเห็นพ้องในเรื่องธรรมาภิบาลดิจิทัล และเมื่อพูดถึงเรื่องธรรมาภิบาลดิจิทัล ความตึงเครียดระหว่างประเทศต่าง ๆ มักเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าสิทธิเด็ก ส่งผลให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงจากเทคโนโลยีเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงจากเทคโนโลยี AI ด้วย กฎระเบียบที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางสามารถปกป้องผู้ใช้เทคโนโลยีรุ่นเยาว์จากผลกระทบด้านลบได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่เข้มงวดเกินไปอาจจำกัดโอกาสบนโลกออนไลน์ และจำกัดการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการพัฒนานโยบายและเทคโนโลยี
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
- นโยบายและความร่วมมือด้านดิจิทัลจะต้องให้ความสำคัญกับเด็ก สอดคล้องกับประสบการณ์ดิจิทัลที่พวกเขามี และตอบสนองความต้องการและความหวังของพวกเขาอย่างแท้จริงโดย:
- ส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัลด้วยการมอบทักษะดิจิทัลและการเข้าถึงอย่างมีความหมาย และกำหนดให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เข้าร่วมรับผิดชอบในการลดความเสี่ยง
- มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับเด็กและเยาวชนในการพัฒนานโยบายและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีความหมายและต่อเนื่อง
- ใช้วิธีมองไปยังอนาคตร่วมกับเด็กและเยาวชน สร้างแผนที่แนวทางดิจิทัลในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้การกำหนดนโยบายที่มีความเหมาะสมกับยุคสมัยของเรา