ก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษา

นวัตกรรมเสริมศักยภาพการเรียนรู้นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์

UNICEF Thailand
ครูเก้ กับการสอนเด็กนักเรียนในห้องเรียนบ้านห้วยฟาน อ.ขุนยวม โดยใช้สื่อฉากภาพวัฒนธรรม
มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ Foundation for Applied Linguistics (FAL)
12 มีนาคม 2024

ผอ.พะนอรา ดิแฮ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษา อ.เมือง แม่ฮ่องสอน และเป็นคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เกิดที่บ้านห้วยโป่งกาน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกว่าเป็นคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เป็นลูกคนที่สาม จากพี่น้องทั้งหมด 4 คน และเป็นเพียงคนเดียวในบรรดาพี่น้องที่ได้เรียบจบครู และทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษามาหลายด้านจนถึงปัจจุบัน 

ก่อนที่จะมาเป็น ผอ.โรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน ผอ.พะนอรา เคยเป็น ผอ.โรงเรียนบ้านหนองเขียว อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนมา 14 ปีเต็ม 

การทำงานคลุกคลีกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทำให้ผอ.พะนอราได้เห็นสถานการณ์ที่แท้จริง จึงมีความตั้งใจอยากจะพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ยากลำบาก และ ห่างไกลบนดอยสูง ที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรงเรียนของหนู” ซึ่งเด็กส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้มีภาษาแม่เป็นภาษาไทย เมื่อท่านได้รับตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จึงพบว่านอกเหนือจากความทุรกันดาร การเดินทางยากลำบาก ห่างไกลสิ่งอำนวยความสะดวกแล้วนั้น ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และในอีกหลายพื้นที่ คือ ปัญหาในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียนรัฐบาล เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยสื่อสารเป็นหลัก ครูพูดภาษาของเด็กไม่ได้ และ ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้เชื่อมช่องว่างระหว่างภาษาแม่ และ สื่อการสอน หรือ สอนโดยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ส่งผลให้เด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางภาษามักจะถูกผลักออกจากระบบก่อนกำหนด และ เด็กกลุ่มนี้มักไม่มีความมั่นใจในการแสดงออก และไม่มีการฝึกฝนทักษะการคิดระดับสูง จึงไม่น่าแปลกใจที่มีเด็กอายุ 7-14 ปีเพียงร้อยละ 52  จากครอบครัวที่ไม่ได้พูดภาษาไทยนั้น ที่สามารถอ่านและคำนวณขั้นพื้นฐานได้ ตามที่ระบุในเอกสารข้อมูลการศึกษาของประเทศไทยปี 2565 ขององค์การยูนิเซฟประเทศไทย อีกทั้งปัญหา อัตราการโยกย้ายครูที่สูง และ ผลการเรียนต่ำ 

นับตั้งแต่ปี 2548 ยูนิเซฟได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานการศึกษาท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาภายในแนวคิด “โรงเรียนหย่อมบ้าน” ซึ่งประกอบด้วย “ห้องเรียน” ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนกระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์หลายพันคนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ

เด็กนักเรียนห้องเรียนบ้านห้วยฟาน อ.ขุนยวม
มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ Foundation for Applied Linguistics (FAL)

โรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีโรงเรียนหย่อมบ้านทั้งหมด 4 โรงเรียน ประกอบด้วยห้องเรียนสาขา 27 แห่งตั้งอยู่ในอ.เมือง, อ.ปางมะผ้า, อ.ปาย และ อ.ขุนยวม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย   โรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ห่างไกล บ้างอยู่ในหุบเขา และ เดินทางลำบาก เด็กนักเรียนในพื้นที่ทั้งหมด 677 คน มีหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ลาหู่ และ ไทยใหญ่ ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องการใช้ภาษาไทย จึงมีปัญหาในการเรียนในหลักสูตรภาษาไทย ทำให้ผลการเรียนออกมาไม่ค่อยดีนัก การใช้หลักสูตรทวิ/พหุภาษา โดยมีภาษาแม่เป็นฐาน จึงเป็นสิ่งที่ ผอ.พะนอราสนใจว่าจะเป็นเครื่องมือที่เข้ามาเชื่อมกับภาษาแม่ หรือภาษาถิ่นที่เด็กใช้กับภาษาไทย ช่วยลดช่องว่างทางภาษา และการเรียนรู้ทางการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นมา และยังคงความภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง ทั้งด้านภาษา และวัฒนธรรม

โรงเรียนหย่อมบ้านดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องการศึกษาทวิ/พหุภาษาโดยมีภาษาแม่เป็นฐาน เป็นซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างยูนิเซฟและมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ Foundation for Applied Linguistics (FAL) เพื่อเพิ่มความพร้อมของครูและวัสดุให้เพียงพอ จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น เช่น สื่อในการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนภาษาแม่ และ การศึกษาแบบหลายภาษา และ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น

ผอ.พะนอรา ดิแฮ (คนเสื้อสีเข้มทางซ้ายของรูป) ถ่ายกับเด็กนักเรียนที่บ้านนาเจ็ดล็อค
มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ Foundation for Applied Linguistics (FAL)

การทดลองหลักสูตรทวิ/พหุภาษาโดยมีภาษาแม่เป็นฐานมาใช้กับโรงเรียนนำร่อง 4 โรงเรียนเป็นเวลาประมาณ 1 ปี คุณครูและผู้อำนวยการโรงเรียนต่างสังเกตเห็นพัฒนาการของเด็กนักเรียนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนรู้และการแสดงออก

“ทวิพหุภาษาเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ใช้เชื่อมกับภาษาของเด็กชาติพันธุ์กับภาษาไทยได้อย่างดี ช่วยครูได้มาก ช่วยลดช่องว่างทางภาษา และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก” ผอ.พะนอรา กล่าว “และอีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากขึ้น คือ ความมีชีวิตชีวาในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ขี้อาย และกล้าแสดงออก การตอบสนองกับครูผู้สอนดีมากขึ้น และ รักการอ่านมากขึ้นด้วย”

ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้มีเพียงแค่ในพื้นที่ของโรงเรียนเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ยังมีโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอื่นที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 

ครูภัคกับการสอนหนังสือรูปภาพ ณ ห้องเรียนบ้านนาจลอง อ.ปาย
มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ Foundation for Applied Linguistics (FAL)

ผอ.ธีระพงษ์ วงค์ไชย อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษา อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก็ได้พูดถึงพัฒนาการของที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของเด็ก ๆ ในอำเภอปายโดยเฉพาะที่ห้องเรียนบ้านหมากพริกหลังจากที่มีการนำเอาหลักสูตรทวิพหุ/ภาษามาใช้ในโรงเรียนหย่อมบ้าน  “เมื่อก่อนเราไม่มีครูถิ่นที่พูดภาษาของเด็กได้ พอเรามีครูถิ่นที่สามารถพูดสื่อสารกับเด็กด้วยภาษาแม่ของเด็ก เด็กดูมีความกระตือรือร้นมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น ดูมีความสุขกับการเรียน”

ซึ่งไม่ต่างจากเสียงสะท้อนจากครูสิริรัตน์ กล้าณรงค์ชีพยวม และ ครูภัคจิรา วรรณวงค์จากอำเภอปาย โดย ครูสิริรัตน์ หรือ ครูเก้ ซึ่งเป็นคุณครูชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากโรงเรียนหย่อมบ้านที่ได้เล่าถึงพัฒนาการที่เปลี่ยนไปของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในห้องเรียนว่า “หลังจากที่ได้สื่อของทวิ/พหุภาษาฯ มาใช้กับเด็กในห้องเรียน เด็กทุกคนชอบมาก ชอบยืมหนังสือเล่มใหญ่ไปอ่าน เด็ก ๆ มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการมากขึ้น และยังชอบที่จะมาห้องเรียนในทุก ๆ วัน” ในขณะที่ครูภัคจิรา หรือ ครูภัคของเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ที่ห้องเรียนนาจลองได้สะท้อนถึงผลการเปลี่ยนในเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนว่า “เด็กสามารถอ่านหนังสือได้ดีขึ้น มีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น ทำให้การอ่านไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อ แม้ว่าการเขียนอาจจะยังมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ถ้าได้เรียนอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก”
 

ผอ.ธีระพงษ์ วงค์ไชย อดีต ผอ.โรงเรียนเขตพื้นที่   อ.ปาย (คนที่สามจากทางซ้ายมือ) ณ ห้องเรียนบ้านหมากพริก
มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ Foundation for Applied Linguistics (FAL)

พัฒนาการที่ดีขึ้นของเด็กนักเรียน ผนวกกับรอยยิ้มและความภาคภูมิใจในภาษาอันเป็นอัตลักษณ์ที่สวยงามของกลุ่มชาติพันธุ์ และความสุขที่เด็ก ๆ มีกับการเรียน ตลอดจนความกล้าแสดงออกเพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า โครงการนำร่องทวิ/พหุภาษาฯ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมช่องว่างทางภาษา และพัฒนาการเหล่านี้ทำให้ครูมีความตั้งใจที่จะนำเอาทวิ/พหุภาษาฯไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กทุกคนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีอนาคตที่สดใส