Force for Change
เสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลง: ผู้ลี้ภัยในเมืองในประเทศไทย

- English
- ไทย
เช้าวันเสาร์ปลายเดือนมกราคม เด็กผู้ลี้ภัย 15 คนมารวมตัวกันที่สำนักงานยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ความหวัง และความท้าทายในชีวิตของพวกเขาให้เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนได้รับรู้ งานนี้จัดขึ้นภายใต้ชื่อ Force for Change ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ HOST International Thailand และยูนิเซฟ และถือเป็นครั้งแรกที่เด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองของไทยได้มีเวทีสะท้อนความคิดเห็นต่อผู้กำหนดนโยบายโดยตรง
เด็กกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 1,800 คน จากกว่า 40 เชื้อชาติ (ไม่นับรวมผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา) ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พวกเขาและครอบครัวต้องหลบหนีจากการประหัตประหาร การเลือกปฏิบัติ และความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิด และกำลังรอการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามภายใต้การดำเนินงานของ UNHCR

“ผมเรียนที่โรงเรียนไทย แม้ว่าผมเรียนจริงจัง แต่สุดท้ายเวลาผมเรียนจบ ผมจะไม่ได้รับวุฒิการศึกษา” ซามีกล่าว เขาตั้งใจเรียน มีผลการเรียนดี และพยายามเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อใช้เมื่อย้ายไปประเทศที่สาม “ผมอยากให้มีการอนุมัติเกี่ยวกับการออกใบจบการศึกษา เพราะถ้าไม่ได้รับใบจบการศึกษา ก็อาจจะไม่สามารถทํางานต่อได้”
แม้กฎหมายและนโยบายของไทยอนุญาตให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายหรือไม่ มีสิทธิ์เข้าเรียนและได้รับวุฒิการศึกษา แต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนบางแห่งยังขาดความตระหนักและขาดความพร้อมในการรองรับนักเรียนต่างชาติ
ปัญหาของซามีไม่ได้เกิดขึ้นกับเขาเพียงคนเดียว เด็กผู้ลี้ภัยจำนวนมากเผชิญกับการถูกกีดกันจากสังคมและการกลั่นแกล้งในโรงเรียน นอกจากนี้ ความหวาดกลัวต่อการถูกจับและความไม่แน่นอนในอนาคตยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและชีวิตประจำวันของพวกเขา

เรื่องราวของโซเฟีย: การต้องแยกจากครอบครัว
โซเฟีย (นามสมมติ) วัย 16 ปี เป็นหนึ่งในเด็กผู้ลี้ภัยที่อพยพออกจากเวียดนามพร้อมครอบครัวด้วยเหตุผลด้านศาสนา เธอเล่าถึงประสบการณ์ช่วงที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลไทยจะลงนามใน บันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ในปี 2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กข้ามชาติ โดยไม่กักตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไว้ในสถานกักตัวฯ
“หนูเคยเป็นเด็กผู้ลี้ภัยที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตื่นเช้าไปโรงเรียนทุกวันโดยไม่ต้องกังวลอะไรเลย จนกระทั่งวันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป” โซเฟียเล่า
เช้าวันหนึ่ง ตำรวจและทหารล้อมรอบบ้านของเธอ แม้ว่าครอบครัวจะมีบัตรถูกต้อง แต่พวกเขาก็ถูกควบคุมตัว
“หนูเห็นพ่อถูกใส่กุญแจมือและถูกพาไป ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) หนูร้องไห้ไม่อยากให้พ่อโดนจับ ทุกคนร้องไห้ และหนูกับพ่อแม่และน้องถูกจับแยกกัน”
โซเฟียถูกส่งไปอยู่ในบ้านพักเด็กหญิงฯ ส่วนน้องชายของเธอถูกส่งไปที่บ้านพักเด็กชาย เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัวเป็นเวลานานเกือบปี
“หนูกับพ่อแม่และน้องถูกแยกจากกันหมด ตั้งแต่วันที่เขาจับแยกไม่เคยได้เจอพ่อกับแม่เลย และไม่ได้เจอน้อง หนูนอนไม่หลับ ร้องไห้ทุกคืน”

ข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง
งานนี้ไม่ใช่แค่เวทีเล่าเรื่อง แต่เป็นการส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวชื่นชมความกล้าหาญของเด็ก ๆ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่เช่นนี้
“ที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ไม่ว่าพวกเราจะเป็นใครหรือมาจากไหน” ปริญญากล่าว “เสียงของเด็กทุกคนที่นี่คือแรงบันดาลใจให้พวกเราทำงานหนักขึ้น”
ในงานนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาร่วมรับฟังปัญหาที่เด็ก ๆ สะท้อนออกมา และตระหนักถึงช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบาย
"มนุษย์ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม" ทรงกลด ขาวแจ้ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานนโยบายผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง กองการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กล่าว "ประเทศไทยยืนยันในหลักการว่าเราให้การบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้แก่คนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ในแง่ของการปฏิบัติเรายังมีช่องว่างอยู่มาก...ซึ่งก็เป็นการย้ำเตือนสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐว่าเราต้องทำให้ดีขึ้นเพื่อรักษามาตรฐานที่เราได้ให้คำมั่นไว้"
ในตอนท้ายเด็กผู้ลี้ภัยได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมาย คุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ไม่มีผู้ปกครองและเด็กที่พลัดพรากจากครอบครัว รับรองการเข้าถึงการศึกษา บริการสุขภาพ ทักษะชีวิตและโอกาสการจ้างงาน ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมและการมีส่วนร่วม ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายและนโยบาย

"เด็กทุกคนสมควรมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย รวมถึงสถานะทางกฎหมาย เพื่อให้เรารู้สึกมั่นคงและปลอดภัยจากความกลัว...เยาวชนทุกคนรวมถึงเด็กผู้ลี้ภัยสมควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้ เติบโตและสร้างอนาคตที่ดีกว่า...พวกเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม"
งานในวันนั้นจบลงด้วยข้อความแห่งความหวังและพลังใจ โดยเด็ก ๆ ต่างมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามความยากลำบากและสร้างอนาคตที่ดีขึ้น Force for Change ได้ย้ำเตือนทุกคนว่า เด็กผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่ตัวเลขทางสถิติหรือเหยื่อของโชคชะตา แต่พวกเขาคือบุคคลที่มีความฝัน ความสามารถ และศักยภาพในการสร้างสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน