ห้องเรียนกลางแจ้ง: ที่ไหนมีครู ที่นั่นมีการเรียนการสอน

โควิด-19 ไม่สามารถหยุดการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้

พีรยา อภิรัชต์กุล
กลุ่มเด็กยืนชูมือที่ถือสบู่และสมุดภาพระบายสีท่ามกลางลานกลางแจ้ง
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich
11 มิถุนายน 2021

ในวันเสาร์เวลาบ่ายแก่ ๆ ที่อากาศร้อนระอุ ณ ลานโล่งตรงข้ามกับแฟลตซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติในซอยท่าข้าม เขตบางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพมหานคร เด็ก ๆ กว่า 20 ชีวิตกำลังวิ่งเล่นกลางแดดอย่างไม่รู้จักเหนื่อย ไม่รู้จักร้อน ระหว่างรอคุณครูจากศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติภายใต้มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) วันนี้เป็นวันแรกที่คุณครูและเจ้าหน้าที่จาก มยช. ลงพื้นที่ในชุมชน เพื่อทำการเรียนการสอนนอกสถานที่ หลังจากที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ถูกปิดยาวนานหลายเดือนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกสองของโรคโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับเขตบางขุนเทียน

สถานการณ์โควิดส่งผลต่อชุมชนนี้อย่างไร

เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับไปประเทศบ้านเกิดได้ ทั้งโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ฯ ถูกสั่งปิด เด็ก ๆ ทำได้เพียงอยู่บ้านเฉย ๆ ขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ เพราะไม่ใช่ทุกบ้านที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ญาณินี ขำคีรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มยช. หรือที่เด็ก ๆ รู้จักกันในนาม ครูอ้อ เล่าให้ฟังว่า

“เมื่อพ่อแม่ที่เป็นแรงงานไปทำงาน เด็กจะถูกปล่อยไว้ในที่พัก บางคนอาจโชคดีที่พ่อแม่ทำงานกันคนละกะ เมื่อคนหนึ่งไปทำงานอีกคนก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ แต่บางคนเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ให้พี่คนโต อายุ 8 ขวบ ดูแลน้องคนเล็ก อายุ 3 ขวบ วิ่งเล่นกันอยู่ในชุมชน ไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ทำให้เด็กไม่ปลอดภัยและไม่ได้รับการพัฒนาตามวัยอย่างเหมาะสม มีบางบ้านที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี การเรียนออนไลน์จึงไม่เหมาะกับเด็กเล็กเท่าไรนัก”

เด็กในกลุ่มที่เปราะบางที่สุดและเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทางไกลได้ มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะไม่ได้กลับไปเรียน หรือออกจากโรงเรียนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ บางคนอาจถูกบังคับให้แต่งงาน หรือถูกใช้แรงงานได้ การปิดเรียนเป็นเวลานานจึงส่งผลกระทบอย่างมากกับเด็ก ยูนิเซฟจึงทำงานร่วมกับ มยช. เพื่อหาวิธีให้การเรียนของเด็ก ๆ ไม่ขาดตอน

กลุ่มคนสวมหน้ากากชูขวดสบู่เหลวด้วยความดีใจ
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich
กล่องลังที่เต็มไปด้วยชุดสุขอนามัย
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich

โครงการพัฒนาทักษะ และสุขภาวะของเด็กข้ามชาติ
เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

“ตอนนั้นเรายังไม่ทราบว่ากทม.จะเปิดเทอมหรือเปล่า แต่ว่าศูนย์การเรียนรู้ของเราต้องชะลอการเปิดแน่ ๆ และเราไม่สามารถให้เด็กอยู่เฉย ๆ ได้ในชุมชน เราเลยตัดสินใจว่าจะลงพื้นที่ เราได้พูดคุยกับทางยูนิเซฟ และเห็นตรงกันว่า ควรจะมีกิจกรรมอะไรบางอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ลงไปทำกับเด็กในชุมชน โครงการนี้เลยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อมีการสนับสนุนจากยูนิเซฟ” ครูอ้อกล่าว

โครงการพัฒนาทักษะ และสุขภาวะของเด็กข้ามชาติ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์การยูนิเซฟ และมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท โดยลงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ในชุมชน 7 แห่ง ที่มีเด็กอาศัยอยู่หนาแน่น ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ชุมชนในเขตบางบอน-บางขุนเทียน และอีกแห่งคือศูนย์การเรียนตอวิน เขตรังสิต คุณครูและเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ในวันอาทิตย์ เพื่อให้เด็กที่เรียนในโรงเรียนรัฐบาลซึ่งเปิดเทอมแล้ว และผู้ปกครองที่ทำงานในวันจันทร์-เสาร์ สามารถมาเข้าร่วมได้ ในแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 20-25 คน แบ่งเป็นเด็กเล็กประมาณ 10 คน เด็กโตและผู้ปกครองประมาณ 10 คน

เด็กผู้ชายช่วยเด็กผู้หญิงสวมหน้ากากอนามัย ทั้งคู่นั่งอยู่บนพื้น
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich

สิ่งแรกที่เด็ก ๆ ได้รับ คือใบทดสอบความรู้เรื่องโรคโควิด-19 เพื่อที่จะสามารถวัดได้ผลได้ว่า ก่อน-หลัง ร่วมกิจกรรมเด็ก ๆ มีความรู้ที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน หลังการทดสอบความรู้เบื้องต้น คุณครูพาเด็ก ๆ ทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม นั่นก็คือ การละเล่นพื้นบ้าน “ตีไก่” ซึ่งโดยปกติ เด็ก ๆ ต้องนั่งยอง ๆ มือประสานกันไว้ใต้ข้อพับขาเหมือนกับไก่ แล้วใช้ลำตัวชนฝ่ายตรงข้ามให้ล้ม แต่กติกาในวันนี้แตกต่างไปจากเดิม เพราะเจ้าไก่น้อยไม่สามารถโดนตัวกันได้ เนื่องจากต้องเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย จึงกลายเป็นกีฬาฝึกความอดทนของไก่แทน ใครนั่งคู้เป็นไก่ได้นานกว่าก็ชนะไป เรียกว่าเป็นทั้งการละลายพฤติกรรม และสร้างกล้ามเนื้อให้ เด็ก ๆ ออกกำลังกายไปในตัว

เด็กผู้หญิงสองคนนั่งยองๆ บนพื้นหญ้าเว้นระยะห่างกันสองเมตร
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich
เด็กผู้หญิงสองคนกำลังนั่งอยู่บนพื้นระบายสีสมุดกิจกรรม
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich

เมื่อจบการเล่นตีไก่ เด็ก ๆ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือเด็กเล็กและเด็กโต กลุ่มเด็กเล็ก จะไปเรียนรู้เรื่องการดูแลป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 โดยมีคุณครูและพี่ ๆ ชั้นโตกว่าคอยให้คำแนะนำ ผ่าน 3 กิจกรรมย่อย นั่นก็คือ 1) ระบายสีสมุดกิจกรรมป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งจัดทำโดย ฉันคืออาสาสมัครยูนิเซฟ  2) ร้อยลูกปัดให้เป็นสายคล้องหน้ากากอนามัย 3) ปั้นดินน้ำมันรณรงค์ป้องกันโรคโควิด-19 นอกเหนือจากกิจกรรมเหล่านี้แล้ว มีการจัดนิทรรศการขนาดย่อม ให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และมีการเล่านิทานโควิดอีกด้วย

“เด็ก ๆ ชอบมากฟังนิทาน ทำให้เขารู้สึกว่าถึงไม่ได้ไปเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ ครูก็ยังมาดูแลอยู่ ได้มารวมกลุ่มกัน เจอเพื่อนๆ เจอครู ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย เด็ก ๆ ถามทุกวัน ว่าเมื่อไรจะได้ไปโรงเรียน ผู้ปกครองถามหนักกว่าอีก เพราะลูกอยู่บ้านทุกวัน พ่อแม่ต้องไปทำงาน ต้องจ้างเลี้ยงเดือนหนึ่งหลายพัน”

เด็กชายกำลังกวนสบู่เหลวในกะละมังพลาสติกขณะที่เด็กคนอื่นๆ กำลังมองดูอยู่
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich
มือหนึ่งถือขวด อีกมือกำลังกรอกสบู่เหลวจากกะละมังลงขวด
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich

สำหรับเด็กโตจะได้ฝึกทำสบู่เหลวสำหรับล้างมือ ระหว่างทำ คุณครูจะสอนเรื่องความสำคัญของการล้างมือ และวิธีล้างมือให้สะอาดไปด้วย นอกจากจะเป็นการสร้างสุขลักษณะนิสัยแล้วยังเป็นการต่อยอดให้เด็กและผู้ปกครองสามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้เพราะคุณครูบอกละเอียดถึงส่วนผสมและช่องทางการหาซื้อวัตถุดิบมาทำสบู่เหลว หลังจบกิจกรรม สบู่เหลวมีมากมายเพียงพอให้เด็กทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเอากลับไปล้างมือที่บ้านได้

โครงการพัฒนาทักษะฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากยูนิเซฟตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ครอบคลุมการลงพื้นที่  7 แห่ง ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนมิถุนายนจะสามารถเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้ตามปกติ แต่หากไม่เป็นดังนั้นจะมีการหารือเพื่อหาวิธีช่วยให้เด็ก ๆ ในทั้ง 7 พื้นที่สามารถเรียนรู้ได้ต่อไป

เมื่อการศึกษาพลิกชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ครูอ้อทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ที่ มยช. มากว่า 30 ปีแล้ว เมื่อถูกถามถึงเรื่องราวที่ประทับใจ ครูเล่าว่ามีเคสหนึ่งที่ย้ายทั้งครอบครัว จากประเทศเมียนมาร์มาอยู่ที่ประเทศไทย พ่อแม่ได้เข้าเรียน กศน. จนสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้ ส่วนลูก 2 คนมาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จนสามารถเข้าโรงเรียนรัฐบาลไทยที่อยู่ในเขตได้ เมื่อพวกเขามีความรู้ภาษาไทย จึงมีช่องทางในการหาเลี้ยงชีพมากกว่าคนอื่น แรงงานข้ามชาติที่มีความรู้ด้านภาษาไทยจะถูกยกระดับขึ้นโดยอัตโนมัติ จากการใช้แรงงานเพียงอย่างเดียวจะสามารถไปทำงานจดสต็อก หรือเป็นคิวซีควบคุมคุณภาพสินค้าได้ ภายหลังครอบครัวนี้ได้ออกจากโรงงาน มาทำงานเป็นนายหน้าให้กับบริษัทที่รับทำพาสปอร์ตต่อวีซ่า ปัจจุบันกลับไปเป็นเจ้าของธุรกิจที่เมียนมาร์ ส่งลูก ๆ เรียนโรงเรียนเอกชน คุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งครอบครัว

ผู้หญิงวัยกลางคนสวมเสื้อยืดองค์กรนั่งอยู่บนรถสองแถว
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich

“พี่ว่าทุกคนอยากกลับบ้านเกิด ถ้ามีช่องทาง มีความสามารถ มีศักยภาพพอ เขาไม่ได้คิดหรอกว่าจะได้กลับบ้าน แต่ในที่สุดก็ได้กลับ ได้ไปตั้งต้นเป็นเจ้าของกิจการมีอนาคตที่ดีขึ้น เป็นครอบครัวที่พี่รู้สึกว่าการศึกษาช่วยเขาได้เยอะ การอ่านออกเขียนได้ การรู้หนังสือ ทำให้เขามีทางเลือก”

“เท่าที่ทำงานมาเด็กจะเรียนรู้ได้ไวมากในเรื่องภาษา โดยเฉพาะเด็กเล็ก สามเดือน พูด ฟัง คุย กับครูรู้เรื่องแล้ว เก่งมาก ถ้าเขาอยู่แต่ในชุมชน เขาจะไม่ได้อะไรเลย เมื่อเด็กได้เรียนรู้ภาษาไทย ไปไหนมันก็ง่าย ซื้อของเองได้ เข้าโรงเรียนได้ง่ายมากขึ้น ทำให้เขารู้สึกไม่ลำบากจนเกินไปในการมาใช้ชีวิตในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา”

คุรครูกำลังสอนเด็กชายล้างมืออย่างถูกต้องกลางแจ้ง
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich
เด็กในเรียนสี่คนกำลังต่อแถวรอรับชุดสุขอนามัยจากคุณครู
UNICEF Thailand/2021/Preechapanich

แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวในหลายด้าน แต่ยังมีกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ทุ่มเทเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้แม้ในช่วงที่มีข้อจำกัด การที่รัฐบาลให้ครูกว่า 600,000 คนทั่วประเทศได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ถือเป็นความคืบหน้าที่คัญต่อการศึกษาของเด็ก ๆ เพราะการช่วยปกป้องบุคลากรกลุ่มนี้จากไวรัส ทำให้เด็ก ๆ สามารถกลับไปเรียนรู้ที่โรงเรียนตามปกติได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา

สมัครเลย