นมแม่แน่แค่หกเดือน จริงหรือ?

ทำอย่างไรจึงให้นมลูกได้ถึงสองปีหรือนานกว่า?

นภัทร พิศาลบุตร
คุณแม่กำลังให้นมลูกน้อย
UNICEF Thailand/2008/ChumSak
13 กุมภาพันธ์ 2019

ปัจจุบัน คุณแม่ยุคใหม่ได้หันมาให้ความสนใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น เนื่องจากได้ข้อมูลว่านมแม่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากมาย ทว่าหลายคนยังมีความเข้าใจว่านมแม่มีประโยชน์ในช่วงแค่ 6 เดือนแรกเท่านั้น ที่สำคัญ ยังมีแพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ยังให้คำแนะนำว่าให้หยุดนมแม่ และเสริมนมผงแก่ลูกหลัง 6 เดือน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนี้ ... แต่นมแม่ ดีแค่ 6 เดือนจริงหรือ? และหากคุณแม่อยากให้นมลูกนานกว่า 6 เดือน จะทำได้อย่างไร?

ประโยชน์ของนมแม่นั้นมากมาย เป็นทั้งอาหารชั้นเลิศของลูกน้อย เปรียบได้กับวัคซีนหยดแรก ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยให้ลูกฟื้นตัวเร็วหากเจ็บป่วย มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนมแม่กับการเพิ่มของไอคิวลูกน้อย อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกผูกพันและปลอดภัยให้แก่ลูกน้อย

สำหรับตัวคุณแม่เอง การให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และเบาหวาน อีกทั้งช่วยให้ประหยัดค่านมผง ค่ารักษาพยาบาลของลูก (เพราะลูกเจ็บป่วยน้อยลง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น)

องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดังนี้

  • ควรให้นมแม่ทันทีในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
  • ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
  • ควรให้นมแม่ต่อเนื่อง ควบคู่กับอาหารเสริมที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเหมาะกับอายุ ตั้งแต่เดือนที่ 6 ไปจนถึงลูกอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่า

คำแนะนำนี้ยังตอกย้ำว่า นมแม่ยังมีความสำคัญมากต่อเด็ก หลังจาก 6 เดือน และยังเป็นอาหารที่มีคุณค่ามากมาย มีงานวิจัยพบว่า ในช่วงเด็กอายุ 12-23 เดือน น้ำนมแม่ปริมาณ 15 ออนซ์ (ประมาณ 443 ซีซี) มีสารอาหารในสัดส่วนดังนี้ 1

  • 29% ของ พลังงาน ที่ต้องการต่อวัน
  • 43% ของ โปรตีน ที่ต้องการต่อวัน
  • 36% ของ แคลเซียม ที่ต้องการต่อวัน
  • 75% ของ Vitamin A ที่ต้องการต่อวัน
  • 76% ของ โฟเลต ที่ต้องการต่อวัน
  • 94% ของ Vitamin B12 ที่ต้องการต่อวัน
  • 60% ของ Vitamin C ที่ต้องการต่อวัน

ที่สำคัญ นมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ช่วยปกป้องเด็กจากการเจ็บป่วย หากเด็กได้รับนมแม่ต่อเนื่อง ก็จะยิ่งช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี

แต่เมื่อลูกโตขึ้น นมแม่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของลูก จึงต้องเสริมด้วยอาหารตามวัย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของลูก โดย

  • ในช่วงวัย 6-12 เดือน นมแม่ยังควรเป็นอาหารหลักของลูก และมีอาหารอื่นเสริม
  • ในช่วงวัย 12 เดือนขึ้นไป อาหารทั่วไปกลายเป็นอาหารหลักของลูก โดยมีนมแม่เสริม

แต่จะทำยังไงล่ะ เพื่อให้คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า 12 เดือน?

ยูนิเซฟได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์คุณแม่ซึ่งได้รับมอบประกาศนียบัตร ในฐานะที่เป็นคุณแม่ที่ให้นมลูกได้เกิน 2 ปี จากสมาพันธ์เครือข่ายนมแม่แห่งประเทศไทยมา จึงขอเก็บมาฝาก เพื่อได้ทราบถึงวิธีการ หรือความเห็นของคุณแม่เหล่านี้กัน

 

คุณสิราลักษณ์ คุณแม่พนักงานออฟฟิศ อายุ 35 ปี

 

คุณสิราลักษณ์ คุณแม่พนักงานออฟฟิศ อายุ 35 ปี
UNICEF Thailand

ถ้าแม่ตั้งใจ ยังไงก็มีนมให้ลูกกินแน่ๆ

สิราลักษณ์

คุณสิราลักษณ์ อายุ 35 ปี  คุณแม่ของน้องนีน่า อายุ 2 ปี 1 เดือน คุณสิราลักษณ์ทำงานบัญชี และลาคลอดสองเดือน คลอดที่โรงพยาบาลเอกชน ถึงแม้ว่าหมอจะสนับสนุนให้ลูกกินนมแม่ แต่พยาบาลไม่ค่อยสอนวิธีให้นมที่ถูกต้อง พอกลับบ้านก็เลยไม่สามารถเอาลูกเข้าเต้าได้สำเร็จ เลยต้องปั๊มนมอย่างเดียวตลอดมา แต่ก็ไม่ย่อท้อ หาข้อมูลเรื่องนมแม่จากแหล่งต่างๆ เช่น หนังสือของคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ  จนน้องนีน่าได้กินนมแม่ตลอดจนปัจจุบัน ผลที่ได้ก็คือน้องนีน่าแข็งแรงมาก บางครั้งคนทั้งบ้านไม่สบายแต่น้องก็ไม่ป่วยอยู่คนเดียว

คุณสิราลักษณ์ยังให้คำแนะนำคนรอบข้างที่กำลังมีลูกด้วย คุณสิราลักษณ์บอกว่า "ถ้าแม่ตั้งใจ ยังไงก็มีนมให้ลูกกินแน่ๆ แต่ที่สำคัญ อยากให้โรงพยาบาลเน้นนมแม่มากกว่านี้ ก็จะช่วยแม่ได้มาก นอกจากนี้ บุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์ก็สำคัญ เช่น เคยเจอเภสัชกรที่บอกว่า นมแม่หลัง 6 เดือนก็หมดประโยชน์แล้ว"

คุณสิราลักษณ์ ยังกล่าวด้วยว่า "ตอนคลอด ก็ได้รับนมผงจากโรงพยาบาลมาสองกล่อง แต่ก็ไม่ได้ใช้ เพราะเราตั้งใจให้นมแม่อยู่แล้ว คุณยายเลยเอาไปทานเสียเอง แต่แม่บางคนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะเอาไปใช้"

 

คุณกุลธิดา อายุ 34 ปี

 

เห็นได้ว่าลูกป่วยน้อยมาก 
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่อะไรก็ทดแทนไม่ได้

กุลธิดา
คุณกุลธิดา อายุ 34 ปี และครอบครัว
UNICEF Thailand

คุณกุลธิดา อายุ 34 ปี คุณแม่น้องทิม อายุ 2 ปี คุณกุลธิดาให้นมน้องทิมตั้งแต่อยู่ที่โรงพยาบาล แต่พอกลับบ้านได้สองสัปดาห์ก็เจอปัญหาหัวนมแตก เจ็บจนเกือบถอดใจ แต่น้องสาวซึ่งเคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อนก็คอยเชียร์ให้อดทน ซึ่งคุณกุลธิดาบอกว่า "จะให้นมแม่สำเร็จได้ ต้องเริ่มจากตั้งใจเองก่อน ถัดมาก็คือคนในครอบครัว โชคดีที่ คนรอบข้างสนับสนุนนมแม่ ทั้งสามีและคุณย่าคุณยาย ก็คอยให้กำลังใจ ถ้าไม่มีคนรอบข้างคอยสนับสนุนก็คงท้อ"

คุณกุลธิดากล่าวว่า "ดีใจมากที่ให้นมลูกได้ถึงสองปี ลูกเป็นแรงบันดาลใจหลัก เห็นได้ว่าลูกป่วยน้อยมาก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่อะไรก็ทดแทนไม่ได้" นอกจากนั้น คุณกุลธิดาเล่าว่าน้องทิมก็ยังกินนมแม่จากอกแม่ ซึ่งช่วงเวลาที่ลูกกินนมเป็นช่วงเวลาของความใกล้ชิดที่มีความสุข เพราะแม่ลูกได้คุยกันไประหว่างกินนมแม่ด้วย

 

คุณณัฐฐานันท์ คุณแม่ลูกสอง

 

คุณณัฐฐานันท์ คุณแม่ลูกสอง ตอนเลี้ยงลูกคนแรก คุณณัฐฐานันท์ได้ให้นมแม่แค่ประมาณเดือนครึ่ง ปรากฏว่าลูกป่วยบ่อย และต้องไปหาหมอบ่อย เมื่อมีลูกคนที่สอง จึงตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จให้ได้ เพราะอยากให้ลูกได้ประโยชน์และภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องเจออุปสรรคจากคนในครอบครัวที่อยากให้เสริมนมผง เพราะหลานๆคนอื่นซึ่งกินนมผงดูอ้วนท้วน แต่คุณณัฐฐานันท์ก็ไม่ละความพยายาม ซึ่งความตั้งใจนี้ก็เห็นผล เพราะน้องโอปอ อายุ 2 ขวบ 1 เดือน สุขภาพแข็งแรงมาก ป่วยน้อยมากเมื่อเทียบกับพี่คนโต แต่มีพัฒนาการดี คุณณัฐฐานันท์ตั้งใจว่าจะให้นมแม่ไปจนกว่าลูกจะเลิกเอง 

คำแนะนำที่ถูกต้อง ...
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ

ณัฐฐานันท์
คุณณัฐฐานันท์ คุณแม่ลูกสอง
UNICEF Thailand

คุณณัฐฐานันท์ยังกล่าวด้วยว่า ตนได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากคลีนิคนมแม่ ที่ช่วยแก้ไขปัญหา และสอนเทคนิคการให้นม จัดท่า ป้องกันลูกสำลัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ

 

คุณเฉลิมขวัญ พนักงานบริษัท อายุ 35 ปี

คุณเฉลิมขวัญ อายุ 35 ปี เป็นพนักงานบริษัท Rohm ที่นวนคร แต่สามารถเลี้ยงน้องบัวบูชาด้วยนมแม่ได้จนอายุสองปี ทั้งๆ ที่น้องอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีกับคุณยาย  คุณเฉลิมขวัญเล่าว่าเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ก็หาข้อมูลจากเพจนมแม่ในเฟซบุค และตั้งใจว่าจะให้นมแม่เพราะมีประโยชน์ที่สุด อยากให้ลูกแข็งแรง เมื่อคลอดลูกที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตอนแรกน้องยังอยู่ในตู้อบ แต่พยาบาลก็ช่วยสอนการบีบกระตุ้นน้ำนม และหลังจากนั้นก็สอนการเข้าเต้าอย่างถูกวิธี

หลังจากที่ลาคลอดครบสามเดือน คุณเฉลิมขวัญก็กลับไปทำงาน และอาศัยห้องพยาบาลเป็นสถานที่ปั๊มนม เพื่อเก็บน้ำนมแช่แข็ง รอคุณเฉลิมขวัญนำกลับไปส่งที่อุดรทุกสองสัปดาห์ ในช่วงแรกคุณยายก็ค่อนข้างต่อต้าน เพราะไม่เคยต้องเอานมแม่ที่แช่แข็งไว้มาละลายแล้วป้อนหลาน แต่ในที่สุดคุณยายก็คล้อยตาม  น้องบัวเป็นเด็กแข็งแรง ยังไม่เคยเจ็บป่วยหนักเลย คุณเฉลิมขวัญบอกว่า ถึงแม้ว่าว่าจะต้องเสียค่าเดินทางไปกลับกรุงเทพ-อุดรทุกสองสัปดาห์ แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่คนข้างบ้านต้องเสียเพื่อซื้อนมผงเดือนละ 3,000-4,000 บาท ก็คิดว่าคุ้มค่า ที่สำคัญ จะได้เจอหน้าลูกด้วย

คุณเฉลิมขวัญ พนักงานบริษัท อายุ 35 ปี
UNICEF Thailand

ต้องขอขอบคุณเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้าที่ให้การสนับสนุน

เฉลิมขวัญ

คุณเฉลิมขวัญเล่าว่า ที่บริษัท Rohm ให้การสนับสนุนเรื่องนมแม่เต็มที่ ที่ห้องพยาบาลมีมุมส่วนตัวสำหรับแม่ที่ต้องปั๊มนม มีถุงเก็บน้ำนมให้ และมีตู้แช่ เมื่อมีพนักงานตั้งครรภ์ก็ช่วยกันบอกปากต่อปากว่ามีมุมนมแม่ และมีการตั้งกลุ่ม Line เพื่อให้พนักงานแม่ลูกอ่อนได้คุยกัน  "รู้สึกดีใจที่ให้นมแม่ได้สำเร็จจนครบสองปี ต้องขอขอบคุณเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้าที่ให้การสนับสนุน ตลอดจนทีมงานที่ห้องพยาบาลด้วย เพราะความสำเร็จนี้ไม่ใช่แค่มาจากเราคนเดียว" คุณเฉลิมขวัญกล่าวด้วยความภูมิใจ ในขณะที่ทีมงานจาก Rohm อีกสองท่านยืนให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

 

ความมุ่งมั่นตั้งใจ กำลังใจสนับสนุนทั้งจากคนรอบข้างและที่ทำงาน คำแนะนำที่ถูกต้อง นำไปสู่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ประสบความสำเร็จ

จะเห็นได้ว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุนให้คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ทั้งในช่วงหกเดือนแรก และต่อเนื่องไปจนถึงลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามที่องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้แนะนำ ซึ่งได้แก่

  • ความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อประโยชน์ของตัวลูกน้อย
  • กำลังใจสนับสนุนจากคนรอบข้าง
  • การสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานและที่ทำงาน ซึ่งนายจ้างสามารถสนับสนุนได้ง่ายๆ เพียงแค่จัดให้มีห้องสำหรับปั๊มนมแม่ มีตู้เย็นสำหรับแช่เก็บรักษานมแม่ และให้มีเวลาพักสำหรับพนักงานเพื่อไปปั๊มนมแม่เก็บไว้
  • คำแนะนำที่ถูกต้อง จากโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาล รวมถึงข้อมูลที่ถูกต้องจากเว็บไซต์ต่างๆ

จากบทสัมภาษณ์เหล่าคุณแม่ที่ประสบความสำเร็จ จะเห็นว่าประโยชน์ที่ลูกน้อยได้รับที่เห็นได้ชัดคือ สุขภาพที่แข็งแรง เจ็บป่วยน้อย ซึ่งนั่นก็นับเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแล้วสำหรับคุณแม่ทุกคน นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ให้นมลูก ก็เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของทั้งคุณแม่และลูกน้อย ได้เสริมสร้างความผูกพัน สายใยรักแห่งครอบครัว อีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. KG Dewey, Nutrition, growth, and complementary feeding of the breastfed infant. Pediatr Clin North Am. 2001 Feb;48(1):87-104
นมแม่ วัคซีนหยดแรกของชีวิต
กระทรวงสาธารณสุข