โอกาสห้าประการสำหรับเด็กที่เราต้องลงมือทำทันที

จดหมายเปิดผนึก: ทำไมเราจึงออกแบบโลกยุคหลังโควิด-19 ที่ดีกว่าสำหรับเด็กทุกคนได้

เฮนเรียตตา เอช. โฟร์
ภาพของผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ นางเฮนเรียตตา โฟร์ พร้อมข้อความที่เขียนว่า "ออกแบบอนาคตใหม่สำหรับเด็กทุกคน วัคซีนถ้วนหน้า ปฏิวัติการเรียนรู้ ลงทุนด้านสุขภาพจิต ยุติการเลือกปฏิบัติ แก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ"
UNICEF
01 มีนาคม 2021

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือวิกฤติระดับโลกที่เราไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นที่ใด การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะเด็ก  เด็กหลายล้านคนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และการปกป้องคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เพียงเพราะพวกเขาเกิดมายากจน หรือเพราะเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์  การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ช่องว่างความไม่เท่าเทียมดังกล่าวกว้างยิ่งขึ้น อีกทั้งยังก่อผลกระทบที่ยาวนานทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเด็ก

แต่นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะหวั่นเกรงหรือยอมจำนนต่อความท้าทายดังกล่าว  การเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปีขององค์การยูนิเซฟในปีนี้เป็นการเตือนความจำว่าองค์กรแห่งนี้เกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤติซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สอง  ในขณะนั้น เราอาจยอมแพ้ได้ง่าย ๆ ต่อขนาดของปัญหาที่เด็กต้องเผชิญในโลกที่ถูกทำลายด้วยไฟสงคราม แต่เราก็ได้ออกแบบอนาคตใหม่ที่เป็นไปได้ เราได้สร้างระบบสวัสดิการและบริการสุขภาพขึ้นมาใหม่ทั่วโลก เราสามารถเอาชนะโรคไข้ทรพิษได้ และเราได้สร้างองค์การสหประชาชาติให้เกิดขึ้น

เรากำลังจะสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง เช่นเดียวกับในวิกฤติระดับโลกก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกทั้งสองครั้งหรือการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งทำให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาและบรรลุข้อตกลงที่ปูทางไปสู่สันติภาพ และการร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูและสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ 

เราต้องดึงประเทศต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกัน โดยมีแผนงานที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ในการปกป้องคุ้มครองลูกหลานของเรา เป็นพันธสัญญาระหว่างคนรุ่นเรากับคนรุ่นต่อไปว่าจะมีการลงทุนในด้านสุขภาพและการศึกษา การสร้างระบบและบริการที่ยืดหยุ่นที่เด็กทุกคนเข้าถึงได้ และการให้หลักประกันว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดงบประมาณหรือสถาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

ไม่ว่าขนาดของความท้าทายที่เด็กทั่วโลกกำลังประสบจะยิ่งใหญ่เพียงใด เราก็ต้องเดินไปข้างหน้าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อต่อยอดความสำเร็จที่ผ่านมา โดยต้องมีทั้งความทะเยอทะยานและความมั่นใจในอนาคตร่วมกัน

เราต้องไม่กลับไปทำสิ่งเดิม ๆ เพราะเราต้องทำให้ได้มากกว่าคำว่า ‘ปกติ’ เพื่อเด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดโอกาสห้าประการสำหรับเด็กทั่วโลก รวมทั้งบทเรียนห้าประการในการออกแบบอนาคตที่ดีกว่าและสอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องและต้องการ

1: เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น วัคซีนจึงจะใช้ได้ผล
2: ลดช่องว่างทางดิจิทัลเพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
3: โควิด-19 ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชน
4: แม้โรคโควิด-19 จะไม่เลือกปฏิบัติ แต่สังคมของเรายังมีการเลือกปฏิบัติ
5: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออีกหนึ่งวิกฤติโลกที่รอไม่ได้

 

ภาพของเข็มฉีดยาแบบใช้ได้ครั้งเดียว และกล่องบรรจุ พร้อมข้อความ "1. เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น วัคซีนจึงจะใช้ได้ผล"

“วาทกรรมที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนกำลังทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยงจากโรคร้ายที่ควรจะหมดไปจากโลกนี้  ไม่ควรมีใครต้องเจ็บป่วยจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ไม่ควรมีแม้สักคนเดียว”

ฤทธิ อายุ 20 ปี จากประเทศไทย

เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น วัคซีนจึงจะใช้ได้ผล

 

ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์บอกเราว่า วัคซีนคือความหวังที่ดีที่สุดในการหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เราได้กลับมาใช้ชีวิตและฟื้นฟูเศรษฐกิจกันอีกครั้ง

แต่ก็เป็นเช่นที่ฤทธิกล่าว ยังคงมีความเสี่ยงที่วัคซีนโรคโควิด-19 จะเข้าไม่ถึงประชากรทั้งหมด 

ความลังเลที่จะรับการฉีดวัคซีนคืออุปสรรคสำคัญของการเอาชนะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  การสำรวจความเห็นของผู้ใหญ่จำนวน 20,000 คนใน 27 ประเทศพบว่า 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวอาจปฏิเสธที่จะรับการฉีดวัคซีน  นอกจากนั้น การสำรวจความเห็นต่อเรื่องเดียวกันของชาวอเมริกันแสดงให้เห็นว่า การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขส่งผลให้ความเชื่อมั่นในวัคซีนลดลง

ขณะเดียวกัน การเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนกลับกลายเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต โดยสื่อออนไลน์ของผู้ประกอบการที่ต่อต้านวัคซีนกลับมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20 ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  นอกจากนั้น การศึกษาขององค์กร Avaaz ยังพบว่า เว็บไซต์ 10 อันดับแรกที่เผยแพร่ข้อมูลด้านสาธารณสุขที่บิดเบือนกลับมีจำนวนผู้ติดตามมากกว่าเว็บไซต์ด้านสาธารณสุขที่เป็นแหล่งข้อมูลทางการถึงเกือบสี่เท่า 

โดยสรุปคือเรากำลังพ่ายแพ้ในการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเชื่อมั่น  และหากปราศจากความเชื่อมั่น จะเป็นวัคซีนประเภทใดก็ไม่มีประโยชน์  อย่างไรก็ดี การเริ่มฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกคือโอกาสที่จะนำวัคซีนไปสู่เด็กทุกคน เพราะเด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะได้พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ดังกล่าว

สิ่งที่ต้องดำเนินการ:

โดยที่ปัจจุบัน เริ่มมีวัคซีนโรคโควิด-19 ของหลายบริษัททยอยออกสู่ตลาด เราจึงต้องเริ่มให้ความสนใจกับการต่อสู้กับโรคร้ายดังกล่าวให้หมดไปไม่ว่าจะยากลำบากหรือยาวนานเพียงใด โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและเท่าเทียม เพื่อให้ทุกคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ยากจนและขาดโอกาสที่สุด เข้าถึงวัคซีนได้

ยูนิเซฟกำลังดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยได้มีบทบาทแข็งขันในเครือข่ายระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนโครงการโคแวกซ์ (COVAX Facility) เพื่อสร้างหลักประกันให้ประเทศต่าง ๆ เข้าถึงวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม  เป้าหมายของเราคือการทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีประเทศหรือครอบครัวใดที่เข้าไม่ถึงวัคซีน โดยการช่วยประสานงานการจัดหาวัคซีนและการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในการอำนวยความสะดวกการขนส่งวัคซีนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกลที่สุด ซึ่งต้องอาศัยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ  นอกจากนั้น รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนโรคโควิด-19 มีราคาที่ประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าถึงและซื้อหาได้

ขณะเดียวกัน ยูนิเซฟได้เริ่มการรณรงค์ผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อสร้างแนวร่วมและความตระหนักรู้ในระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับประโยชน์และประสิทธิผลของวัคซีน เพราะสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการจัดหาและกระจายวัคซีนคือการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น 

บริษัทเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนและเป็นอันตรายผ่านแพลตฟอร์มของแต่ละบริษัท  โดยเมื่อเดือนตุลาคม Facebook ได้ประกาศนโยบายห้ามการโฆษณาที่ต่อต้านการรับการฉีดวัคซีน  หลังจากนั้นไม่นาน  YouTube ได้ประกาศที่จะลบวิดีโอที่มีเนื้อหาต่อต้านการฉีดวัคซีนเช่นกัน  ทั้งนี้ เรายังทำได้มากกว่านั้น โดยสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ต้องแจ้งเตือนและลบเนื้อหาที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วย

ความลังเลที่จะรับการฉีดวัคซีนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวัคซีนโรคโควิด-19  โดยเมื่อปี 2562 องค์การอนามัยโลกระบุว่า ความลังเลที่จะรับการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในภัยคุกคาม 10 อันดับแรกต่อระบบสาธารณสุขโลก เพราะหากปราศจากความเชื่อมั่น วัคซีนก็จะเป็นเพียงหลอดยาราคาแพงในตู้ยาของแพทย์

 

> กลับไปด้านบน


 

ภาพของเด็กนักเรียนหญิงกำลังใช้งานคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอยู่ที่บ้านของเธอ พร้อมข้อความ "2. ลดช่องว่างทางดิจิทัล เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึง การศึกษาที่มีคุณภาพ"

“ผมคิดว่านี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่โรงเรียนจะรับฟังความเห็นของนักเรียนและมองหาหนทางที่จะปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แบบออนไลน์  แม้หลังจากนี้ การแพร่ระบาดจะผ่านพ้นไป การเรียนทางไกลอาจยังเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้และมีความยืดหยุ่น”

คาโมเกโล อายุ 18 ปี จากประเทศแอฟริกาใต้

ลดช่องว่างทางดิจิทัลเพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

 

คาโมเกโลกล่าวได้ถูกต้อง เพราะในช่วงที่มีการปิดการเรียนการสอนเมื่อต้นปี 2563 ประมาณร้อยละ 30 ของนักเรียนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกลได้  และโดยแท้จริงแล้ว ในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก มีครอบครัวเพียงแค่ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

เด็กกลุ่มดังกล่าวคือกลุ่มที่มีแนวโน้มจะไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอยู่แล้ว  ข้อเท็จจริงที่ว่ากว่าร้อยละ 50 ของเด็กอายุ 10 ปี ในประเทศรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง ยังไม่สามารถอ่านและเข้าใจเรื่องง่าย ๆ ได้เมื่อเรียนจบระดับประถมศึกษาสะท้อนให้เห็นวิกฤติการเรียนรู้ในระดับโลก  ดังนั้น หากเรายังไม่สามารถปิดช่องว่างทางดิจิทัลได้ เด็กเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

โรคโควิด-19 ทำให้ปัญหาดังกล่าวมีความเร่งด่วนยิ่งขึ้น  เรากำลังเผชิญหน้ากับโอกาสที่ “มีเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตคนหนึ่งคน” ที่จะเชื่อมโยงโรงเรียนและเด็กทุกคนกับอินเทอร์เน็ต และทำให้พวกเขาเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลในการพัฒนาทักษะได้เต็มศักยภาพ ทั้งในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหลังจากนั้น

สิ่งที่ต้องดำเนินการ:

สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการกลับมาเปิดการเรียนการสอนเป็นอันดับแรกโดยมีมาตรการทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อให้การเปิดการเรียนการสอนมีความปลอดภัย

การเรียนการสอนที่หยุดชะงักทั่วโลกในครั้งนี้ทำให้เราได้คิดทบทวนวิธีการที่เราใช้ในการทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษา

โครงการ Reimagine Education ของยูนิเซฟเป็นการปฏิวัติการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะเพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพโดยผ่านการเรียนรู้แบบดิจิทัล ความเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงอุปกรณ์และข้อมูลในราคาที่ซื้อหาได้ และการมีส่วนร่วมของเยาวชน  เราตั้งเป้าหมายที่จะเข้าถึงเด็กและเยาวชนจำนวน 500 ล้านคนภายในปี 2564 และ 3.5 พันล้านคนภายในปี 2573  โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรจำนวนมากทั้งในภาครัฐและเอกชน โครงการดังกล่าวครอบคลุมกิจกรรมทุกด้านตั้งแต่การนำส่งหนังสือเรียนไปยังพื้นที่ห่างไกล การสนับสนุนรายการวิทยุเพื่อการศึกษา และการทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาไม่ว่าจะอยู่ที่ใด โดยผ่านข้อความ SMS กลุ่มสนทนาในแอพพลิเคชัน Whatsapp หรือเนื้อหาในรูปแบบพอดแคสต์ (podcasts) 

เครื่องมือดิจิทัลคือปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ  โดยชุดเครื่องมือการเรียนรู้แบบดิจิทัล (Global Digital Learning Toolkit) ของยูนิเซฟกำลังขยายโอกาสการเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัล ทักษะการทำงาน ทักษะที่ปรับใช้ได้ในการทำงานทุกสาขา และทักษะขั้นพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับกลุ่มที่เปราะบางและเข้าถึงได้ยากที่สุด เรากำลังทำงานร่วมกับไมโครซอฟต์ในการพัฒนาระบบพาสปอร์ตการเรียนรู้ (Learning Passport) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงหลักสูตรการศึกษาได้ในหลากหลายภาษาทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งในสถานการณ์วิกฤติ  เรามีความร่วมมือกับ Khan Academy ในการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลและทักษะขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเสต็มศึกษา (STEM) ในกลุ่มผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อสอนภาษาของประเทศผู้รับเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนเหล่านี้  นอกจากนั้น เรายังมีความร่วมมือกับมูลนิธิ Age of Learning เพื่อทำให้นักเรียนกว่า 180,000 คนทั่วโลกเข้าถึงหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน และหลักสูตรส่งเสริมความสามารถในการอ่านเขียนและการคำนวนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เครื่องมือการเรียนรู้ต้องมาพร้อมกับความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล  ดังนั้น เราจึงได้ผลักดันความริเริ่ม GIGA ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างยูนิเซฟกับองค์กรพันธมิตรทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับเด็กทุกคน รวมทั้งชุมชนและโรงเรียนทุกแห่งภายในปี 2573

ภายใต้ความริเริ่มดังกล่าว เราได้ร่วมมือกับบริษัทอีริคสัน (Ericsson) ในการจัดทำแผนที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนต่าง ๆ ให้ได้ 35 ประเทศภายในปี 2566 ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้แบบดิจิทัล

ดังเช่นที่คาโมเกโลกล่าว ขณะนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่จะเปิดรับพลังของเครื่องมือดิจิทัลเพื่อปฏิวัติการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะสำหรับเด็กทุกคนที่เกิดมาในยุคนี้

 

> กลับไปด้านบน


 

ภาพของเด็กสาวกำลังมองออกไปหน้าต่าง พร้อมข้อความ "3. โควิด-19 ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชน"

“ทำไมเราถึงมองว่าสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องใหญ่? ทำไมเราถึงมองว่าคนที่มีความทุกข์เป็นคนที่คิดมากเกินไป? ทำไมเราถึงเหมารวมคนที่มีความเจ็บป่วยทางจิตว่าเป็นคนบ้า? ... มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปฏิเสธการเหมารวมดังกล่าวและยอมรับว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าสุขภาพกาย”

ทูลิกา อายุ 18 ปี จากประเทศอินเดีย

โควิด-19 ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชน

 

ทูลิกากล่าวได้ถูกต้อง สุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่ และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าสุขภาพกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแห่งการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการคิดตลอดชีวิต ความฉลาดทางอารมณ์ และความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าเด็กและวัยรุ่นมีความเปราะบางเพียงใด

สำหรับเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใด โรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิตที่พวกเขาคุ้นเคย เช่น การไปโรงเรียน และการออกไปเล่นกลางแจ้ง  สำหรับวัยรุ่น การต้องอยู่แต่ในบ้านได้ตัดขาดพวกเขาออกจากเพื่อนฝูงและสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในช่วงวัยดังกล่าว  และสำหรับเด็กที่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง หรือการถูกล่วงละเมิดภายในครอบครัว การปิดเมืองทำให้พวกเขาติดอยู่หลังประตูที่ปิดตายกับคนที่ล่วงละเมิดพวกเขาโดยปราศจากการสนับสนุนที่อาจหาได้จากที่โรงเรียน หรือจากญาติและชุมชน  นอกจากนั้น โรคโควิด-19 ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตในกว่าร้อยละ 93 ของประเทศทั่วโลก

ผลกระทบเหล่านี้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วรุนแรงยิ่งขึ้น  ในจดหมายฉบับก่อนหน้านี้ ดิฉันพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม  โดยครึ่งหนึ่งของปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นก่อนที่เด็กจะอายุครบ 15 ปี และร้อยละ 75 เกิดขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  และส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายซึ่งมีประมาณ 800,000 คนต่อปีเป็นเยาวชน  นอกจากนั้น การทำร้ายตัวเองยังเป็นสาเหตุหลักอันดับสองของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่พยายามขอความช่วยเหลือ เพราะเกรงจะถูกตีตราทางสังคมและถูกเลือกปฏิบัติจากการเป็นผู้ถูกล่วงละเมิดหรือมีความเครียดทางจิตใจ  นอกจากนั้น ปัญหาสุขภาพจิตยังไม่ใช่สิ่งที่ได้รับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในประเทศต่าง ๆ โดยในประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำ งบประมาณด้านสุขภาพจิตจะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมด 

โดยที่สุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนกำลังประสบความท้าทายอย่างมาก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้พูดคุยและเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สิ่งที่ต้องดำเนินการ:

เยาวชนอย่างทูลิกากำลังต้องการการสนับสนุน เราจึงจำเป็นต้องรับฟังข้อห่วงกังวลของพวกเขา

รัฐบาลของบางประเทศรับฟังและพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว  เช่น บังกลาเทศ จอร์เจีย และอินเดีย ได้จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เพื่อให้การดูแลและสนับสนุนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก  ทั้งนี้ สายด่วนเยาวชน (Childline) ในอินเดียมีผู้ใช้บริการมากกว่า 92,000 ครั้ง ในช่วง 11 วันแรกของการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50  โดยส่วนใหญ่เป็นการขอความช่วยเหลือจากการถูกล่วงละเมิดและการใช้ความรุนแรง

ในคาซัคสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มวัยรุ่น ยูนิเซฟเพิ่งเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่เมื่อเดือนเมษายน 2563 ซึ่งมีบริการให้คำปรึกษาแบบออนไลน์แก่วัยรุ่น รวมทั้งการฝึกอบรมและการศึกษาสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความกังวล ความเครียด และความไม่แน่นอนซึ่งมาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โดยนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจากโรงเรียนต่าง ๆ กว่า 5,000 คนได้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลาสามเดือน นอกจากนั้น ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางสังคมของวัยรุ่น ผ่านการพึ่งพากันภายในกลุ่มเพื่อน การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ปกครอง และการปรับเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบต่อปัญหาสุขภาพจิตไปเป็นการให้ความเข้าใจและการดูแล รวมทั้งการเพิ่มการสนับสนุนและการให้คำปรึกษา

องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังทำงานร่วมกับเยาวชนในการรณรงค์และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่เป็นบวกต่อการขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต เช่น องค์กร Time to Change ได้พยายามยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตในสหราชอาณาจักรด้วยการทำงานร่วมกับครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียน ในการส่งเสริมให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน การยุติการตีตราทางสังคม และการให้การสนับสนุนแก่เยาวชน

เราต้องพยายามให้มากขึ้น โดยประเทศต่าง ๆ ต้องลงทุนในเรื่องดังกล่าวตามที่สมควรจะเป็น เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตแก่เยาวชนในชุมชนและในโรงเรียน รวมทั้งการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเพื่อให้เด็กจากครอบครัวที่เปราะบางได้รับการสนับสนุนและการปกป้องคุ้มครองที่พวกเขาสมควรจะได้รับภายในครอบครัว

 

> กลับไปด้านบน


 

ภาพของเด็กสาวที่มองไปที่ตัวเมืองในประเทศบราซิล พร้อมข้อความ "4. แม้โรคโควิด-19 จะไม่เลือกปฏิบัติ แต่สังคมของเรายังมีการเลือกปฏิบัติ"

“เราต้องละทิ้งความเชื่อที่ว่าเราไม่มีพลัง และต้องตระหนักว่าเรามีพลังที่ไม่จำกัด”

โคลฟเวอร์ อายุ 20 ปี จากประเทศออสเตรเลีย

แม้โรคโควิด-19 จะไม่เลือกปฏิบัติ แต่สังคมของเรายังมีการเลือกปฏิบัติ

 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ แต่คนแต่ละคนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน  ในหลายประเทศ เชื้อชาติ สีผิว หรือสถานะทางเศรษฐกิจ อาจทำให้คุณได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น เช่น ในสหรัฐอเมริกา ชาวแอฟริกันอเมริกันมีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมด แต่กลับมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าชาวอเมริกันผิวขาวถึงสี่เท่า

ทั่วโลก ผู้ที่ทำงานต่อสู้กับโรคโควิด-19 อยู่ในแถวหน้า ชนกลุ่มน้อย ผู้ยากจนและด้อยโอกาส ล้วนมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น  พวกเขามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19 ง่ายกว่า เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะเข้าไม่ถึงการดูแลและการรักษาพยาบาล  นั่นทำให้ทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน เพราะหากเพื่อนบ้านของคุณเจ็บป่วย คุณก็เสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วย  ดังนั้น วิกฤติในปัจจุบันจะไม่มีทางจบลงจนกว่าทุกคนจะปราศจากความเสี่ยงในการติดเชื้อ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีประมาณการว่าจำนวนของเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 142 ล้านคนในปี 2563

ผลกระทบของความยากจนมีขอบเขตเกินกว่าเรื่องสุขภาพ เด็กที่ยากจนที่สุดไม่เพียงเป็นกลุ่มที่ปกป้องตัวเองได้น้อยที่สุดจากไวรัสโควิด-19 แต่ยังเป็นกลุ่มที่เข้าถึงการเรียนทางไกลและอุปกรณ์การล้างมือและบริการต่าง ๆ ได้น้อยที่สุดด้วย  ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงเด็กที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤติด้านมนุษยธรรม ที่ความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นไปอีก

เด็กมีแนวโน้มจะตกอยู่ในความยากจนมากกว่าผู้ใหญ่ถึงสองเท่า และมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่มีทางย้อนกลับไปแก้ไขได้  เพราะเด็กไม่มีโอกาสย้อนกลับไปปรับปรุงภาวะโภชนาการของตัวเองในวัยเยาว์ หรือทำให้ตัวเองได้รับการศึกษาหรือบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด เจริญเติบโต และมีความก้าวหน้าในชีวิต  ดังนั้น เราจึงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้น

สิ่งที่ต้องดำเนินการ:

โคลฟเวอร์ยืนยันหนักแน่นว่าเด็กและเยาวชนไม่ได้ไร้พลัง  เราต้องสร้างหลักประกันให้เด็กทุกคนมีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้สังคมและไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะมีเพศ เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนาใด เราต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ ดังเช่นที่นายอันตอนิอู กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในปีนี้ว่า เราไม่ได้ต้องการแค่เพียงนโยบายการคุ้มครองทางสังคมที่ทันสมัย แต่ยังต้องมีโครงการและนโยบายที่มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อขจัดปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อเพศ เชื้อชาติ หรือสีผิว ที่ยังคงฝังรากลึกในสังคม

เด็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานที่หลายคนอาจเห็นว่าเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย ๆ เช่น น้ำสะอาดและสบู่ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ  ดังนั้น เราจึงได้มีนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น การติดตั้งสถานีล้างมือเคลื่อนที่ ซึ่งใช้คันเหยียบในการเปิดปิดน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้มือสัมผัสกับพื้นผิวต่าง ๆ ในตลาด ศูนย์อนามัย โรงเรียน ในเอกวาดอร์ และประเทศต่าง ๆ เพื่อป้องกันเด็กจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

การคุ้มครองทางสังคม เช่น การให้เงินช่วยเหลือ เป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญซึ่งไม่เพียงช่วยประคับประคองให้หลายครอบครัวอยู่รอดได้ในระยะสั้น แต่ยังช่วยต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมในภาพรวมด้วย เพราะเงินช่วยเหลือดังกล่าวอาจช่วยให้เด็กได้ไปโรงเรียนหรือไปพบแพทย์ หรือได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ และลดความเสี่ยงของการตกเป็นแรงงานเด็ก  ดังนั้น ยูนิเซฟจึงกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลของ 115 ประเทศในการสนับสนุนการขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ประสบการณ์จากวิกฤติต่าง ๆ ในอดีตทำให้เราตระหนักว่า เราจำเป็นต้องลงทุนในโครงการหรือนโยบายด้านสังคมที่สำคัญ แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย  ดังนั้น ในขณะที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พวกเขาก็ต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องไม่ให้งบประมาณด้านสังคมถูกปรับลดด้วย และต้องทำให้แน่ใจว่ามีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการให้บริการในด้านต่าง ๆ

 

> กลับไปด้านบน


 

กลุ่มนักเรียนกำลังนั่งอยู่ในห้องสมุดที่เสียหายจากพายุไซโคลนในประเทศฟิจิ พร้อมข้อความ "5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออีกหนึ่งวิกฤติโลกที่รอไม่ได้"

“หลายสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเราไม่สามารถออกไปรณรงค์เรียกร้องได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศได้เงียบหายไป ... เราไม่สามารถเงียบเฉยได้ เพราะวิกฤติสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง มันยังไม่หายไปไหน มันยังไม่เปลี่ยนแปลง”

วาเนสซา อายุ 24 ปี ประเทศอูกันดา

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออีกหนึ่งวิกฤติโลกที่รอไม่ได้

 

โควิด-19 สอนให้เรารู้ว่าปัญหาระดับโลกต้องการวิธีการแก้ไขในระดับโลก ไม่มีใครได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากไปกว่าเด็ก เพราะเด็กมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่พวกเขาสูดหายใจ น้ำที่พวกเขาดื่ม และอาหารที่พวกเขาทาน  เราตระหนักว่าเด็กมีความเปราะบางต่อสารพิษและเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ รวมทั้งการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  นอกจากนั้น หากแนวโน้มยังเป็นเช่นเดิม ในเวลาเพียง 20 ปีข้างหน้า เด็ก 1 ใน 4 คนทั่วโลกจะมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากรน้ำในขั้นวิกฤติ  ดังนั้น ในฐานะผู้ใหญ่ เราจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสุขภาวะของโลกที่เราจะทิ้งไว้ให้ลูกหลาน

หากยังไม่มีการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ความไม่เท่าเทียมก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2593 ความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีมูลค่าสะสมสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงคิดเป็นมูลค่าเท่ากับร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี โดยภูมิภาคที่ยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบยิ่งกว่านั้น  นอกจากนั้น หากไม่มีการลงมือแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ คนจำนวนมากกว่าพันล้านคนจะต้องพลัดพรากจากที่อาศัยภายใน 30 ปีข้างหน้า เมื่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และความขัดแย้งทางอาวุธผลักดันให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้ว

สิ่งที่ต้องดำเนินการ:

เราต้องเชื่อมโยงการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจกับการดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อม

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับแนวทางที่ใช้คาร์บอนต่ำ โดยต้องมีการประสานงานระหว่างประเทศควบคู่ไปกับการลงมือดำเนินการในระดับท้องถิ่น  แนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ การทำให้บริการน้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ  การสร้างระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและการทำให้โรงเรียนมีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การมีบริการสุขภาพที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ  การลดมลภาวะในอากาศ ดิน และน้ำ การสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การมีระบบการปกป้องคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างระบบอาหารและโภชนาการที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ  เราต้องเพิ่มการลงทุนในแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แนวทางการแก้ไขปัญหาข้างต้นไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้เรามีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ในอนาคตด้วย

โดยที่ปัจจุบัน ทรัพยากรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของทรัพยากรน้ำทั่วโลกถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยประเทศเพียง 17 ประเทศ เราจึงจำเป็นต้องออกแบบโลกที่มีความมั่นคงด้านน้ำสำหรับลูกหลานในอนาคต  นอกจากนั้น ความร่วมมือในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกันยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสันติภาพและโอกาสในการสร้างเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับเด็ก

ในขณะเดียวกัน การจัดหาน้ำสะอาดสำหรับประชากรทั่วโลกกว่าร้อยละ 40 ที่เข้าไม่ถึงน้ำสะอาดหรืออุปกรณ์ฆ่าเชื้อจะช่วยสนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออย่างโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยงบประมาณทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐจะก่อประโยชน์กลับมาคิดเป็นมูลค่า 4 ดอลลาร์สหรัฐ  ทั้งนี้ ในศตวรรษที่ 21 คงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะไม่สามารถทำให้ครอบครัว โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานบริการสุขภาพทุกแห่งมีสบู่และน้ำสะอาด 

มีเยาวชนอย่างวาเนสซามากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังลงมือทำบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นด้วย เช่น ผู้ชนะในการแข่งขัน UNICEF COVID-19 Innovation Challenge ในไนจีเรียได้คิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่สะอาดปลอดภัยในชุมชนโดยการพัฒนาระบบผลิตน้ำสะอาดที่ยั่งยืนโดยใช้แผงโซลาเซลล์

แนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโรคโควิด-19 ในระยะสั้น แต่ยังช่วยสร้างความยืดหยุ่นและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

 

> กลับไปด้านบน


 

บทส่งท้าย...

ในจดหมายเปิดผนึกที่ดิฉันเขียนเมื่อปี 2562 ดิฉันได้พูดถึงความห่วงกังวลและความหวังสำหรับอนาคตของเด็กและเยาวชน โดยไม่รู้แม้แต่นิดว่าหลังจากนั้นอีกหนึ่งปี การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เราได้เห็นความกังวลเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมา

ข่าวร้ายคือเมื่อวิกฤติยังคงดำเนินต่อไปและปัญหาเศรษฐกิจยังคงหยั่งลึกลงเรื่อย ๆ เราจึงยังมีงานหนักรออยู่ข้างหน้า พายุทางเศรษฐกิจได้สร้างข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลและทำให้ความก้าวหน้าและพัฒนาการต่าง ๆ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาต้องถอยหลัง  หากเราไม่ลงมือแก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว ผลกระทบก็อาจเกิดขึ้นยาวนานจนถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป

แต่ข่าวดีคือเราสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มดังกล่าวได้ด้วยการใช้โอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนจากวิกฤติในครั้งนี้ในการออกแบบและสร้างระบบต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ให้เด็กและเยาวชนได้พึ่งพา

ดังนั้น ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้ทุกคนลงมือทำ ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้นำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้นำด้านศาสนา ผู้กำหนดนโยบาย นักกีฬา สื่อมวลชน นักรณรงค์ และพวกเราทุก ๆ คน

ประชาคมระหว่างประเทศต้องสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุมที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเด็กและสิทธิเด็ก  ภาคเอกชนต้องมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงและการปกป้องคุ้มครองเด็กในประเด็นต่าง ๆ ที่หลากหลาย ตั้งแต่ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกอินเทอร์เน็ต การเรียนรู้แบบดิจิทัล ไปจนถึงการจัดหาน้ำสะอาด  นอกจากนั้น ประชาชนทุกคนต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้มีความรับผิดชอบและยืนหยัดต่อต้านการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียม

ในโอกาสที่องค์การยูนิเซฟจะเฉลิมฉลองการครบรอบ 75 ปีแห่งการออกแบบอนาคตสำหรับเด็กทุกคนในปีนี้ ดิฉันขอให้พวกเราร่วมมือกันเพื่อเด็กและเยาวชนโดยคำนึงถึงความเร่งด่วนของปัญหาตรงหน้า เพื่อสร้างโอกาส จุดประกายความฝัน และสนับสนุนพวกเขาในทุกด้านของชีวิต

โควิด-19 คงไม่ใช่วิกฤติสุดท้ายที่มวลมนุษยชาติต้องประสบ ดังนั้น ดิฉันจึงขอให้พวกเราทำงานเคียงข้างกันในฐานะเพื่อนและหุ้นส่วนเพื่อผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

  

ลายเซ็นของผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ เฮนเรียตตา เอช. โฟร์

เฮนเรียตตา โฟร์
ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ

  


 

ดาวน์โหลดจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ [PDF]