โครงการเงินอุดหนุน ช่วยต่อชีวิตให้แก่กลุ่มครอบครัวเปราะบางในช่วงวิกฤตโควิด-19
วิกฤตโรคระบาดสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อครอบครัวจำนวนมาก เงินอุดหนุนจะช่วยแบ่งเบาภาระให้พวกเขา

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
ตุ๊กตา โหรากูล ก็เหมือนกับคุณแม่ทุกคนที่ต้องการให้ลูก ๆ ของเธอได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เธอเก็บหอมรอมริบเงิน 600 บาท ที่ได้ทุกเดือนจากโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดของรัฐบาล เพื่อเตรียมไว้สำหรับให้ลูกวัย 2 ขวบและ 4 ขวบ เพื่อปูทางให้พวกเขาได้ฝันไปไกลกว่าห้องเล็ก ๆ ในชุมชนคลองเตยแห่งนี้
“ลูก ๆ ของฉันต้องมีโอกาสเรียนมากกว่าฉัน และเงินนี้จะช่วยให้พวกเค้าได้เรียน” เธอพูดตอนที่ได้รับเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเพิ่มเติมจากเงินที่ได้จากโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
เงินเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้เพิ่มขึ้นมานี้ ได้ช่วยเหลือครอบครัวกว่า 1.4 ล้านครอบครัวในช่วงระยะเวลา 3 เดือนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องตกอยู่ในภาวะความยากจนมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยูนิเซฟกังวลเป็นอย่างมาก องค์การยูนิเซฟได้สนับสนุนการประเมินอย่างเร่งด่วนเพื่อหาข้อมูลด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค และสนับสนุนให้มีการมอบเงินเยียวยาฉุกเฉินเพิ่มเติมแก่โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย หน่วยงานของสหประชาชาติภายใต้สังกัดของคณะทำงานร่วมของสหประชาชาติในด้านการคุ้มครองทางสังคม (UN Joint Programme on Social Protection) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 119 องค์กร
เงินเยียวยากลุ่มเปราะบางนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง และแจกจ่ายได้เหมาะสมแก่เวลาและสถานการณ์ วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ส่งผลให้ครอบครัวของตุ๊กตาต้องสูญเสียรายได้หลักไปเนื่องจากสามีของเธอถูกเลิกจ้าง ทำให้ทั้งครอบครัวต้องหันมาพึ่งเงินเดือน 9,200 บาทของเธอ ในการรับภาระรายจ่ายเพิ่มจากค่าหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือแอลกอฮอล์สำหรับใช้ที่โรงเรียน
“การศึกษามีความสำคัญมาก ฉันเรียนจบแค่ระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น ฉันมองไปที่ลูกทั้งสองคน แล้วคิดว่าฉันจะไม่ให้พวกเค้าต้องตกเป็นทาสยาเสพติด หรือโตมาโดยไม่มีพ่อแม่ แบบที่ฉันต้องเคยเป็น” ตุ๊กตาวัย 29 ปี ผู้ซึ่งต้องฟันฝ่าชีวิตที่แสนยากลำบากมาตั้งแต่วัยรุ่นเพราะติดยาเสพติด กล่าว

อีกด้านในชุมชนคลองเตยแห่งนี้ มีครอบครัวของดาวประกาย ดีปาล ที่ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวลงด้วยการอาศัยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารที่มีคนบริจาคช่วยเหลือมา หลังจากที่สามีของดาวประกายถูกเลิกจ้าง และครอบครัวต้องเป็นหนี้อยู่กว่าสองหมื่นบาท
“เงินที่ได้จากโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดและเงินเยียวยาวกลุ่มเปราะบางช่วยให้เรารอดจากวิกฤตโรคโควิด-19 ได้ พวกเราใช้เงินซื้อของจำเป็น และของใช้เด็กที่ไม่มีอยู่ในชุดสุขอนามัยที่ได้จากรัฐบาลและผู้บริจาคคนอื่น ๆ” ดาวประกาย คุณแม่ของลูกสามคนวัย 5 ขวบ 3 ขวบ และ 2 ขวบ กล่าว
“ปัญหาก็คือเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่โควิด-19 จะหมดไป แล้วสามีของฉันจะหางานใหม่ได้หรือไม่ แล้วเราจะเข้าจุดวิกฤตทางรายจ่าย” เธอกล่าวเสริมขณะที่สีหน้ากังวลถึงหนี้สินที่จะเพิ่มพูนขึ้น
นี่เป็นเดือนที่ห้าแล้วที่เธอต้องจุนเจือทั้งห้าชีวิตในครอบครัวด้วยเงินเดือน 9,000 บาทในฐานะคุณครูศูนย์เด็กเล็ก ความไม่แน่นอนในชีวิตเริ่มส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพจิตของเธอ
“ฉันมีอาการซึมเศร้าและต้องทานยาทุกวัน ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ยาว ๆ เพราะโรคโควิด-19 ฉันเครียดมากเพราะมีปัญหาหลายเรื่องให้ต้องกังวล ครอบครัวฉันต้องลำบาก และฉันก็ต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้” ดาวประกาย วัย 23 ปีกล่าว
สำหรับครอบครัวของดาวประกายและครอบครัวอื่น ๆ แล้ว “เงินเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้เพิ่มขึ้นมานั้นเพียงพอแค่สำหรับใช้จ่ายเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์เท่านั้น” ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทั้งนี้เพราะว่าตอนที่ลงทะเบียน พวกเขาไม่ได้เข้าข่ายเป็นครอบครัวยากจน
นี่เป็นสาเหตุที่ยูนิเซฟต้องผลักดันเพื่อขยายการคุ้มครองทางสังคมให้เข้าถึงเด็กในกลุ่มเปราะบางที่สุด ซึ่งนั่นก็รวมถึงการขยายโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้ครอบคลุมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีทุกคน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะยาวอันเกิดจากโรคระบาด อันจะช่วยคุ้มครองทุกครอบครัวไม่ให้ตกอยู่ในความยากจนมากขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และช่วยให้พวกเขาสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในอนาคต จากรายงานประเมินผลกระทบทางสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยูนิเซฟและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พบว่าอัตราความยากจนมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในไตรมาสที่สามของปีนี้
“เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดและเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางนั้นสำคัญมากต่อครอบครัวที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้” โทโมโอะ โอคุโบะ รักษาการหัวหน้าฝ่ายนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว “และเพราะว่าแรงกดดันนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น และยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุด ยูนิเซฟจึงต้องสนับสนุนและผลักดันให้การคุ้มครองทางสังคมนี้มีต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันประชากรในกลุ่มเสี่ยงจากความยากจนแร้นแค้น แต่ยังช่วยให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนจะได้รับการพัฒนาทั้งทางกาย อารมณ์ และจิตใจ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอีกด้วย”
ดาวประกายไม่เคยมีโอกาสได้เรียนต่อเมื่อเธอท้องในวัยเรียน
“ฉันไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ วันนี้ฉันมีครอบครัวของตัวเอง และสิ่งเดียวที่ฉันทำได้เพื่อชดเชยที่ไม่สนใจเรียนในตอนเด็กก็คือดูแลลูกทั้งสามคนของฉันให้ดี ให้ความรัก และเป็นแม่ที่ดีที่สุด” เธอพูดถึงความหวังที่จะมอบอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ลูก ๆ ของเธอ