เสริมสร้างผู้นำของวันพรุ่งนี้
คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟสู่การเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำและการขับเคลื่อนเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
เมื่อวันที่ 19-21 สิงหาคม สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (YPAB) ขององค์การยูนิเซฟ จำนวน 50 คนได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายผู้นำเยาวชนซึ่งจัดโดยยูนิเซฟ และมูลนิธิไรท์ ทู เพลย์ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อเสริมทักษะความเป็นผู้นำพร้อมกับเปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นและเสนอทางออกสำหรับปัญหาสังคมที่วัยรุ่นต้องเผชิญ
YPAB เปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2564 โดยเป็นพื้นที่เพื่อให้เยาวชนได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเป็นระบบกับยูนิเซฟและพันธมิตร ตั้งแต่การวางแผนงาน การตัดสินใจ ตลอดจนผลักดันความคิดริเริ่มต่าง ๆ โดยสมาชิกของ YPAB แบ่งเป็นห้ากลุ่มตามความสนใจของแต่ละคน ได้แก่ ด้านสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ ด้านการศึกษาและโอกาสในการมีงานทำ ด้านการคุ้มครองเด็ก ด้านการมีส่วนร่วมของเยาวชน และด้านสิ่งแวดล้อม
ในค่ายผู้นำเยาวชน สมาชิก YPAB ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมทีมสัมพันธ์ และการฝึกทักษะความเป็นผู้นำ โดยเริ่มจากกิจกรรมการละลายพฤติกรรมเพื่อสร้างเครือข่าย การร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับภารกิจที่ยูนิเซฟกำลังขับเคลื่อน การระดมความคิดเพื่อวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นทางสังคมด้านต่าง ๆ อันนำไปสู่การวางแผนโครงการรณรงค์ และการใช้กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนทั้งในเชิงการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของผู้คนและนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย โดยปิดท้ายที่การนำเสนอโครงการตามประเด็นในด้านที่เยาวชนสนใจ ซึ่งจากกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากเยาวชนผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทักษะความเป็นผู้นำแล้ว ก็ยังสามารถนำความรู้และเครื่องมือที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ เพื่อผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะผ่านการทำงานร่วมกับยูนิเซฟ หรือผ่านโครงการที่ตนเองจะริเริ่มในชุมชนต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

“การพัฒนาและการเปิดโอกาสด้านการมีส่วนร่วมของเยาวชนนั้นถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ตามแผน 5 ปี (พ.ศ.2565 - 2569) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาความรู้ และทักษะในการแสดงความความคิดเห็น เพื่อส่งเสียงถึงผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ ที่ส่งผลถึงวิถีชีวิตและอนาคตของพวกเขา” คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวกับเยาวชนที่มาดูงาน ณ สำนักงานยูนิเซฟ “เราช่วยให้พวกเขาได้แสดงออกทางความคิด เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ที่ไร้เสียง และสิ่งสำคัญที่สุด คือเราสนับสนุนให้ผู้ใหญ่ในสังคมให้ความสำคัญกับความคิดของเยาวชน”

ในการนำเสนอโครงการ เหล่าสมาชิก YPAB ได้นำเสนอ 5 โครงการตามประเด็นที่ตนสนใจ โดย “กลุ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชน” ได้นำเสนอแผนรณรงค์ผลักดันให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในที่ประชุมผู้ปกครองของโรงเรียน เพราะเล็งเห็นว่านักเรียนคือผู้มีส่วนได้เสียหลัก และไม่ควรถูกปิดกั้นจากกระบวนการตัดสินใจระหว่างคุณครูและผู้ปกครอง พวกเขาจึงมีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
กลุ่มถัดมาให้ความสนใจเรื่อง “การคุ้มครองเด็ก” พวกเขาเรียกร้องให้หยุดการข่มเหงรังแกทางวาจา โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในโรงเรียน ทางด้านกลุ่ม “สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี” ได้มุ่งเน้นให้คนในสังคมเลิกตีตราผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตใจ และส่งเสริมให้การพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยพวกเขามีแผนในการออกแบบและจัดแสดงภาพอินโฟกราฟิกในที่สาธารณะเพื่อสนับสนุนให้ลดการตีตรา และสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่คนทั่วไป
ในส่วนของกลุ่ม “สิ่งแวดล้อม” ได้ออกแบบเกมสำหรับนักเรียนในโรงเรียน เพื่อใช้รณรงค์เรื่องการลดเศษอาหารเหลือทิ้งและขยะพลาสติกใช้ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวันของโรงเรียน และโยงไปถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ และกลุ่มสุดท้ายซึ่งขับเคลื่อนประเด็นด้าน “การศึกษา” พวกเขาได้วางแผนการใช้ภาพถ่ายเชิงสร้างสรรค์ และการออกแบบเกมสำหรับนักเรียน เพื่อรณรงค์และผลักดันด้านการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
“ค่ายนี้เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นและร่วมหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันกับยูนิเซฟ การฟังเสียงของเยาวชน และเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานของเราถือเป็นภารกิจสำคัญของยูนิเซฟและองค์กรพันธมิตร เพราะเยาวชนจะเข้าใจปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ได้ดีที่สุด ซึ่งนโยบายและการตัดสินใจในด้านต่าง ๆ นี้เป็นสิ่งที่ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพวกเขาและคนรุ่นต่อไป” จอมขวัญ ขวัญยืน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวก่อนจะเสริมว่า ค่ายนี้ออกแบบมาเพื่อเสริมทักษะให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ปัญหา และโน้มน้าวผู้มีอำนาจตัดสินใจ นำไปสู่การทำงานแก้ไขรากของปัญหาและนำเสนอทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นเดียวกัน

ในโอกาสนี้ มูลนิธิไรท์ ทู เพลย์ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมในค่ายนี้เพื่อช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้และแสดงออกผ่านเกมและกีฬา ภายหลังการละลายพฤติกรรม เยาวชนผู้ร่วมงานได้จัดกลุ่มตามหัวข้อที่เลือก ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการของยูนิเซฟและวิเคราะห์ว่าโครงการเกี่ยวข้องกับเยาวชนอย่างไร โดยในวันที่สอง พวกเขาได้เรียนวิธีการสร้างกรอบความคิด และการทำงานร่วมกับผู้อื่นผ่านกิจกรรมสันทนาการ ก่อนที่จะเตรียมงานนำเสนอโครงการในวันสุดท้าย
สุมิตรา สุทธิทรงธรรม รัฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วัย 23 ปีที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในบริษัทแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ กล่าวว่า การเป็นส่วนหนึ่งของ YPAB ช่วยทำให้เสียงของเธอดังขึ้นและได้รับการรับฟัง
ช่วงต้นปีนี้ สุมิตราและเพื่อนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแพลทฟอร์ม E-Workforce Ecosystem Platform ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พันธมิตรของยูนิเซฟ เพื่อสนับสนุนเยาวชนในการฝึกทักษะและหางาน สุมิตราได้แสดงความคิดเห็นว่าแพลทฟอร์มใหม่นี้ควรแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาดปัจจุบันอย่างไร”หากแพลทฟอร์มนี้ต้องการดึงดูดผู้ใช้เยาวชน นอกเหนือจากวัยทำงาน หรือผู้บริหารระดับกลาง ก็ควรมีอะไรมากกว่าแค่พื้นที่สำหรับอัพโหลดประวัติย่อหรือผลงาน” สุมิตรากล่าว เธอกับเพื่อนยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างชุมชนออนไลน์ภายในแพลทฟอร์ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มที่เพิ่งเรียนจบและหางานเป็นครั้งแรก รวมถึงนักศึกษาที่กำลังมองหาคำแนะนำด้านอาชีพและเคล็ดลับการสมัครงาน
แม้ว่าการให้ความเห็นเรื่องแพลทฟอร์มดังกล่าวอาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สุมิตราก็ดีใจที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบนแพลทฟอร์มเพื่อการใช้งานที่เหมาะสมกับเยาวชนมากขึ้น “นอกจากมีคนรับฟังความเห็นของเราแล้ว ความคิดเห็นของเรายังมีความหมายและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย”

ปกรณ์ แซ่ย่าง วัย 19 ปีจากจังหวัดตากตัดสินใจเข้าร่วม YPAB เนื่องจากปัญหาด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนไร้สัญชาติ
ปกรณ์ได้ตระหนักถึงความชัดเจนของปัญหาเมื่อเขาได้เข้าเรียนในภาควิชามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วพบกับความท้าทายของรายวิชาที่ยากจะเข้าใจรวมทั้งอุปสรรคในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ผลการเรียนที่ย่ำแย่ของเพื่อนนักศึกษาจากโรงเรียนขยายโอกาสในบ้านเกิดของเขาไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการขาดหนทางเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา แต่ยังแสดงภาพรวมของการขาดโอกาสทางการศึกษาในหมู่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ
“ไม่มีสัญชาติก็ไม่มีโอกาส” ปกรณ์กล่าวว่าความเป็นบุคคลไร้สัญชาติทำให้เพื่อนจากถิ่นเดียวกันพบกับความยากลำบากในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
ปกรณ์ตัดสินใจเข้าร่วม YPAB เพราะเขาเห็นยูนิเซฟและพันธมิตรได้ช่วยเหลือบุคคลไร้สัญชาติในการยื่นขอสัญชาติถึงแม้กระบวนการจะยาวนาน แต่ก็ยังสร้างโอกาสที่เพิ่มขึ้นให้ให้แก่พวกเขา
“ผมอยากให้ผู้คนและองค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ” นักศึกษามานุษยวิทยากล่าว เขากับเพื่อนในมหาวิทยาลัยเพิ่งรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือนักเรียนไร้สัญชาติให้ได้มีสัญชาติเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการพื้นฐาน
YPAB ถือเป็นโครงการระยะยาว และค่ายนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมที่หลากหลายรวมถึงโอกาสของสมาชิกในฐานะที่ปรึกษาเยาวชนขององค์การยูนิเซฟเท่านั้น เรามิได้มองหาผู้เข้าร่วมระดับหัวกะทิ แต่ต้องการคนที่ปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงระบบและเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา โดยไม่จำกัดเพศ ความสามารถ เชื้อชาติใด ๆ ทุกท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาชิกทั้ง 62 คนของ YPAB และงานของพวกเขาได้ที่ คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ (YPAB) | UNICEF Thailand