"เยาวชนทุกคนเป็นฮีโร่ได้" ยูนิเซฟจัดเฟซบุ๊กไลฟ์ ให้เยาวชนไทยได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ

เยาวชนไทย ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นกลัวโควิด-19

Naruemon Charnvuttikul
-	UNICEF hosts Facebook Live for young people and doctors to engage with experts around COVID-19
UNICEF Thailand
21 เมษายน 2020

“Every Child Can be a Hero” คือบทสรุปที่น้องฟรองซ์ ธนวัฒน์ พรหมโชติ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนเเห่งประเทศไทย  ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนเอ่ยขึ้นหลังจากจบการพูดคุยกับ ดร. นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผศ. หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากกรมสุขภาพจิตในหัวข้อ “เยาวชนไทย ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นกลัว Covid-19” ผ่านทาง Facebook LIVE ที่ยูนิเซฟ ประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มาร่วมแชร์ปัญหาและประสบการณ์การใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจของเด็ก ๆ และผู้คนทั่วทั้งโลก  เด็ก ๆ ยังได้รับฟังข้อคิดดี ๆ จากคุณหมอทั้งสองท่าน เกี่ยวกับวิธีรับมือกับความเครียดหรือปัญหาใหม่ ๆ ในชีวิตที่มาพร้อมกับไวรัสวายร้ายตัวนี้

น้องฟรองซ์นิยามประโยคนี้ขึ้นมาจากที่คุณหมอวรตม์ได้ฝากข้อคิดไว้ได้อย่างน่าฟังว่าเด็กและเยาวชนก็สามารถเป็นฮีโร่ได้  หลายครั้งที่เราบอกว่าบุคลกรทางการแพทย์คือฮีโร่ของเราทุกคนเพราะเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19  แต่จริง ๆ แล้วประชาชนทุกคน โดยเฉพาะน้อง ๆ เยาวชนทุกคนก็เป็นฮีโร่ได้ทั้งนั้น  เพราะการที่เราจะยังยั้งการแพร่ระบาดได้สำเร็จ ไม่ได้อาศัยแต่หมอพยาบาลเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือบ่อย ๆ  และการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งนอกจากต้องทำเพื่อป้องกันตัวเองแล้ว น้อง ๆ ยังสามารถเป็นตัวอย่างให้พ่อแม่และคนรอบตัวปฏิบัติตาม และเมื่อทุกคนเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่าง ๆ   แล้ว ในที่สุดเราก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตในประเทศลง และหยุดการแพร่ระบาดได้ในที่สุด

ในช่วงการสนทนา น้อง ๆ หลายคนเห็นด้วยที่ทุกคนต้องช่วยกัน แต่หลายคนก็กำลังเผชิญกับความเครียดจากการที่ไม่ได้ออกไปไหน อีกทั้งยังต้องเจอหน้าคนที่บ้านตลอดเวลา คุณหมอเสนอให้ลองคิดในอีกมุมหนึ่งว่า  นี่อาจเป็นโอกาสดี (ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย) ในการมีเวลาที่จะทำอะไรต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำหรือไม่เคยคิดจะทำมาก่อน

ยกตัวอย่างเช่น น้อง ๆ เยาวชนอาจถือโอกาสนี้ช่วยผู้ใหญ่ที่บ้าน จัดการกับเฟคนิวส์  มีคำถามจากน้อง ๆ เยาวชนหลายคนที่ไม่รู้วิธีบอกผู้ปกครองไม่ให้หลงเชื่อข่าวปลอม เพราะบางครั้งอธิบายไปแล้วผู้ใหญ่ไม่ฟัง คุณหมอวรตม์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้คำแนะนำเรื่องนี้ว่า ให้น้อง ๆ ลองเปิดใจรับฟังผู้ใหญ่เพื่อสร้างความไว้ใจก่อน อย่าเพิ่งต่อต้านท่านทันที และลองพูดคุยหาสาเหตุว่าท่านกังวลอะไร และทำไมถึงเชื่อเฟคนิวส์ พอรู้แล้วก็อธิบายเหตุผลให้เชื่อทีละข้อ ก็จะสามารถโน้มน้าวให้ญาติผู้ใหญ่เชื่อเราได้ การได้คุยกันเบบนี้ก็จะช่วยให้เราเข้าใจผู้ใหญ่ในบ้านมากขึ้นอีกด้วย

น้อง ๆ บางคนบอกว่า รู้สึกกังวลที่ต้องอยู่กับบ้านนาน ๆ เพราะจากเดิมที่เราไปไหนมาไหนได้สะดวก ได้ไปโรงเรียนพบเจอเพื่อน ๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน ต้องเจอหน้าพ่อแม่ทุกวัน หลายคนเครียด อึดอัด บางคนไม่อยากฟังเวลาพ่อแม่คุยด้วย ทำให้สื่อสารไม่เข้าใจกันและเบื่อหน่ายซึ่งกันและกัน หรือแม้กระทั่งน้อง ๆ กลุ่ม LGBT ที่ปกติเคยออกนอกบ้านไปแสดงตัวตนกับเพื่อนๆ ได้เต็มที่ พออยู่บ้านก็ไม่สามารถแสดงตัวตนได้ ต้องเก็บงำเงียบอยู่คนเดียว กลัวพ่อแม่รู้

คุณหมอให้คำแนะนำว่า จริง ๆ แล้ว ตอนนี้คือเวลาที่เราจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสสำหรับครอบครัวได้ การมีเวลาร่วมกันเป็นโอกาสที่จะพูดคุยกันและสร้างเวลาคุณภาพร่วมกันมากขึ้น จากที่ต่างคนต่างอยู่คนละมุมเล่นมือถือ ไม่คุยกัน ไม่เข้าใจกัน ก็พยายามหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น  ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศที่เราจะรับฟังความเห็นกัน  และได้เริ่มพุดคุยเรื่องที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน  คุณหมอยังให้ทิปส์ว่า ถ้าน้อง ๆ อยากให้พ่อแม่เข้าใจ ก็ลองรับฟังพ่อแม่ก่อน ลองแสดงเป็นตัวอย่างให้ผู้ใหญ่ดูก่อน แล้วบอกท่านว่าเราอยากให้ท่านรับฟังเราบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ว่าผลลัพธ์ของการพูดคุยจะเป็นอย่างไร เราต้องไม่ลืมว่า มันไม่ได้เปลี่ยนความรักที่เรามีต่อพ่อแม่เลย และนั่นคือความจริงที่สำคัญที่สุด

คุณหมอวรตม์ยังแนะนำน้อง ๆ ถึงวิธีสังเกตอาการว่าเราเครียดเกินไปหรือเปล่า ซึ่งคุณหมอเสริมว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีความเครียดในระดับหนึ่งที่เป็นปกติอยู่แล้ว หากใครไม่เครียด ไม่กังวลเลย ถือว่าประมาท และอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะตายก่อนเพื่อนได้ แต่ความเครียดในระดับที่ผิดปกติสามารถสังเกตได้ 3 ด้าน ด้านแรกคืออารมณ์ เช่น เศร้าหมองมากขึ้น ท้อแท้ เบื่อหน่ายมากขึ้น ด้านที่สองคือความคิด เช่น แต่เดิมคิดได้รวดเร็ว ตอนนี้กลับมีความคิดแปลกประหลาด บางคนกลัว ระแวง อยากทำร้ายตัวเอง และอยากตาย และสุดท้ายคือด้านพฤติกรรม คือ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ก้าวร้าว อาละวาด ทำร้ายคนอื่น และยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  

นอกจากสุขภาพจิตแล้ว ในช่วง LIVE สด น้อง ๆ หลายคนยังสงสัยด้านสุขภาพกายด้วย มีคำถามน่าสนใจว่า การออกกำลังกายสามารถเสริมหรือเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคนี้ได้หรือไม่ หรือไม่ว่าเราจะแข็งแรงแค่ไหนเชื้อก็สามาถทำลายปอดได้ เรื่องนี้คุณหมอปกรัฐบอกว่า จริง ๆ การออกกำลังกายไม่ได้เพิ่มภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 แต่สมมติว่าเราติดเชื้อแล้ว คนที่ออกกำลังกายและมีสุขภาพดี ปอดแข็งแรง จะช่วยให้อาการไม่รุนแรง นอกจากการออกกำลังกายแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ด้วย

คุณหมอปกรัฐปิดท้ายว่า พวกเราทุกคนมี 2 บทบาท บทบาทหนึ่งคือ เราเป็นผู้ป้องกันการติดเชื้อ อีกบทบาทหนึ่งก็คือการไม่แพร่เชื้อ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือ การล้างมือ การเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งหากเราทำได้เราก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งไม่เป็นผู้แพร่เชื้อให้แก่คนอื่นได้

น้อง ๆ สามารถเป็นฮีโร่สร้างคุณค่าให้ตนเอง คนรอบตัว และสังคมได้ หากนำคำแนะนำของคุณหมอทั้ง 2 ท่านไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตในช่วงนี้ สุดท้ายนี้ขอยืม 3 คำจากคุณหมอวรตม์เพื่อเตือนใจน้อง ๆ เยาวชน รวมทั้งพวกเราทุกคนในวิกฤตครั้งนี้ที่กำลังท้าทายมวลมนุษยชาติอย่างเราเหลือเกินว่า อยู่บ้าน อยู่ห่าง อยู่รอด หากเราทำได้ นอกจากจะช่วยเหลือตัวเราเองให้รอดจากเชื้อแล้ว เรายังช่วยบุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติให้รอดจากวิกฤตนี้ได้อย่างแน่นอน  ....  แล้วเราจะผ่านไปด้วยกันค่ะ

หมายเหตุ Facebook LIVE ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ยูนิเซฟจัดให้ผู้เข้าร่วมพูดคุยกันออนไลน์ผ่าน application Zoom ซึ่งยังมีประเด็นคำถามอื่น ๆ ที่น่าสนใจจากเยาวชนอีกมากมาย เช่น ความเครียดจากการที่พ่อแม่รายได้ลดลง ความกังวลในอนาคต หรือการปฏิบัติตัวสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องอยู่หอพัก บรรยากาศการพูดคุยจะเป็นอย่างไร และคุณหมอจะตอบว่าอย่างไร รับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook : UNICEF Thailand

ชมวิดีโอย้อนหลัง: https://www.facebook.com/unicefthailand/videos/150835162929164/