เซฟโซนนี้มีไว้พักใจ
สร้างแรงใจพร้อมส่งเสริมสุขภาพใจเยาวชนด้วย ‘เซฟโซนเซฟใจ’

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
ยังจำได้ไหมว่าครั้งสุดท้ายที่เรารู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะเล่าความรู้สึกที่แท้จริงคือเมื่อไหร่? เรามีมุมพักใจให้กับตัวเองบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน หรืออาจจะเป็นมุมพักใจกับเพื่อนฝูง แต่สำหรับเด็กและเยาวชนจำนวนมากในประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับการตีตราเรื่องสุขภาพใจ พวกเขาอาจไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเหล่านี้ที่จะช่วยให้เขาได้เล่าเรื่องราวปัญหาของตัวเองออกมาได้
และนั่นทำให้ยูนิเซฟอยากส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนร่วมค้นหา “เซฟโซนไว้พักใจ” หรือพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง ภายใต้โครงการ “โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน” - การมีเซฟโซนที่ช่วยให้เราได้พักใจที่อ่อนล้าและโอบกอดด้านที่เปราะบางของตัวเองโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสิน พื้นที่นี้จะช่วยเยียวยาและสร้างแรงใจให้เราฟื้นคืนกลับมา และพร้อมพาตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกเผชิญโลกภายนอกได้ในท้ายที่สุด
การที่เด็กและเยาวชนค้นพบเซฟโซนจะช่วยสร้างแรงใจให้กับตัวเอง ไม่ว่าเซฟโซนนี้จะเป็นในรูปแบบที่เราคุ้นเคยหรือแปลกใหม่ก็ตาม เช่น การเล่นกับสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน การเลือกเส้นทางกลับบ้านที่อาจจะอ้อมสักหน่อย แต่ได้พบทิวทัศน์ที่สวยงามกว่าเดิม หรืออาจจะเป็นการทุ่มเทใจสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง
สำหรับเฟรนด์ออฟยูนิเซฟ เป๊ก ผลิตโชค และวงดนตรี A Little Bit High แล้ว เซฟโซนของพวกเขาคือการเติมเต็มหัวใจด้วยเสียงดนตรี ลองมาชมผลงาน “หยุดพัก” ที่เกิดจากการค้นพบเซฟโซนที่เงียบสงบแต่ทรงพลังของนักดนตรีนอกกระแสกลุ่มนี้กัน
คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะเหมาะสมไปกว่านี้ สำหรับการได้ค้นพบเซฟโซนที่จะช่วยปลดความรู้สึกหนักอึ้งทั้งหลายลงได้ เพราะนี่คือช่วงเวลาหลายปีที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับความโศกเศร้า ความไม่แน่นอน ความโดดเดี่ยว และความเครียดในชีวิต โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา การสำรวจพบว่า 1 ใน 14 ของเด็กที่มีอายุ 5-9 ปี และ 1 ใน 7 ของวัยรุ่นในช่วงอายุ 10-19 ปีในประเทศไทยมีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้วัยรุ่นอายุ 13-17 ปีอีกร้อยละ 17.6 เคยคิดถึงการฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง ในขณะที่บ้านเรามีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กเพียง 200 คน ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่รู้ว่าเขาจะหันหน้าไปพึ่งใครได้
“สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย ทำให้พวกเขามักจะมีปัญหาในการเรียน การเข้าสังคมกับเพื่อนในโรงเรียน อีกทั้งยังต้องรับมือกับอารมณ์ที่ปรวนแปรของตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปจนถึงวัยที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่” จักรพันธ์ จันทร์ชาตรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่น องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมยูนิเซฟจึงสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตที่บูรณาการทั้งภาครัฐและภาคสังคมที่สามารถเข้าถึงเด็ก เยาวชน และกลุ่มคนเปราะบาง ทั้งที่บ้าน โรงเรียน และชุมชนได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ในด้านนโยบาย นี่หมายถึงวิสัยทัศน์ที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนและการบริการ ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ครอบคลุมมากกว่างานด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และภาคส่วนงานด้านยุติธรรม นอกจากนี้ สำหรับพวกเราทุกคนแล้ว นี่ก็หมายถึง การที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเป็นเซฟโซนให้กับคนที่เรารักเสมอ ให้เขาได้เข้ามาหาเราโดยไม่ต้องรู้สึกว่าเขากำลังถูกตัดสินหรือตัวเองกำลังเป็นภาระให้กับคนอื่น”
เซฟโซนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบสถานที่หรือผู้คน จะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องรับมือกับความเครียดหรืออารมณ์ที่ซับซ้อน ลองมาฟังเรื่องราวของพา เด็กสาวที่ค้นพบเซฟโซน ณ สถานที่หนึ่งในบ้านของเธอเอง
“พาเคยตั้งชื่อเล่นให้กับห้องนอนของพาว่า ‘ห้องซับน้ำตา’ เพราะว่าเราเข้าไปร้องไห้ที่นั่นบ่อย เรารู้สึกว่าห้องนอนเป็นห้องที่เราผ่านอะไรมามากมายเหมือนกัน”
ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าเซฟโซนของตัวเองคืออะไร ลองทำควิซนี้ดู สำหรับพาแล้ว การอยู่กับตัวเองเพื่อทบทวนและทำความเข้าใจกับความรู้สึกคือกุญแจสำคัญ
“ลองดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นข้างในตัวเรา ต่อมาถ้าเรารู้แล้วว่าเรารู้สึกอะไรอยู่ ให้ลองมองหาพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะระบายสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกับตัวเองในห้องคนเดียว หรือว่ากับเพื่อน ๆ ที่เราไว้ใจ หรือว่าผู้ใหญ่ที่เรารู้สึกว่าเขาเข้าใจเรา ได้เหมือนกันค่ะ”
ที่สำคัญ คือ ครอบครัวก็เป็นเซฟโซนได้เช่นกัน แคมเปญ “โอกาสพักใจ มีได้ทุกวัน” ในแต่ละสัปดาห์เฟสบุ๊คเพจของเรามีเนื้อหาที่จะช่วยให้พ่อแม่และผู้ปกครองสามารถเป็นแรงส่งเสริมสุขภาพใจของเด็ก ๆ ได้ เช่น การเลือกคำพูดที่ไม่ทำร้ายจิตใจ เข้าใจสัญญาณที่บอกว่าลูกหลานกำลังเผชิญกับปัญหาทางจิตใจ รวมถึงวิธีการฟังอย่างตั้งใจ
“หลัก ๆ เลยน่าจะเป็นเรื่องของการฟัง” คุณกุ๊ก คุณแม่ผู้สามารถหาจุดร่วมกับลูกชายจนเจอ กล่าว “ฟังเท่านั้นแหละ ที่จะทำให้เด็กเหมือนได้ระบายอะไรออกมาสักอย่างหนึ่ง แล้วการฟังที่ดี ก็คือ ฟังแล้วไม่ตัดสิน ก็คือให้เขาได้รู้ว่า สิ่ง ๆ นี้ที่เขาได้พูดออกมา นั่นแหละ มันคือพื้นที่ปลอดภัยแล้ว”
เมื่อคุณค้นพบเซฟโซนของคุณแล้ว ลองแชร์ประสบการณ์นั้นบนโซเชียลมีเดียให้กับคนใกล้ชิดด้วยสติกเกอร์ “เซฟโซน เซฟใจ” อย่าลืมว่าเซฟโซนคือที่ที่เราจะกลับมาได้เสมอ เมื่อเรารู้สึกอ่อนแอหรืออยากพักใจ และวันไหนที่เรารู้สึกว่าต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าลืมว่ายังมีช่องทางอีกมากมายที่พร้อมเป็น “เสื้อชูชีพ” รอช่วยเหลือคุณอยู่เสมอ
“สำหรับพาแล้ว การพบผู้เชี่ยวชาญ เหมือนกับเสื้อชูชีพ” พาอธิบาย “ให้เราลองนึกว่า เรากำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลแล้วกัน ถ้าเราอยู่ในสภาวะลมที่สงบ เสื้อชูชีพนั้นไม่จำเป็น แต่ในวันที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์เราแปรปรวนเหมือนกับคลื่นทะเล จนเราไม่สามารถที่จะว่ายน้ำข้ามผ่านไปได้แล้ว เราก็ควรจะยกมือขอความช่วยเหลือว่า ขอเสื้อชูชีพหน่อย”
ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือผู้ปกครอง ช่องทางต่าง ๆ ด้านล่างนี้ พร้อมที่จะสนับสนุนสุขภาพใจของคุณอยู่เสมอ:
- สายด่วนสุขภาพจิต | 1323
- คลินิกสุขภาพจิตในโรงพยาบาลทั่วไป
- บริการรับฟังเรื่องสุขภาพจิต | www.satiapp.co
- ไลน์แชทปรึกษาสุขภาพจิตเบื้องต้น | @Khuikun
- แบบประเมินสุขภาพจิตตนเอง | www.วัดใจ.com
- เลิฟแคร์สเตชั่น ช่องทางเพื่อวัยรุ่น
- ปรึกษาออนไลน์ (16.00 - 24.00) | www.lovecarestation.com
- ไลน์แชท (12.00 - 20.00) | @LoveCareStation - มูลนิธิสายเด็ก ช่องทางให้คำปรึกษาเพื่อเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี | www.childlinethailand.org
- โทรสายเด็ก 24 ชม. | 1387
- ไลน์แชท | @saidek1387
- แชทเมสเซนเจอร์ | http://m.me/childlinethailand - Teen Club แพลตฟอร์มสำหรับวัยรุ่น
- ไลน์แชท (17.00 – 23.00) | @Teen_Club - เครื่องมือคัดกรองอาการสุขภาพจิต และอบรมความรู้สำหรับครู | learning.hero-app.in.th