ห้องสมุดเคลื่อนที่: เมื่อหนังสือเดินทางไปหาเด็ก ๆ ในจังหวัดยะลา
หัวใจสำคัญของโครงการ “เด็กทุกคนอ่านได้”

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
ห้องสมุดเคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกล เกิดขึ้นเพื่อยกระดับการรู้หนังสือในชุมชนด้อยโอกาส เป็นรถบรรทุกขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้เพื่อขับข้ามเส้นทางป่า ได้รับการออกแบบแบ่งส่วนกั้นแยกเพื่อติดตั้งชั้นวางหนังสือ ซึ่งสามารถแสดงหนังสือขณะเดียวกันก็จัดเก็บไม่ให้หนังสือกระจัดกระจายได้ รถบรรทุกแต่ละคันจะมีเจ้าหน้าที่บริการสื่อที่ผ่านการอบรม สามารถสอนเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาไทยเป็นภาษาแม่ ให้อ่านภาษาไทยได้ไปกับห้องสมุดด้วย
การทำงานและอ่านหนังสือร่วมกันเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เด็ก ๆ ทำเมื่อห้องสมุดเคลื่อนที่มาเยี่ยมโรงเรียนบ้านบัวทอง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เป็นเวลาครึ่งวัน นอกเหนือจากหนังสือในห้องสมุดแล้ว เด็ก ๆ ยังมีโอกาสได้ใช้สื่อการเรียนอื่น ๆ ที่พ่อแม่ที่ส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อหาให้ได้ เช่น ปากกาอัจฉริยะซึ่งสามารถอ่านหนังสือได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือ แท็บเล็ต


“เด็ก ๆ ใช้อุปกรณ์พวกนี้เก่งมากทั้งที่เพิ่งเคยจับเป็นครั้งแรก ราวกับพวกเขาเกิดมาพร้อมกับมันเลยทีเดียว” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดถึงทักษะการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่เด็ก ๆ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว


เด็ก ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งตาคอยรถห้องสมุดเคลื่อนที่ให้มาเยี่ยมที่โรงเรียน เพราะหนังสือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของที่เด็ก ๆ เข้าถึงได้ยาก
รายงานสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในภาคใต้เพียงร้อยละ 29 มีหนังสือเด็กที่บ้านอย่างน้อย 3 เล่ม ซึ่งระหว่างการลงพื้นที่ในจังหวัดยะลาเมื่อเดือนกันยายน 2565 พบว่ามีเด็กเพียงไม่กี่คนเล่าว่าที่บ้านมีหนังสือเด็กหรือมีหนังสือบ้างสักเล่ม

รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ชักชวนให้น้อง ๆ เลือกหนังสือเล่มโปรดและสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ จากห้องสมุดเคลื่อนที่ที่เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนในบ่ายวันหนึ่งของเดือนกันยายน 2565

ห้องสมุดเคลื่อนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เด็กทุกคนอ่านได้” ยูนิเซฟมอบรถห้องสมุดเคลื่อนที่พร้อมกับหนังสือและสื่อการเรียนภาษาให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยในกลุ่มเด็กนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาแม่


รถห้องสมุดเคลื่อนที่ในพื้นที่ซึ่งวิ่งในจังหวัดยะลาต่างจากห้องสมุดเคลื่อนที่ในเขตอื่น เพราะไม่สามารถจอดค้างคืนในโรงเรียนได้ รถห้องสมุดจะออกจากสำนักงานของสพฐ.ในอำเภอเบตงในตอนเช้าเพื่อเข้าทำกิจกรรมในสองโรงเรียน ก่อนจะต้องขับกลับไปยังสำนักงานในตอนเย็น ซึ่งใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 3-5 ชั่วโมงต่อวัน

ด.ญ. นูรฟิรดาวส์ เจ๊ะมะ อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ยืมหนังสือ “หนูน้อยหมวกแดง” กลับมาบ้านเพื่ออ่านให้ เมาะมีนะห์ ปูตะ ผู้เป็นแม่ฟังตอนหลังเลิกเรียนวันหนึ่งในเดือนกันยายน 2565
นูรฟิรดาวส์ เป็นหนึ่งในนักเรียน 134 คนในโรงเรียนบ้านบัวทอง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ที่ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาแม่ ทางโรงเรียนจึงสนับสนุนให้เด็ก ๆ มีกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านนอกเวลาเรียน เช่น การใช้เวลากับห้องสมุดเคลื่อนที่ครึ่งวัน หนังสือในห้องสมุดเคลื่อนหลายเล่มมีทั้งภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนภาษาไทยควบคู่ไปกับภาษาแม่

ด.ญ. นูรอีฟา อาแด อายุ 9 ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และน้องสาว ด.ญ. นูรอีมาน อาแด กำลังอ่าน “กระต่ายกับเต่า” ที่ยืมมาจากโรงเรียนบ่ายวันหนึ่งหลังเลิกเรียนในเดือนกันยายน 2565 หนังสือและอุปกรณ์การเรียนในห้องสมุดเคลื่อนที่ที่จังหวัดยะลาเป็นเครื่องมือส่งเสริมการอ่านและเรียนภาษาให้กับเด็ก ๆ

ด.ญ. นัสริน เจ๊ะปอ กับหนังสือเล่มโปรด “เจ้าดาวน้อย กับ สวนสัตว์”

ด.ช บัซซาม เจะอีแต กับหนังสือเล่มโปรด “มาปลูกข้าวกันเถอะ”

ด.ญ ฟาฮามี กาเฮะ กับหนังสือเล่มโปรด “เด็กเลี้ยงแกะ”

เด็ก ๆ ในโรงเรียนบ้านบัวทอง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา กำลังผลัดกันใช้แท็บเล็ตที่ได้ยืมจากห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อค้นว่า รูปไดโนเสาร์ที่พวกเขาได้รับมอบหมายมานั้นเป็นจำพวกกินพืช กินเนื้อสัตว์ หรือกินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้ว่าในอดีตนั้นเคยมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนในกลุ่ม

“ผมต้องมั่นใจว่าเด็กทำกิจกรรมทุกอย่างเสร็จหมดแล้วถึงจะเดินออกมาได้ ไม่อย่างนั้นเด็กจะทิ้งทุกอย่างแล้วไม่กลับไป [ทำกิจกรรมอื่น] ต่ออีกเลย” รามิล ตาเดอัน เลขากลุ่มนิเทศฯ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดยะลาเขต 3 ที่ทำหน้าที่ใส่ชุดไดโนเสาร์เป็นกิจกรรมปิดท้ายการเยือนห้องสมุดเคลื่อนที่ในทุกโรงเรียน กล่าว
กิจกรรมปิดท้ายนี้ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง เพราะถึงแม้เด็ก ๆ จะเพิ่งค้นเจอจากแท็บเล็ตว่าไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไป 65 ล้านปีแล้ว แต่ทุกคนก็สนุกสนานกับการวิ่งไล่จับไดโนเสาร์ในสนามโรงเรียน
