ส่งมอบหนังสือเด็ก อุปกรณ์การเรียนรู้แบบดิจิทัล และข้อมูลเรื่องวัคซีนแก่ชุมชนพื้นที่ห่างไกล
คณะทำงานยูนิเซฟลงพื้นที่ชุมชนข้ามชาติในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
คณะทำงานยูนิเซฟซึ่งนำโดย คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ชุมชนข้ามชาติในพื้นที่ห่างไกลในอำเภอแม่สอด ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม เพื่อรับทราบถึงผลการปฏิบัติงานของยูนิเซฟที่ให้การสนับสนุนด้านความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก คณะทำงานยังได้พบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพันธมิตรของยูนิเซฟ เช่น หน่วยงานด้านการศึกษาท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในชุมชนชายขอบ

ในช่วงค่ำของวันแรก คณะทำงานยูนิเซฟเดินทางไปยังชุมชนเจดีย์โคะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหล่าแรงงานข้ามชาติและครอบครัวรวมตัวกันหลังจากเสร็จงาน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมที่หน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกล (Shoklo Malaria Research Unit) จัดขึ้น กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟ
ชุมชนผู้อพยพในพื้นที่ห่างไกลได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างหนัก การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในรูปแบบนี้เปิดโอกาสให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขอนามัย วิธีป้องกัน และแก้ไขความเข้าใจผิดและความกลัวในการรับวัคซีนโควิด-19

เด็กจากครอบครัวแรงงานข้ามชาติรวมตัวกันที่ด้านหนึ่งของสนามเพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 ด้วยการล้างมือเป็นประจำและรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ระหว่างนั้นเด็ก ๆ ยังเพลิดเพลินกับการรับประทานขนมและทำกิจกรรมระบายสีกับเพื่อน ๆ
“ดิฉันมีความยินดีที่ได้เห็นความช่วยเหลือที่องค์การยูนิเซฟส่งมอบให้กับชุมชนต่าง ๆ ด้วยตัวเอง” คิมกล่าวต่อ “งานในระดับนโยบายของเราจะไม่มีความหมายใด ๆ เลยหากไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อชีวิตของเด็ก ๆ ได้”
ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวัยผู้ใหญ่รวมตัวกันรับฟังข้อมูลด้านสุขภาพและประโยชน์ของการเข้ารับวัคซีนอยู่นั้น ก็มีการจัดกิจกรรมเต้นรำแทรกเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าร่วมฟัง

“การจัดหาข้อมูลด้านสุขภาพที่สำคัญให้กับชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้พวกเขาเข้าใจการดูแลตนเองและคนที่รักในวิกฤติครั้งนี้ และช่วยให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรง” บุลากร ทิน้อย ผู้ช่วยฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ จากหน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกล ให้ความเห็นในช่วงท้ายของกิจกรรม
วันต่อมา คณะทำงานยูนิเซฟเดินทางไปเยี่ยมห้องสมุดเคลื่อนที่ที่บ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 รับผิดชอบดูแลนักเรียนประมาณ 52,000 คน ซึ่งหนึ่งในสามเป็นเด็กจากครอบครัวแรงงานข้ามชาติ นอกจากนั้น ยังมีศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ อีก 66 แห่ง ที่รับผิดชอบดูแลเด็กอีกเกือบ 9,000 คน เพื่อสนับสนุนระบบการศึกษาของภาครัฐ

กลุ่มเป้าหมายของโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ คือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและชุมชนชาติพันธุ์ โดยได้มีการนำหนังสือ อุปกรณ์สารสนเทศ เช่น แล็ปท็อป แท็บเล็ต โพรเจกเตอร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาให้นักเรียนที่ยังคงประสบปัญหาด้านการเขียนอ่านขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้แบบดิจิทัล

โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ขององค์การยูนิเซฟเริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 โดยได้รับการสนับสนุนจากท็อปส์ จนถึงปัจจุบันได้ช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาสในแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ เลย และ ยะลา ไปแล้วมากกว่า 10,000 คน
“การศึกษาเป็นพื้นฐานและส่วนสำคัญของต้นทุนชีวิตมนุษย์” คิม กล่าวกับ นายปิลัทธ์ อุดมวงษ์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการต่าง ๆ ที่ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว ทำงานร่วมกับศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงการศึกษาและควรได้รับเครื่องมือเพื่อสนับสนุนอนาคตของพวกเขา”

บริเวณสนามของโรงเรียน เด็กหญิงธวัลรัตน์ พิมลศรทอง อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อธิบายว่าห้องสมุดเคลื่อนที่เปิดโอกาสให้เธอเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่มีในโรงเรียนได้อย่างไร “หนูรักการอ่าน โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนค่ะ” “ห้องสมุดเคลื่อนที่มีหนังสือให้เลือกมากมายและหลากหลายกว่าที่มีในห้องสมุดของโรงเรียนหนูค่ะ”
สุนาลิน อินปุ๊ด เพื่อนร่วมชั้นของเด็กหญิงตะวันรัตน์ กล่าวเสริม “หนูตื่นเต้นและดีใจมากค่ะที่เห็นห้องสมุดเคลื่อนที่ครั้งแรก หนูชอบอ่านหนังสือประเภทวรรณคดีไทยและนำไปเล่าต่อในหนังสือทำมือที่พวกเราทำกันขึ้นมาเองในโรงเรียนค่ะ หนูชอบการใช้แท็บเล็ตในการค้นหาข้อมูลมาก หนูยังได้ใช้แท็บเล็ตเล่นเกมส์แข่งกับเพื่อน ๆ และใช้วาดรูปและระบายสีด้วยค่ะ”

วันที่สองได้ล่วงเลยเข้าสู่ช่วงสุดท้าย คณะทำงานยูนิเซฟเดินทางไป บ้านซอระแตะ อำเภอพบพระ ซึ่งมูลนิธิเสริมปัญญาได้จัดฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่องค์การยูนิเซฟสนับสนุน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติและครอบครัวได้รับชม ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กิจกรรมทางการศึกษาผ่านรูปแบบความบันเทิงนี้ได้จัดขึ้นทั้งหมด 24 ครั้ง และมีผู้ชมทั้งผู้ใหญ่และเด็กจำนวน 2,123 คน

จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2565 นี้อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 ในจังหวัดตากอยู่ที่ร้อยละ 67.4 เข็มที่ 2 อยู่ที่ ร้อยละ 57.3 และ เข็มที่ 3 มีเพียงร้อยละ 22.2 โดยมีการคาดการณ์ว่าอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจจะต่ำลงกว่านี้อีก โดยเฉพาะในหมู่คนข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือในกลุ่มผู้ที่ไม่มีเอกสารประจำตัวของทางราชการ กิจกรรมการฉายภาพยนตร์ดังกล่าว ซึ่งมุ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้มีส่วนช่วยกระตุ้นความต้องการในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนนโยบายของประเทศไทยที่จะปกป้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัยและทำให้สังคมและเศรษฐกิจกลับสู่สภาวะปกติ

“เมื่อเราฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เราจะได้ดูแลทั้งตนเองและคนที่เรารัก” คิม กล่าวกับกลุ่มผู้มาร่วมกิจกรรม นอกจากนั้น ยูนิเซฟยังได้แจกสมุดระบายสีเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และสีเทียนให้แก่เด็ก ๆ ในงานนี้เช่นกัน
“เป็นการยากที่แรงงานข้ามชาติจะแยกตัวหากติดเชื้อ” แมรี่ สโลน ผู้อำนวยการมูลนิธิเสริมปัญญากล่าวกับ คิม ระหว่างการพบปะกันในงานนี้ “การได้ร่วมมือกับยูนิเซฟ ทำให้เราสามารถช่วยเหลือให้พวกเขาดูแลและป้องกันตนเองได้ ทำให้พวกเขามีข้อมูลในสิ่งที่จำเป็นและคลายข้อกังวลที่มีลงได้”