วัคซีนช่วยชีวิตประชาชนในนนทบุรี
ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ ประเทศไทย และยูเอสเอด โรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพนนทบุรี พ้นวิกฤติขาดแคลนวัคซีนโควิด-19

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
หากเดินเข้าไปยังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์นนทบุรีเมื่อช่วงกลางปี 2565 จำนวนของผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลอาจจะมีจำนวนน้อย แต่แท้จริงแล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นศูนย์กระจายวัคซีนหลักเพียงแห่งเดียวของจังหวัดนนทบุรี ทำหน้าที่กระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพทุกแห่งในจังหวัดนี้
ล่วงเข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาดของโรคโควิด-19 การจัดการวัคซีนได้กลายเป็นเรื่องง่ายในหลายพื้นที่ เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนที่จัดตั้งขึ้น หรือการให้บริการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลแห่งต่างๆ แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 นั้น ได้เกิดการขาดแคลนไซริงค์และน้ำเกลือจนทำให้แผนการจัดฉีดวัคซีนทั่วประเทศต้องล่าช้าไปกว่ากำหนด
นั่นคือเหตุผลที่ยูนิเซฟ ประเทศไทย และประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (ยูเอสเอด) ได้รีบตอบรับคำขอความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย และส่งมอบไซริงค์และน้ำเกลือเกือบ 3 ล้านชุดให้กับโรงพยาบาล และศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งต่าง ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์นนทบุรี โดยชุดฉีดวัคซีนที่ได้รับการบริจาคเหล่านี้ยังได้รับการส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อลงพื้นที่ไปฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอยู่ตามชุมชนในจังหวัดนนทบุรี

นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา จังหวัดนนทบุรีมีผู้ป่วยโควิด-19 เกือบ 80,000 ราย แต่ในเดือนกันยายน จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงเหลือเพียงเลขสองหลักจากการที่ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน นนทบุรีฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 3.5 ล้านโดส ประกอบด้วย เข็มแรก 1.24 ล้านโดส เข็มที่สอง 1.13 ล้านโดส เข็มที่สาม 849,836 โดส เข็มที่สี่ 247,562 โดส และเข็มที่ห้า 27,275 โดส ซึ่งตัวเลขจะทำให้เห็นได้ชัดเลยว่า นนทบุรีเป็นหนึ่งจังหวัดที่เข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุดของประเทศ
อุไรวรรณ บุญเกิด หัวหน้าพยาบาลประจำโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์นนทนบุรี เปิดเผยว่า นนทบุรีมีศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 3 แห่ง และศูนย์ฉีดในพื้นที่ต่าง ๆ โดยในช่วงที่มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก โรงพยาบาลต้องจัดสรรเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกไปฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทุกวัน โดยบางวันต้องฉีดมากถึงวันละ 500-700 คน

แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนไว้ ทีมเภสัชกรที่นำโดย ปิติพร เจวินทุลักษณ์ เภสัชกรชำนาญการประจำโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์นนทบุรี จะต้องเป็นผู้เตรียมวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ออกไปฉีดวัคซีนเหล่านี้ นอกเหนือจากการทำงานจ่ายยาแก่ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลตามปกติอยู่แล้ว แต่การขาดแคลนเวชภัณฑ์สำหรับฉีดวัคซีน เช่น ไซริงค์ เข็มฉีดยาและน้ำเกลือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนก็ทำให้งานของปิติพรมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

“โดยปกติแล้ววัคซีนจะต้องจัดส่งพร้อมกับเวชภัณฑ์ในการฉีด โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ที่ต้องใช้ไซริงค์และเข็มฉีดขนาดเฉพาะ รวมถึงการกำหนดสัดส่วนน้ำเกลือในแต่ละโดส แต่การขาดแคลนเวชภัณฑ์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนกลายเป็นความท้าทายที่เราต้องเผชิญ เราต้องจัดการโดยคำนวณตัวเลขอย่างระมัดระวัง และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น บางแห่งต้องหาน้ำเกลือมาใช้เองแทน แต่สุดท้ายแล้วเวชภัณฑ์เหล่านี้ก็ได้รับการบริจาคทันเวลาพอดี” ปิติพรอธิบาย
“การบริจาคเหล่านี้ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขราบรื่นขึ้น ก่อนที่จะได้รับการบริจาค เราไม่มีเวชภัณฑ์เพียงพอสำหรับหน่วยงานด้านสาธารณสุขภาคส่วนอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ต้องไปขอแบ่งเวชภัณฑ์จากหน่วยงานอื่นเพื่อแก้ไขปัญหา โดยปกติ การเตรียมวัคซีนเองก็ต้องมีการประสานงานหลายประการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานเรื่องสถานที่ การเตรียมเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ สำลี พลาสเตอร์ยา หรือแม้แต่การเตรียมระบบ Cold Chain หรือการควบคุมอุณหภูมิของวัคซีนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากไม่มีเวชภัณฑ์เหล่านี้ การให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ด้วยเวชภัณฑ์สำหรับฉีดวัคซีนที่เพียงพอ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถทำงานได้เร็วขึ้น” ปิติพรกล่าว

แพทย์หญิงจินตนา ตรงดี แพทย์หญิงชำนาญการเด็ก และเป็นผู้ดูแลด้านการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์นนทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในระยะยาว จำเป็นต้องให้ความรู้แก่ทุกคนเกี่ยวกับการควบคุมและการป้องกัน
“การจัดการกับโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงแค่การต่อสู้กับโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาความรู้และการปรับตัวให้เข้ากับโรคและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ความพร้อมของวัคซีนและการลำเลียงผู้ป่วย เราต้องให้ความสำคัญกับการจัดการ เช่น หากมีผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงก็สามารถให้อยู่บ้านได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการหนัก ก็ต้องมีระบบส่งตัวรักษาอย่างทันท่วงที และที่สำคัญคือ หากมีการระบาดใหม่เราจะต้องมีวัคซีนเพียงพอ และมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือทุกคน” แพทย์หญิงจินตนากล่าวทิ้งท้าย