ร่วมเฝ้าระวังเด็กและครอบครัวกลุ่มเปราะบางในวิกฤตโควิด-19
การมอบความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวกลุ่มเปราะบางเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากโรคระบาด และป้องกันการพลัดพรากของสมาชิกในครอบครัว

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
“หนูกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลลูก” แพรว (นามสมมติ) คุณแม่วัย 19 ปี เปิดเผยถึงความกังวลของเธอระหว่างพักอยู่ในที่แคมป์ก่อสร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ที่ซึ่งเธออาศัยอยู่กับสามีและลูกน้อยวัย 6 เดือน
ตลอดช่วงเวลาแห่งการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งสามชีวิตพึ่งพารายได้จากแหล่งเดียว นั่นคือเงินเดือนสามีของแพรวที่รับเดือนละ 10,000 บาท แม้เธอจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาวันละ 300 บาทจากการที่แพรวทำงานเสริมเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของแคมป์คนงานที่เธออาศัยอยู่ แต่พวกเขาก็ยังคงกังวลว่าจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกน้อยที่กำลังเริ่มเล่นและมีการเรียนรู้
เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางและคุณแม่วัยรุ่นในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นความเครียดทางการเงิน และการที่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยต้องหยุดทำการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จึงร่วมมือกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี แจกจ่าย “ถุงมหัศจรรย์” ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือ ของเล่น และอุปกรณ์เสริมสร้างการเรียนรู้จำนวน 300 ถุง ให้แก่คนงานในแคมป์ต่าง ๆ ตลอดจนชุมชนรายได้น้อยในจังหวัดนนทบุรี โดยนอกจากจะแจกจ่ายอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้แล้ว ยูนิเซฟและ ดย. ยังมอบชุดช่วยเหลือพร้อมของใช้จำเป็นต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีและอีก 13 จังหวัดที่ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบาง

ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดของพัฒนาการเด็กปฐมวัยเช่นนี้ เด็ก ๆ สามารถพัฒนากระบวนการคิด การเข้าสังคม อารมณ์ และร่างกาย ผ่านความมหัศจรรย์และพลังจากการเล่นของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเล่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความสุข เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง และช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้
แม้แต่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด หนังสือเด็กและของเล่นเด็กก็ยังเป็นสิ่งของที่หลายครอบครัวไม่สามารถซื้อให้ลูกได้ ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีปี 2562 พบว่า มีเด็กอายุ 5 ขวบเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่มีหนังสือเด็กที่บ้าน และหากเป็นบ้านที่มีฐานะยากจนมาก จะมีหนังสือเด็กติดบ้านเพียงแค่ร้อยละ 14 เท่านั้น
ซึ่งนั่นทำให้ จุ๋ม (นามสมมติ) คุณแม่วัย 18 ปี ผู้เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เล่นต่อบล็อกและอ่านหนังสือจาก “ถุงมหัศจรรย์” ของยูนิเซฟกับลูกน้อยซึ่งกำลังเริ่มหัดเดินและพูดเก่งขึ้นทุกวัน
“หลังจากหมดโรคระบาดแล้ว หนูอยากจะพาลูกไปที่ศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเขาได้” จุ๋มกล่าวอย่างมีความหวัง
สำหรับ ยา (นามสมมติ) คุณแม่วัย 19 ปี สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เธอวิตกกังวลจากการตั้งท้องลูกคนแรกและยังถูกจำกัดพื้นที่ห้ามเดินทางออกนอกแคมป์คนงานที่เธออาศัยอยู่กับสามีตั้งแต่ต้นปี โดยในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแคมป์คนงานก่อสร้างที่อยู่กันอย่างหนาแน่นเพิ่มสูงขึ้นมากก็ได้มีคำสั่งปิดแคมป์ ส่งผลให้คนงานก่อสร้างชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 80,000 คนในกรุงเทพฯ และอีก 9 จังหวัดถูกกักตัวอยู่ภายในที่พักตั้งแต่ตัวปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายคนในจำนวนนี้ต้องขาดรายได้กระทันหัน รวมทั้งตกอยู่ในความเสี่ยงด้านความเป็นอยู่และสุขภาพเมื่อต้องอาศัยอยู่ในที่พื้นที่ที่แออัดและออกไปไหนไม่ได้
“การอยู่แต่ในที่พักคนงานทำให้หนูเครียดมาก หนูร้องไห้หลายครั้ง แล้วเรายังต้องเก็บเงินไว้สำหรับซื้อสิ่งของจำเป็น หนูไม่มีเงินซื้อของเล่นให้ลูกเลย” ยาเล่าถึงความอัดอั้นในใจของเธอ
แม้จะเกิดภาวะชะงักงันจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ไปจนถึงความท้าทายของการท้องในวัยรุ่น แต่คุณแม่วัยใสอย่างยาก็ยังตั้งใจที่จะคลอดลูกและเริ่มต้นใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด

เพื่อให้มั่นใจว่าเด็ก ๆ ที่สูญเสียพ่อแม่/ผู้ดูแลหลักจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะยังคงได้รับการดูแลโดยครอบครัว ยูนิเซฟได้ทำงานร่วมกับ ดย. เพื่อเผยแพร่แนวทางการดูแลเด็กเพื่อป้องกันการถูกแยกจากครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กได้รับการดูแลที่จำเป็นและมีความปลอดภัยผ่านการอบรมผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานภายใต้ ดย. กว่า 107 แห่งทั่วประเทศไทยเกี่ยวกับการดูแลด้านจิตสังคมสำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงเด็กที่สูญเสียครอบครัวจากโรคโควิด-19 และได้มีการมอบเงินสนับสนุนแก่ผู้ดูแลเด็กจำนวน 300 คนที่สูญเสียครอบครัวจากวิกฤตครั้งนี้
“ยูนิเซฟทำงานร่วมกับรัฐบาลและเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งคุณแม่วัยรุ่นและลูกที่อาศัยอยู่ในแคมป์คนงาน รวมถึงเด็ก ๆ ที่สูญเสียพ่อแม่/ผู้ดูแลจากโรคนี้” นันทภรณ์ เอี่ยมวนานนทชัย เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว
“เมื่อเด็กต้องเผชิญกับการสูญเสียครอบครัวอย่างกระทันหันจากโรคโควิด-19 พวกเขาต้องสูญเสียทั้งผู้เป็นที่รัก ผู้ที่ให้การดูแลเอาใจใส่ และความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิต เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีเด็กกว่า 400 คนในประเทศไทยต้องประสบกับเหตุการณ์นี้ เราจึงต้องมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้แน่ใจว่า เด็ก ๆ จะยังคงได้อยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวที่เด็กคุ้นเคยและได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมภายใต้สภาพแวดล้อมของครอบครัวที่เกื้อหนุน แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายของการเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหรือการต้องดูแลเด็กโดยลำพัง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยเช่นนี้ ทั้งนี้การส่งเด็กไปอยู่สถานสงเคราะห์ ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น” นันทภรณ์ กล่าว
ด้วยการทำงานร่วมกับระหว่างยูนิเซฟ ดย. กรมสุขภาพจิต และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำให้เด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จำนวนมากถึง 630 ครอบครัว สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและบริการทางสังคมผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 โดยสามารถแอดไลน์เพื่อติดต่อรับการช่วยเหลือได้ที่ @savekidscovid19
ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา