นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ส่งผลดีต่อครอบครัว ธุรกิจ และภาคเศรษฐกิจโดยรวม
ช่วยเสริมขีดความสามารถของบริษัท และสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
จากรายงานที่ยูนิเซฟและศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนศศินทร์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ร่วมกันนำเสนอในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าการลงทุนในนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว เช่น การลางานของพ่อแม่เพื่อดูแลบุตรโดยยังได้รับค่าจ้าง นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ทางเลือกในการดูแลบุตรระหว่างทำงาน และการคุ้มครองพนักงานที่ตั้งครรภ์และต้องดูแลบุตร จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการรักษาทรัพยากรบุคคล และส่งเสริมความมั่นคงของภาคธุรกิจ
รายงานนโยบายและการปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อครอบครัวในภาคเอกชนของไทย มีที่มาจากการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในบริษัทซึ่งประกอบการในประเทศไทยจำนวน 100 แห่ง เพื่อสำรวจว่าบริษัทต่าง ๆ มีการปฏิบัติตามแนวนโยบายดังกล่าวแล้วหรือไม่ รวมทั้งทัศนคติของผู้บริหารที่มีต่อผลประโยชน์และความท้าทายของการปฏิบัติตามนโยบาย
เป้าหมายของนโยบายดังกล่าว คือการสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ผ่านการทำงานที่มีความยืดหยุ่น และการสนับสนุนให้พ่อแม่สามารถลาเพื่อดูแลบุตรโดยยังได้รับค่าจ้าง นอกจากนั้นแล้วยังสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นในชีวิตที่ดีที่สุดให้กับเด็ก แม้ว่าพ่อแม่จะต้องทำงานไปด้วยก็ตาม
หลาย ๆ บริษัทที่เข้าร่วมในการสำรวจที่จัดทำขึ้นระหว่างเดือนกันยายน 2563 และพฤษภาคม 2564 กล่าวว่านโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวช่วยลดการเลิกจ้างพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ความภักดีในการทำงาน และยังช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจแก่พนักงานในที่ทำงานอีกด้วย
คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวระหว่างการเปิดตัวรายงานฉบับดังกล่าวทางออนไลน์ว่า “นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวในที่ทำงานควรครอบคลุมทุกระดับขั้นของการดูแลเด็ก โดยเริ่มจาก การช่วยเหลือพ่อแม่ตั้งแต่ก่อนการคลอดบุตร โดยสนับสนุนให้แม่มีเวลาไปรับบริการด้านสาธารณสุขในระหว่างตั้งครรภ์ และพ่อแม่สามารถดูแลบุตรต่อไปได้หลังการคลอด”
“แม่และพ่อควรมีเวลาที่บ้านเพื่อดูแลบุตรแรกเกิด และแม่ควรจะมีพื้นที่ และเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อให้แม่สามารถให้นมบุตรเมื่อกลับไปทำงาน อย่างน้อยในช่วงสองปีแรกของการเลี้ยงบุตร”
คยองซัน คิมได้กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีในเดือนมกราคมที่อนุมัติการเพิ่มการลาคลอดของข้าราชการผู้หญิงจาก 98 วันเป็นหกเดือน และอนุมัติการลาเลี้ยงดูบุตรให้กับข้าราชการชายจำนวน 15 วัน
“เป็นการดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้อง เราต้องการให้ข้าราชการเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ดิฉันคาดหวังว่าจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นในการเพิ่มวันลาเลี้ยงดูบุตรให้กับพ่อ และอยากเห็นนโยบายดังกล่าวครอบคลุมพนักงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทย”
คยองซัน คิมกล่าวเสริมว่านโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวจะช่วยขยายกลุ่มคนที่มีความสามารถในที่ทำงาน เพิ่มประสิทธิผลและรายได้ให้กับบริษัท และยังเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับปัญหาที่กำลังตามมาจากอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงของประเทศไทย ในปี 2564 ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี โดยรายงานได้สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว และเน้นย้ำไปที่ความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อร่วมกันนำแนวนโยบายนี้ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานได้ให้การสนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานไทย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “กระทรวงฯ สนับสนุนให้ภาคธุรกิจจัดตั้งพื้นที่การให้นมบุตร และจัดให้มีเวลาเฉพาะสำหรับการปั๊มนมแม่ และการจัดตั้งพื้นที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน โดยกระทรวงฯ กำลังพิจารณาเพิ่มค่าสงเคราะห์บุตรรายเดือนให้กับแม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตราการสังคมสงเคราะห์ที่ช่วยเพิ่มการปกป้องทางสังคมให้คนไทยในช่วงระหว่างและหลังโควิด-19”
บริษัทที่ให้ความร่วมมือร่วมทำแบบสอบถามในรายงานฉบับดังกล่าว ประกอบไปด้วยบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 50 คนจำนวน 27% มีบริษัทที่มีการจ้างพนักงานระหว่าง 50-200 คน จำนวน 20% และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเกิน 200 คนจำนวน 53%
บริษัทที่เข้าร่วมทำแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นของคนไทย คิดเป็น 63% ที่เหลือเป็นบริษัทข้ามชาติหรือเป็นบริษัทระดับโลก โดยบริษัทที่เข้าร่วมมาจากหลายภาคส่วน เช่นภาคบริการ ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ภาคเทคโนโลยี ภาคการเกษตรและอาหาร และภาคการเงิน
บริษัทที่ทำแบบสอบถามเพียงครึ่งหนึ่งกล่าวว่ามีนโยบายสนับสนุนสิทธิเด็ก ในขณะที่ 4 ใน 5 ของบริษัทที่เข้าร่วมสำรวจกล่าวว่ามีนโยบายที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวที่รายงานฉบับดังกล่าวกล่าวถึงประกอบไปด้วย การลาคลอดบุตร การเลี้ยงดูบุตร การทำงานที่ยืดหยุ่น การคุ้มครองพนักงานที่ตั้งครรภ์และการสนับสนุนการให้นมบุตร
96% ของบริษัทที่ทำแบบสอบถามมีการให้แม่ลาคลอดบุตร แต่มีเพียง 37% เท่านั้นที่มีการให้พ่อลาเลี้ยงดูบุตรได้ โดยบริษัทในภาคการเงินที่มีขนาดใหญ่และเป็นบริษัทข้ามชาติมีสัดส่วนที่สูงที่สุดในการให้บิดาลาเลี้ยงดูบุตร
ในจำนวนบริษัทที่ทำแบบสอบถาม 85% กล่าวว่าไม่มีนโยบายที่สนับสนุนการเลี้ยงเด็กโดยตรงแก่พนักงานบริษัท มีเพียง 7 บริษัทมีการจัดตั้งพื้นที่สำหรับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน มีเพียง 4 บริษัทที่มีการให้เงินสนับสนุนแก่พนักงานให้ส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล มีเพียง 3 บริษัทที่มีการร่วมมือกับสถานรับเลี้ยงเด็กภายนอกเพื่อให้บริการสำหรับพนักงาน และมีเพียง 1 บริษัทมีการให้ความช่วยเหลือด้านการเดินทางแก่พนักงาน
บริษัทที่สนับสนุนการให้นมบุตรยังมีน้อยเช่นกัน บริษัทที่ทำแบบสอบถาม น้อยกว่า 30% มีพื้นที่โดยเฉพาะสำหรับการให้นมบุตร และน้อยกว่า 10% อนุญาตให้พนักงานทำงานในชั่วโมงที่น้อยลงหรือมีการอนุญาตให้พนักงานมีช่วงพักเพื่อให้นมบุตรโดยไม่หักค่าจ้าง
ในขณะเดียวกัน 74% ของบริษัทที่ทำแบบสอบถามมีมาตรการเพื่อคุ้มครองพนักงานที่ตั้งครรภ์และพนักงานที่ต้องดูแลบุตรซึ่งรวมไปถึงการคุ้มครองพนักงานจากการถูกเลิกจ้างในระหว่างตั้งครรภ์และการสนับสนุนด้านสุขภาพและความปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร
อย่างไรก็ตามรายงานฉบับดังกล่าว กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีการปฏิบัติน้อยที่สุดในบริษัทในภาคการเงินและภาคบริการ
อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนกล่าวว่า “บริษัทไม่เพียงต้องมีนโยบายด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่ดีที่สุด ตามกฏของตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ต้องใส่ใจข้อเรียกร้องของนักลงทุนหรือผู้บริโภคที่อาจจะแบนสินค้าและบริการจากบริษัทนั้น ๆ หรือจากซัพพลายเออร์ของบริษัท หากพบว่ามีการกระทำที่ละเมิดสิทธิเด็กหรือสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาลส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค และกระทบต่อการทำธุรกิจขององค์กร ซึ่งหมายถึงกระทบสถานภาพทางการเงินขององค์กรด้วย”
ในระหว่างการเปิดตัวรายงาน ตัวแทนจากภาคธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ ไลน์แมน-วงใน, แพรนด้า จิวเวลรี่ และแสนสิริ ได้แบ่งปันแนวนโยบายการปฏิบัตินโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว
อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People บริษัท ไลน์แมน-วงใน จำกัด กล่าวว่า อายุเฉลี่ยของพนักงานราว 800 คนที่บริษัทคือ 29 ปีโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีครอบครัว แต่ที่บริษัทมีห้องให้นมบุตร โดยมีพื้นที่สำหรับให้แม่ปั๊มนมและเก็บนมไว้ในตู้เย็นที่จัดเตรียมไว้ให้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ได้แก่การสนับสนุนค่าเทอมของบุตรพนักงานและคูปองสำหรับสั่งอาหารเพื่อรับประทานที่บ้าน
รัชนี ขวัญศรี ผู้จัดการฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าที่โรงงานผลิตเครื่องประดับมีสถานรับเลี้ยงเด็กให้บริการแก่พนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้พนักงานมีสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเครื่องประดับ แพรนด้าให้บริการการรับเลี้ยงเด็กแก่พนักงานกว่า 2,000 คนมาตลอด 30 ปี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างบรรยากาศในการทำงานที่มีความสอดคล้องกันเนื่องจากพนักงานสามารถแวะมาที่สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าทำงานหรือช่วงพักกลางวันเพื่อมาใช้เวลาอยู่กับบุตรได้
สมัชชา พรหมสิริ Chief of Staff บมจ.แสนสิริ กล่าวว่า สำนักงานใหญ่ของบริษัทมีห้องสำหรับให้นมบุตร และมีการให้พ่อลาเลี้ยงดูบุตรได้ถึงสองสัปดาห์ มาตรการนี้ครอบคลุมไปยังกลุ่มพนักงาน LGBT ด้วย เช่น ในกรณีที่พนักงานที่เป็นครอบครัวเดียวกันต้องการใช้สิทธิ์ลาเลี้ยงดูบุตรพร้อมกัน ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ในไซต์งานก่อสร้างของบริษัท เด็กหรือบุตรของแรงงานก่อสร้างมักถูกห้ามไม่ให้เข้าเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ในช่วงปีหลัง บริษัทมีการตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในไซต์งานก่อสร้าง และมีครูดูแล โดยแรงงานก่อสร้างสามารถนำบุตรมาฝากไว้ได้
ซาร่า ชาห์ย่า หัวหน้าฝ่ายโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า อาจจะมีการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมสำหรับแม่ที่ต้องทำงานในประเทศไทย “การวิจัยข้อมูลด้านแรงงานในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างระหว่างเงินเดือนของผู้หญิงที่มีบุตรกับผู้หญิงที่ไม่มีบุตร”
นอกจากนั้น นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวต้องตอบสนองต่อแนวโน้มด้านประชากรของประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นสังคมสูงอายุแล้ว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การยูนิเซฟได้สรุปข้อตกลงความร่วมมือเป็นระยะเวลาห้าปีกับรัฐบาลไทย โดยมี เป้าหมายคือการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย การลดความยากจนในเด็ก และการคุ้มครองจากการถูกแสวงประโยชน์และความรุนแรง โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Family-Friendly Package” ของยูนิเซฟที่มุ่งเน้นการพัฒนาลำดับความสำคัญของชาติในระยะยาวและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องไปกับเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพ่อและแม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตที่ดีที่สุด การลงทุนในช่วงเวลาแรกแห่งชีวิตของเด็ก จำเป็นต้องมีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน สุดท้ายแล้วจะต้องไม่มีพ่อแม่คนใดต้องเลือกระหว่างเงินเดือนกับการอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนอีกต่อไป