ตามล่าหาน้ำจากห้วงอวกาศ

นวัตกรรมการค้นหาแหล่งน้ำสะอาดใต้ดินในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งในประเทศเอธิโอเปียได้เริ่มขึ้นแล้ว

Helene Sandbu Ryeng
น้องแฮมเดีย วัย 6 ขวบ ผู้สูญเสียน้องชายของเธอไปจากโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเนื่องจากดื่มน้ำที่มีแร่ธาตุและเกลือเจือปนอยู่มากเกินไป
UNICEF/Ethiopia/2018
26 มีนาคม 2018

ถ้าคุณเคยได้ผ่านไปเห็นท่อโลหะตั้งตระหง่านดึงดูดความสนใจอยู่กลางทะเลทราย ซึ่งอาจดูไม่น่าประทับใจซักเท่าไหร่ แต่ท่อโลหะนี้ และหลุมเจาะที่อยู่ข้างใต้นั้นเป็นนวัตกรรมและโครงการที่น่าตื่นเต้นของยูนิเซฟ เอธิโอเปีย ในรัฐอะฟาร์ ประเทศเอธิโอเปีย

ภูเขาไฟได้สร้างพื้นที่เรียบขนาดใหญ่ซึ่งถูกปกคลุมด้วยทรายเม็ดละเอียด โปรยด้วยผงเถ้าภูาเขาไฟสีดำมานับล้านๆ ปี และพื้นที่นี้เองที่กำลังประสบกับภัยแล้งติดต่อกันมาเป็นปีที่สี่ ส่งผลให้ผู้คนในละแวกนี้ต้องตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำขั้นวิกฤติ ผู้คน สัตว์ต่างๆ ตลอดไปจนถึงพืชพันธุ์ ไม่มีน้ำเพียงพอที่จะประทังชีวิตรอด

บริษัทและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ต่างๆ พยายามที่จะขุดหาแหล่งน้ำ แต่ก็มีโอกาสสำเร็จเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น บ่อน้ำที่ขุดส่วนใหญ่มักจะแห้ง หรือไม่ก็เป็นน้ำเค็มอันเนื่องมาจากความเข้มข้นของเกลือในพื้นดิน หนทางออกจึงมีเพียงแค่รถบรรทุกน้ำ แต่นั่นก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่ตอนนี้ ผู้ช่วยจากอวกาศมาถึงแล้ว

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีน้ำถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินลึกราว 600 เมตร ซึ่งน้ำใต้ดินนี้ถูกปั๊มขึ้นมาบนพื้นผิว เอื้อประโยชน์แก่เมืองอัฟเดรา นี่คือหนึ่งในโครงการนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นของยูนิเซฟในรัฐอะฟาร์ ประเทศเอธิโอเปีย
UNICEF/Ethiopia/2018
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีน้ำถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินลึกราว 600 เมตร ซึ่งน้ำใต้ดินนี้ถูกปั๊มขึ้นมาบนพื้นผิว เอื้อประโยชน์แก่เมืองอัฟเดรา นี่คือหนึ่งในโครงการนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นของยูนิเซฟในรัฐอะฟาร์ ประเทศเอธิโอเปีย

ก่อนที่ผมจะเล่าความลับให้คุณฟัง ผมอยากจะพาคุณไปยังบ้านของอัสเซีย เพื่อทำความเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการนี้ก่อน ลูกๆ ทั้งสี่คนของเธอกำลังเกาะอยู่รอบๆ ตัวเธอในบ้านชั่วคราวที่ทำมาจากโครงไม้ ผ้าใบกันน้ำ และแผ่นเหล็กลูกฟูก น้ำอุปโภคบริโภคที่แสนแพง ซึ่งได้มาจากโรงงานผลิตน้ำจืดที่อยู่ใกล้ๆ มีปริมาณของเกลือและแร่ธาตุต่างๆ เจือปนมากเกินไปสำหรับลูกๆ ที่อายุน้อยของเธอ และส่งผลให้พวกเขามีอาการอุจจาระร่วง ถ่ายเหลว และพวกเขาก็เพิ่งสูญเสียน้องชายไป โดยที่เขามีอายุได้เพียงเก้าเดือนเท่านั้น บรรดาแม่ๆ ในละแวกใกล้เคียง ต่างก็ต้องผ่านประสบการณ์แสนเศร้านี้มาด้วยกันทั้งสิ้น เนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำดื่ม "คุณหมอแนะนำให้ดื่มน้ำขวด แต่ฉันไม่สามารถซื้อหามาดื่มได้" เธอบอกกับผม

แต่ปัญหานี้จะกลายเป็นอดีตไปในไม่ช้า เพราะเราได้มีนวัตกรรมใหม่ในการค้นหาแหล่งน้ำแล้ว ด้วยความร่วมมือจาก EU Joint Research Centre ยูนิเซฟได้ใช้ดาวเทียมในการระบุตำแหน่งน้ำใต้ดิน ซึ่งอาจอยู่ลึกลงไปถึง 600 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และสามารถกำหนดจุดที่จะขุดหาแหล่งน้ำได้อย่างแม่นยำ และด้วยความที่มีการไหลของน้ำใต้ดินที่ต่อเนื่อง จึงทำให้นี่เป็นทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยแล้ง วิธีการนี้มีโอกาสสำเร็จสูงถึง 92 เปอร์เซ็นต์ และตอนนี้มีหลุมเจาะจำนวน 11 แห่งแล้วที่นำน้ำดื่มสะอาดมาสู่ผู้คน ซึ่งต้องขอบคุณการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี และ Italian Development Cooperation Agency (AICS) แหล่งน้ำใหม่นี้จะเข้ามาแทนที่การขนส่งน้ำด้วยรถบรรทุก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว $260,000 ต่อปี ทำให้วิธีแก้ปัญหานี้มีความยั่งยืนในเชิงงบประมาณด้วย

อัสเซีย วัย 35 ปี กับลูกคนชายคนสุดท้องของเธอ ฮุสเซน วัย 3 ขวบ และลูกสาวอีกสองคน ฮาลิมา วัย 4 ขวบ และ แฮมเดีย วัย 6 ขวบ อัสเซียต้องสูญเสียลูกวัยทารกของเธอไปจากโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อันเนื่องมาจากดื่มน้ำที่มีเกลือและแร่ธาตุเจือปนมากเกินไป ในเมืองอัฟเดรา รัฐอะฟาร์ ประเทศเอธิโอเปีย
UNICEF/Ethiopia/2018
อัสเซีย วัย 35 ปี กับลูกคนชายคนสุดท้องของเธอ ฮุสเซน วัย 3 ขวบ และลูกสาวอีกสองคน ฮาลิมา วัย 4 ขวบ และ แฮมเดีย วัย 6 ขวบ อัสเซียต้องสูญเสียลูกวัยทารกของเธอไปจากโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อันเนื่องมาจากดื่มน้ำที่มีเกลือและแร่ธาตุเจือปนมากเกินไป ในเมืองอัฟเดรา รัฐอะฟาร์ ประเทศเอธิโอเปีย

เครื่องปั่นไฟเริ่มทำงาน เสียงดังก้องเป็นจังหวะดังขึ้นพร้อมๆ กับน้ำที่ถูกปั๊มออกมาจากท่ออย่างต่อเนื่องเป็นสาย ในไม่ช้าการเดินท่อไปยังเมืองก็จะเสร็จสิ้นลง อัสเซียและครอบครัวอื่นๆ จะสามารถซื้อน้ำสะอาดมาใช้อุปโภคบริโภคได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเศษเสี้ยวของเงินที่เธอต้องเสียไปเพื่อซื้อหาน้ำที่ไม่ปลอดภัยมาใช้ในทุกวันนี้ ยูนิเซฟเรียกสิ่งนี้ว่านวัตกรรมเพื่อเด็กๆ

ผู้แต่ง: Helene Sandbu Ryeng, ผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศ ยูนิเซฟ นอร์เวย์
แปลและเรียบเรียงโดย: คงเดช กี่สุขพันธ์, ผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศ​ (ดิจิทัล) ยูนิเซฟ ประเทศไทย