ความสุขแห่งการอ่าน
แคมเปญจากยูนิเซฟที่มุ่งมั่นสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
หลังจากที่ฟังรุ่นพี่เล่านิทานอีสปเรื่อง “มดกับตั๊กแตน” กลุ่มนักเรียนรุ่นน้องช่วยกันตอบคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่เพิ่งฟังจบไปเมื่อครู่ลงในกระดาษแผ่นใหญ่ พอตอบคำถามเสร็จทุกกลุ่มก็เริ่มวาดรูปและระบายสีเพิ่มเติมลงบนกระดาษ ก่อนจะเริ่มปั้นดินน้ำมันเป็นมด ตั๊กแตน และอาหาร
เด็ก ๆ จากโรงเรียนวัดม่วงหวาน ในอำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา กำลังสนุกสนานกับกิจกรรมเล่านิทานที่จัดขึ้นเป็นพิเศษหลังพักกลางวันในห้องสมุดโรงเรียน โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “อ่านสัปดาห์ละเล่ม” สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ

แต่ละกลุ่มจะมีเด็กนักเรียน 4-5 คน จากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 คละกัน เด็ก ๆ ช่วยกันถ่ายทอดเรื่องราวที่พวกเขาเข้าใจผ่านการตอบคำถาม การวาดรูปและการระบายสี ตลอดจนการปั้นดินน้ำมัน จนออกมาเป็นเรื่องตั๊กแตนผู้หิวโหยที่มัวแต่เที่ยวเล่นในฤดูร้อนจนไม่มีอาหารสะสมไว้กินในช่วงฤดูหนาว ต้องไปขออาหารจากมดที่ขยันสะสมเสบียงให้เพียงพอ ซึ่งนิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดเรื่องการทำงานและการแบ่งเวลา
“กิจกรรมจัดในห้องสมุดเพื่อส่งเสริมให้เด็กเล็กได้ใช้เวลากับหนังสือ เพื่อที่จะกระตุ้นให้เด็ก ๆ รักการอ่าน ในท้ายที่สุด เป้าหมายของเราคือการช่วยให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้” พิชชา เพ็งพงษ์ ครูผู้ดูแลกิจกรรมอ่านสัปดาห์ละเล่ม โรงเรียนวัดม่วงหวานเล่า

โรงเรียนวัดม่วงหวานได้ต้อนรับคณะจากองค์การยูนิเซฟและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เพื่อสังเกตการณ์กิจกรรมอ่านสัปดาห์ละเล่ม ซึ่งออกแบบมาไม่เพียงแต่ส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็ก แต่ยังช่วยกระตุ้นทักษะการคิดวิเคราะห์
โรงเรียนวัดม่วงหวานเป็นหนึ่งใน 126 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือ ระหว่างยูนิเซฟ สพฐ. และ ท็อปส์ ไทยแลนด์ โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เด็กทุกคนอ่านได้” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2562 มีโรงเรียนเข้าร่วมเพียง 14 แห่ง โดยแต่ละโรงเรียนเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมให้เข้ากับหลักสูตรของตนเอง
โรงเรียนวัดโตนดเตี้ย ในอำเภออุทัย เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่คณะเข้าไปสังเกตการณ์ในวันเดียวกัน ที่นี่ได้ออกแบบให้กิจกรรมการอ่านให้อยู่ในชั้นเรียน โดยที่เด็กเล็กจะเริ่มเรียนตัวอักษร วรรณยุกต์ สระ และการผสมคำ เด็กระดับกลางจะเริ่มเรียนรู้คำเหมือนและคำตรงข้ามจากบัตรคำในห้องเรียน ในขณะที่เด็กโตจะต้องฝึกเขียนคำตามคำบอกและสร้างประโยคด้วยตัวเอง โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายให้เด็ก ๆ สามารถอ่านออกเขียนได้และจับสาระสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ได้

ในช่วงการแพร่ระบาดสองปีที่ผ่านมา บางโรงเรียนยังคงเก็บหนังสือทั้งหมดไว้ในห้องสมุดแต่บางโรงเรียนได้จัดหนังสือไว้ในชั้นเรียน และหมุนเวียนหนังสือไปตามชั้นต่าง ๆ
เด็กชายพีทตื่นเต้นกับการรื้อกองหนังสือหลังห้องและหยิบเล่มที่เขาชอบที่สุดมาอวดแขกของโรงเรียน ถึงแม้เขาจะอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับพลังงานในเล่มแทบไม่ออกเลยเพราะเพิ่งเรียนหัดสร้างคำไม่ถึงครึ่งชั่วโมงที่แล้ว “ผมชอบรถคันนี้ รถบรรทุกคันนี้ แล้วก็สีของรูป” เด็กน้อยเล่าเขิน ๆ พร้อมทั้งชี้ไปที่รถยนต์สีเขียว รถบรรทุกสีเหลือง และเมืองที่สว่างไสวที่เขาไม่เคยเห็นในชีวิตจริง
อรพินท์ บุตรงาม ซึ่งเป็นครูของพีท เล่าว่าเด็กนักเรียนของเธอส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเนื้อหาของหนังสือ แต่พวกเขาชอบสีสันสดของภาพประกอบ

เธอเล่าต่อว่า เด็กเล็กส่วนใหญ่มักเลือกหนังสือเพราะรูปภาพ แต่เด็กโตจะเลือกหนังสือตามเนื้อหาที่พวกเขาสนใจ และบางคนก็มาขอให้เธอสอนวิธีออกเสียงคำใหม่ ๆ ที่เจอในหนังสือ
ครูอรพินท์ภูมิใจกับเด็กชายชาวพม่าที่ตามพ่อแม่ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติมาอยู่ในไทยและได้เข้าเรียนในชั้นอนุบาล เขาใช้เวลาไม่ถึงปีเรียนในชั้นเรียน ฝึกอ่านหนังสือและติวพิเศษกับครูจน็สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว
คุณครูยังบอกอีกว่า หนังสือภาพพวกนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กเล็กสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกด้วย “คนที่อ่านได้ ไม่ได้เป็นคนเรียนที่เรียนเก่งที่สุดในชั้น แต่เป็นคนที่รักการอ่าน”

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา องค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย แสดงความชื่นชมโรงเรียนต่าง ๆ ที่ใช้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็ก ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสอดแทรกการอ่านเข้าไปในชั้นเรียนหรือการจัดกิจกรรมพิเศษนอกห้องเรียน
ดร.รังสรรค์กล่าวว่า เมื่อการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนชั้นประถมการศึกษาตอนต้น กิจกรรมพิเศษจะเป็นตัวเสริมการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้ว “ประสบการณ์ในเชิงบวกของเด็ก ๆ และทัศนคติต่อการอ่านในวัยเยาว์จะติดตัวเด็กไปตลอด”