ความสุขที่มีเสียงจากเรื่องของน้องๆ เยาวชน
- ตอนพิเศษ -

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
รายการ The Sound of Happiness ฟัง x เล่า = ความสุข วาไรตี้ทอล์กโชว์ และพอดแคสต์ ยังมีตอนพิเศษที่จะพาทุกคนไปพบกับน้อง ๆ วัยรุ่นจากหลากหลายกลุ่มที่ได้เผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ คุณจะได้พบกับเรื่องราวการต่อสู้ของน้องนักกิจกรรมส่งเสริมเรื่องสุขภาพจิต เรื่องราวชีวิตของลูกสาวแรงงานข้ามชาติที่ทั้งชีวิตอยู่แต่ในประเทศไทย แต่ก็ยังเป็นคนไร้รัฐ เรื่องราวของสาวน้อยผู้พิการทางสายตาที่มีความสามารถทำได้ไม่ต่างจากคนทั่วไปในวัยเดียวกัน และตัวแทนน้องจากกลุ่มเพศทางเลือกที่ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ฟังดูเหมือนเราจะให้ฟังเรื่องเครียดปวดหัวใจใช่ไหม? ไม่เลย เราเชิญคุณมาฟังเรื่องสร้างแรงบันดาลใจและความเข้มแข็งของพวกเขาต่างหากล่ะ!
การไขปัญหาชีวิตและสุขภาพจิตไม่ได้เริ่มต้นที่ความสงสาร แต่เป็นเริ่มต้นที่ความเข้าใจ ซึ่งเราทุกคนสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ ในตอนพิเศษเร็วๆ นี้! มาไขปริศนาสุขภาพจิตในวัยรุ่นด้วยกันในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ทางจูกซ์ และยูนิเซฟ ประเทศไทยกัน
พวกเขาเป็นใครกันบ้างหนอ
อัมรินทร์ บุญสะอาด (อามม์) อายุ 21 ปี

อัมรินทร์ บุญสะอาด (อามม์) อายุ 21 ปี เป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนที่ร่วมทำงานขับเคลื่อนเพื่อสิทธิเด็กอย่างแข็งขัน อามม์คิดว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ยังไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ออกเสียงอย่างเพียงพอ จึงเสนอตัวเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศสภาพของตนเอง
ตั้งแต่จำความได้ อามม์รู้ตัวมาตลอดว่าตัวเองนั้น ‘แตกต่าง’ เขาโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เข้าใจและยอมรับตัวตนของเขา แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้โชคดีเหมือนกัน และต้องประสบปัญหาเรื่องสุขภาพจิต บางครอบครัวถึงกับพาลูกตนเองไปพบแพทย์เพื่อให้รักษาลูกให้เป็นปกติ “พวกเค้าไม่เข้าใจว่ามันรักษาให้หายไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่โรค เราเกิดมาเป็นแบบนี้” อามม์ออกความเห็น “คุณรักลูกของคุณ ณ วินาทีที่เค้าเกิด ความรักนี้ก็ไม่ควรจะเปลี่ยนไปถ้าเค้าเลือกเพศทางเลือกของตัวเองตอนหลัง”
ในความคิดของเขา กลุ่มคนเพศทางเลือกต้องพยายามมากเป็นพิเศษเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ จะได้ชดเชยความไม่ตรงเพศสภาพของตนเอง “แล้วถ้าเราไม่สามารถเป็นคนพิเศษได้ล่ะ? เราจะไม่ได้รับการยอมรับงั้นเหรอ?” อามม์ตั้งคำถาม จึงทำให้อามม์อยากจะเปลี่ยนความคิดในสังคมว่ากลุ่มคนเพศทางเลือกก็เป็นเหมือนกับผู้ชาย หรือผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตปกติที่มีความสุขได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ มันไม่ยุติธรรมที่จะคนคนหนึ่งจะโดนตัดสินในเชิงลบ หากตัดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศออกไปแล้ว “เราก็เป็นคนเหมือนคุณ เราก็เหมือนกับทุกคนนั่นแหละ” อามม์เรียกร้อง
อามม์ยังคงทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนสิทธิ์ของคนกลุ่มเพศทางเลือก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ให้พวกเขากล้าพูด เขาเชื่อว่าถ้าเด็กเพศทางเลือกกล้าพบพ่อแม่เร็ว และอธิบายให้ฟังถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตน พ่อแม่ก็จะได้มีเวลาค่อยๆ ปรับตัวและปรับทัศนคติให้ยอมรับลูกของตนเองได้
กมลลักษณ์ ทองแดง (ปาล์ม) อายุ 20 ปี

“หนูเกิดมาตาบอด 100% แล้วก็เป็นคนตาบอดมาตลอดชีวิต” กมลลักษณ์ ทองแดง (ปาล์ม) อายุ 20 ปี เริ่มเล่าเรื่องของเธอ “หนูไม่ได้รู้สึกแปลกแยกเวลาอยู่กับกลุ่มคนที่พิการทางสายตาเหมือนๆ กัน แต่มีปัญหาเวลาอยู่กับคนตาดีนี่ล่ะค่ะ โดยเฉพาะในครอบครัวตัวเอง”
ด้วยความไม่เข้าใจ คนตาดีส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นห่วงว่าคนตาบอดจะมองไม่เห็น แล้วเจ็บตัวเพราะขยับไปนั่นมานี่ “หนูเคยจะช่วย แต่ครอบครัวไม่ยอมให้หนูต่อสายไฟ” ปาล์มเล่า “หนูก็เข้าใจค่ะว่าเค้าเป็นห่วง แต่พวกเค้าไม่ให้หนูแม้แต่จะลองทำเลย” เมื่อไม่ได้สื่อสารอย่างระมัดระวัง ความเป็นห่วงเช่นนี้กลับทำให้ปาล์มต้องเสียใจ
“มีอีกครั้งที่ครอบครัวบอกว่าจะออกไปข้างนอกแป๊บเดียวเดี๋ยวก็กลับมา แต่หนูก็มารู้ทีหลังว่าเค้าออกไปกินหมูกระทะกัน” ปาล์มเล่าถึงตอนที่โดนทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ปาล์มต้องหงุดหงิด และเสียใจบ่อยครั้ง “หนูแค่ตาบอด หนูไม่ได้ปัญญาอ่อน” ปาล์มโอดครวญ
ปาล์มก็เหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป ที่เมื่อมีปัญหาก็หันไปพึ่งเพื่อน “บางครั้งหนูพูดกับครอบครัวไม่ได้ เพราะพวกเค้าไม่เข้าใจ” เธอเล่า “หนูรู้สึกว่าได้ปลดปล่อย และหายเครียดหลังจากคุยกับเพื่อน” การที่ต้องพิการทางสายตา 100% ไม่ได้ทำให้เธอไม่อยากจะสนุกกับการใช้ชีวิตเลย ปัจจุบันปาล์มทำงานพาร์ทไทม์ และมีรายได้พิเศษไว้ใช้จ่ายกับสิ่งที่เธอชอบ
โอ๋ อายุ 19 ปี

“หนูชื่อนางสาวโอ๋ แค่นั้นค่ะ ไม่มีนามสกุล” โอ๋ อายุ 19 ปี เกิดในประเทศไทย และก็เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นบ้านของเธอมาตลอดชีวิต แต่เพราะว่าพ่อแม่ของเธอเป็นแรงงานข้ามชาติ โอ๋จึงต้องอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ “พ่อแม่หนูเข้าเมืองมามีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย แต่หนูเป็นคนไร้รัฐ เพราะว่าเกิดที่บ้าน และไม่มีใบแจ้งเกิด” เธอเล่า
จริงๆ แล้วโอ๋ก็ไม่เคยไปที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทยเลย แต่ว่าตามเอกสารเธอก็ไม่ใช่คนไทย และพบปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างเสรีและขาดสิทธิ์ในเรื่องต่างๆ หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา โอ๋ก็ต้องพบกับอุปสรรคหลายเรื่องในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย เรื่องใหญ่ๆ จะเป็นการที่หลายคณะระบุว่าต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้นจึงจะเข้าศึกษาได้ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็ระบุว่าคนไทยเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ “ตอนเป็นเด็ก หนูก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเท่าไหร่หรอกค่ะ จนต้องเรียนต่อนี่ล่ะ” โอ๋เล่า แต่ว่าอุปสรรคที่พบเจอก็ไม่ได้ทำให้เธอหยุดที่จะพยายามเพื่อบรรลุความฝัน และพยายามต่อสู้ “การมาที่กรุงเทพฯก็เป็นอีกปัญหานึงค่ะ หนูต้องไปทำเรื่องขออนุญาตและต้องถือเอกสารอยู่ตลอด หนูว่ามันเกือบจะเป็นการกักขังเลย” โอ๋ตัดพ้อ
ตอนนี้โอ๋เป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่แสนภาคภูมิใจของคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอไม่รู้หรอกว่าหนทางข้างหน้าเธอจะต้องเจออะไรอีกบ้าง แต่เธอก็จะไม่ยอมให้ข้อจำกัดเหล่านั้นหยุดความฝันของเธอ “พอหนูเศร้า หนูก็จะบอกตัวเองว่าชั้นทำได้ ชั้นมีความสามารถ ชั้นทำมาได้ตั้งเท่านี้แล้ว และก็จะไม่หยุด” โอ๋กล่าวปิดท้ายพร้อมประกายแห่งความหวังในนัยน์ตาที่อยากจะส่งต่อพลังบวกให้แก่คนที่รู้สึกท้อและอยากจะยอมแพ้
ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา (ญา) วัย 15 ปี

สาวน้อย ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา (ญา) วัย 15 ปี เล่าถึงเรื่องที่ทำให้เธอมาสนใจประเด็นสุขภาพจิต “หนูอยู่ป.3 แล้วเห็นเพื่อนเครียดมากจนหาทางออกด้วยการกรีดข้อมือตัวเองซ้ำๆ เพื่อปลดปล่อยความเจ็บปวดทางใจ” ตอนนั้นเธอรู้ได้ว่าเพื่อนมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต และอยากพาเพื่อนไปพบจิตแพทย์ แต่ว่ากฎหมายไทยในตอนนั้นไม่อนุญาตให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าพบจิตแพทย์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง “พ่อแม่เค้าไม่ยอมรับว่าลูกต้องหาหมอ” ญาเล่า “พวกเค้ามีความคิดแบบเดิมๆว่า คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเท่ากับเป็นคนบ้า” เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อนของญาจึงมีอาการแย่ลง ทั้งกินน้ำยาล้างห้องน้ำทั้งขวด ทั้งกินยาแก้ปวด 100 เม็ด และยังพยายามฆ่าตัวตายอีกหลายครั้งแม้ว่าพ่อแม่จะช่วยให้รอดชีวิตได้ทันก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง จนพ่อแม่ตัดสินใจพาเข้าไปพบจิตแพทย์
“เพื่อนหนูคงไม่ไปถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย ถ้าได้รับการรักษาทางด้านสุขภาพจิตเร็วกว่านั้น” ญาเล่าถึงความกังวลของเธอ จึงทำให้ตัดสินใจอยากช่วยเด็กและวัยรุ่นที่เหมือนเพื่อนของเธอที่เชื่อเหมือนกันว่าเด็กและเยาวชนควรมีสิทธิ์ที่จะเข้าพบและปรึกษาจิตแพทย์ได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครอง ด้วยการรณรงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายภายใต้เงื่อนไข
“ซึมเศร้า ไม่เท่ากับบ้า ความคิดนี้ควรจะต้องหยุดได้แล้ว” ญากล่าวปิดท้ายอย่างจริงจัง