การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด: อะไรเวิร์ก อะไรไม่เวิร์ก?
อะไรคือสิ่งจำเป็นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและต่อเนื่อง
- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
ไม่ว่าการคลอดจะเกิดขึ้นที่ใด จะเป็นที่กระท่อมหลังน้อยๆ ณ หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่ง หรือจะเป็นโรงพยาบาลในเมืองขนาดใหญ่ การให้เด็กน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นการช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสที่ดีเยี่ยมในการที่จะได้มีชีวิตอยู่รอด เติบโต และได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
องค์การยูนิเซฟ และ องค์การอนามัยโลก แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอดเลยทีเดียว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารอื่นใดควบคู่เลย ในระยะเวลาหกเดือนแรกนั้น ช่วยเสริมพัฒนาการทั้งด้านประสาทการรับรู้และการรู้คิด อีกทั้งยังช่วยปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อต่างๆ อีกด้วย
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่เราจะคาดหวังให้คุณแม่ทำเพียงลำพัง การให้เด็กได้กินนมแม่โดยเร็วและได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ต้องการการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ภาครัฐ รวมไปถึงภายในครอบครัวด้วย และเมื่อเราพูดถึงเรื่องการให้นมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอดแล้ว ต่อไปนี้คือสิ่งที่เวิร์ก และไม่เวิร์ก
สิ่งที่เวิร์ก: ให้ทารกน้อยได้รับการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อโดยทันทีหลังคลอด
การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายของทารกแรกเกิดให้คงที่ และให้โอกาสทารกน้อยได้รับแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์จากผิวหนังของคุณแม่ แบคทีเรียดีเหล่านี้ช่วยปกป้องทารกน้อยจากการติดเชื้อ และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้พวกเขา
การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอดไปจนถึงตอนให้นมเป็นครั้งแรกยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมาก มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่ามันช่วยเพิ่มโอกาสที่ทารกน้อยจะได้กินนมแม่ ช่วยให้ระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมยาวนานขึ้น และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว
สิ่งที่ไม่เวิร์ก: การให้ทารกน้อยทานอาหารเสริมหรือนมชง
การให้ทารกน้อยได้ทานอาหารเสริมอื่นใดนอกเหนือไปจากนมแม่ในวันแรกๆ หลังคลอด เป็นเรื่องปกติของหลายๆ พื้นที่บนโลกใบนี้ และมักจะถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว นโยบายของโรงพยาบาล หรือระเบียบปฏิบัติอื่นใดที่ไม่ได้มีพื้นฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ โดยแนวปฏิบัติเหล่านี้มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ ซึ่งอาจรวมไปถึงการทิ้ง "นมเหลือง" หรือ คอลอสตรัม (Colostrum) ซึ่งเป็นน้ำนมแรกสุดจากคุณแม่ที่อุดมไปด้วยสารภูมิคุ้มกัน หรือการให้คุณหมอหรือผู้อาวุโสในครอบครัวให้อาหารบางอย่างแก่ทารก เช่น นมชง น้ำผสมน้ำตาล หรือน้ำผึ้ง แนวปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้สัมผัสแรกที่สำคัญระหว่างคุณแม่และทารกน้อยต้องล่าช้าออกไป
อ่านรายงาน: Early initiation of breastfeeding - the best start for every newborn
สิ่งที่เวิร์ก: การคลอดบุตรในโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โรงพยาบาลหรือศูนย์อนามัยที่ "ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่" จะให้การสนับสนุนคุณแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยปฏิบัติตามบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สถานพยาบาลเหล่านี้จะให้คำปรึกษาแก่คุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรหรือตัดสินใจที่จะไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการสอนให้พวกเขาใช้น้ำนมจากผู้บริจาค หรือให้ได้ทานนมผงที่ปลอดภัย
ในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา หรือ เติร์กเมนิสถาน โรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เกือบร้อยละ 90 ของผู้หญิงในประเทศเติร์กเมนิสถาน และคุณแม่เกือบทุกคนในประเทศศรีลังกา คลอดบุตรในโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองว่าส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งสองประเทศต่างก็เลยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สูง
สิ่งที่ไม่เวิร์ก: การผ่าตัดคลอดโดยปราศจากการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การคลอดบุตรด้วยวิธีผ่าตัดคลอด หรือ ซี-เซ็กชัน มีอัตราที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในหลายประเทศ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังคลอดก็ต่ำลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการทำคลอดด้วยวิธีผ่าตัดคลอด
คุณแม่ที่คลอดบุตรด้วยวิธีผ่าตัดคลอด จะต้องเผอิญกับความท้าทายหลายประการหลังจากคลอดบุตร อาทิ ผลจากยาสลบ การฟื้นตัวจากการผ่าตัด ตลอดไปจนถึงการหาคนช่วยให้สามารถอุ้มทารกน้อยได้อย่างปลอดภัย แต่หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เช่น ให้การอบรมแก่ผู้ทำคลอด การวางนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแผนกสูติกรรม การให้คุณพ่อได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เด็กที่เกิดจากวิธีผ่าตัดคลอดส่วนใหญ่จะสามารถได้กินแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอดได้
สิ่งที่เวิร์ก: ผู้ทำคลอดได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ในประเทศรวันดา อัตราการคลอดบุตรโดยผู้ทำคลอดที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2557 โดยทารกแรกเกิดเกือบทุกคนที่เกิดในสถานพยาบาลได้รับการช่วยเหลือจากผู้ทำคลอดที่มีทักษะความเชี่ยวชาญ ในช่วงเวลานี้ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามไปด้วย ความคืบหน้าดังกล่าวเป็นผลมาจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในโรงพยาบาลต่างๆ
ปัจจุบัน ประเทศรวันดามีเจ้าหน้าที่สุขภาพชุมชนจำนวน 45,000 คน คอยให้คำปรึกษาแก่คุณแม่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการให้อาหารและการคลอดที่ปลอดภัย และแม้ว่าอัตราการผ่าตัดคลอดจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2556 แต่ตัวเลขการเพิ่มดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังคลอด ทั้งนี้เป็นเพราะการที่เจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีนั่นเอง
สิ่งที่ไม่เวิร์ก: แนวปฏิบัติที่ล้าสมัย
ในขณะที่ผู้ทำคลอดที่มีทักษะความเชี่ยวชาญจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยให้คุณแม่มือใหม่ได้เลี้ยงทารกน้อยด้วยนมแม่ แต่พวกเขาอาจจะไม่ได้ทำเช่นนั้น ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการฝึกอบรมและตัวสถานพยาบาลเองมีแนวปฏิบัติที่ล้าสมัย เช่น การแยกคุณแม่และทารกแรกเกิดออกจากกันโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์หรือให้ทารกแรกเกิดทานอาหารอื่น ก็จะกระทบต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด
เมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 64 ของผู้หญิงในเวียดนามที่คลอดบุตรในสถานพยาบาล แต่ใน พ.ศ. 2557 ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 94 แต่ในขณะเดียวกัน อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดกลับลดลงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ใน พ.ศ. 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติแนวทางการปฏิบัติมาตรฐานแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นไปที่การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอด และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด
การให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้านที่คุณแม่ต้องการเพื่อเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอดให้ประโยชน์ในด้านสุขภาพอย่างมหาศาล แต่เราไม่อาจจะหยุดแต่เพียงเท่านี้ คุณแม่ควรได้รับอิสระในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้เรื่อยๆ ตามที่พวกเธอต้องการ เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเราทุกคนในการทำลายกำแพงใดๆ ที่จะเข้ามาเป็นอุปสรรคในการเลียงลูกด้วยนมแม่
สิ่งที่เวิร์ก: การให้ลาเพื่อครอบครัวแบบได้รับค่าจ้าง
ผู้หญิงทำงานไม่ควรต้องเลือกระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมกับการทำงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้สิทธิผู้หญิงในการลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 18 สัปดาห์ และให้แน่ใจว่าพวกเธอจะมีเวลาและพื้นที่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายหลังที่พวกเธอกลับเข้าไปทำงาน ยูนิเซฟแนะนำให้ยึดแนวทางดังกล่าวเป็นความต้องการขั้นต่ำ
สิ่งที่ไม่เวิร์ก: สถานที่ทำงานที่ไม่มีนโยบายที่เป็นมิตรต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เมื่อเหล่าคุณแม่กลับไปทำงาน พวกเธอต้องการการสนับสนุนจากนายจ้างเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ สิทธิในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญอันยิ่งยวดต่อผู้หญิงทุกคนที่ต้องการเลี้ยงลูกของพวกเธอด้วยนมแม่ต่อไป เช่นเดียวกับการจัดให้มีเวลาและพื้นที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจัดให้มีพื้นที่สำหรับปั๊มนมและเก็บนมแม่