การประชุมแห่งชาติมุ่งเสริมสร้างสิทธิเด็กในการได้รับการดูแลโดยครอบครัว
ในหัวข้อ “เด็กอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่” จัดขึ้นในโอกาสวันเด็กสากล

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
“อาสาสมัครมาแล้วก็ไป มาสอนภาษาจัดกิจกรรม เราถูกทอดทิ้งอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกที่ว่าไม่มีใครอยู่กับเราตลอดไปมันเจ็บปวด ทำให้เรารู้สึกชา สอนให้เราไม่กล้าสร้างความผูกพันกับใคร” อภิสรา แซ่ลี เติบโตขึ้นมาในสถานเลี้ยงเด็กและเปิดเผยเกี่ยวกับภูมิหลังของเธอ ปัจจุบันอภิสราในวัยยี่สิบกว่ากำลังทำงานเป็นนักวิจัย สำหรับเธอแล้วประสบการณ์การใช้ชีวิตในสถานสงเคราะห์เด็กคือบทเรียนของชีวิต
“ในสถานสงเคราะห์มีผู้ใหญ่ไม่เพียงพอที่จะมอบความรักความอบอุ่นให้ เด็กแต่ละคนทักษะความสนใจไม่เหมือนกัน แต่ถูกรวมอยู่ในกล่องเดียวกัน การบรรลุศักยภาพในตัวเองของเด็กกลายเป็นเรื่องท้าทาย เพราะมีโอกาสน้อยในการแสดงความเป็นตัวเอง เมื่อถูกส่งออกมา” อภิสราเล่าต่อ “เด็กมักขาดทักษะชีวิต ยากที่จะเข้าใจว่ารักแท้คืออะไร พวกเขาค้นหาความรักในสถานที่ผิด ๆ บางคนมองไม่เห็นอนาคตจึงเลือกทำร้ายตัวเอง”
ความทรงจำของอภิสราเป็นจุดเริ่มต้นของการประชุมแห่งชาติด้านการเลี้ยงดูทดแทนในหัวข้อ “เด็กอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่” ในวันที่ 19-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา งานดังกล่าวจัดขึ้นในโอกาสวันเด็กสากลและวันครบรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเวียนมาทุกปีในวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยยูนิเซฟ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และ กลุ่มการเลี้ยงดูทดแทน

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทางออนไลน์มีผู้เข้าร่วมประชุมมากมายจากหลายภาคส่วน ทั้งจากรัฐบาล ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ตลอดจนผู้แทนจากต่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเลี้ยงดูทดแทนเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเติบโตใน สภาพแวดล้อมในรูปแบบของครอบครัวที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลจากครอบครัวของพวกเขาเองถ้าเป็นไปได้
ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องว่าครอบครัว และโดยเฉพาะครอบครัวที่เปราะบาง ควรได้รับการสนับสนุนเพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้ หากพ่อแม่ของเด็กไม่สามารถให้การดูแลเด็กได้ เด็กควรได้รับการดูแลในสภาพแวดล้อมในรูปแบบครอบครัวที่มีความปลอดภัย แวดล้อมไปด้วยความรักและสามารถปกป้องคุ้มครองเด็กได้

กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา จากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยกล่าวว่าการแยกเด็กออกจากครอบครัวควรเป็นทางเลือกสุดท้าย และหากมีการต้องแยกเด็กออกจากครอบครัวต้องใช้เวลาสั้นที่สุด และทางเลือกที่ดีที่สุดคือให้เด็กได้อยู่กับญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นการพึ่งพาระบบเครือญาติที่เข้มแข็งในสังคมไทย
เธอกล่าวว่าปัจจุบันมีสถานรับเลี้ยงเด็กประมาณ 700 แห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้ราวสองเท่าเนื่องจากมีสถานสงเคราะห์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหลายร้อยแห่งซึ่งอาจมีการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก เช่น การรับเงินบริจาค
กัณฐมณีกล่าวถึงงานวิจัยของยูนิเซฟในปีนี้ ซึ่งกล่าวถึงตัวอย่างของสถานรับเลี้ยงเด็กในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพบว่าเด็ก 9 ใน 10 คนยังมีพ่อหรือแม่อยู่ และเด็กมากกว่าร้อยละ 60 กล่าวว่ายังติดต่อกับพ่อหรือแม่ หรือญาติพี่น้องอยู่ แต่ต้องเข้าสถานสงเคราะห์เนื่องจากความยากจน
การอภิปรายในที่ประชุมมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปกฎหมายและนโยบายระดับประเทศเพื่อสนับสนุนครอบครัวและป้องกันไม่ให้เด็กถูกแยกจากครอบครัวในทุกกรณีหากเป็นไปได้ โดยมีการสรุปความท้าทายในการทำงานเมื่อต้องประเมินว่าการแยกเด็กออกมาจากครอบครัวในกรณีใดกรณีหนึ่งจำเป็นอย่างที่สุดแล้วหรือไม่ และการดูแลแบบไหนจะเหมาะสมสำหรับเด็กที่สุด
ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งรวมไปถึงผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานส่วนหน้าของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวถึงความท้าทายในระบบการเลี้ยงดูทดแทน และเสนอแนวคิดในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและระดับชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแยกครอบครัว รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรฐานการดูแล และการเปลี่ยนผ่านของระบบเลี้ยงดูทดแทน โดยบทบาทของครอบครัวในฐานะที่เป็นรากฐานของสังคมถูกเน้นเป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันไม่ให้เด็กถูกทอดทิ้งหรือพลัดพรากจากพ่อแม่

แนวทางปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการดูแลทดแทนตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยร่วมลงนาม เสนอหลักเกณฑ์สองประการในการพิจารณาการดูแลทดแทน คือหลักเกณฑ์ความจำเป็นและหลักเกณฑ์ความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม นักสังคมสงเคราะห์และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีประสบการณ์ การฝึกอบรม และการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อช่วยในการตัดสินใจให้เด็กได้รับการดูแลตามหลักการดังกล่าว
ผู้เข้าร่วมเสวนาหลายคนเสนอแนะว่าสถานสงเคราะห์เด็กในประเทศไทยควรถูกห้ามไม่ให้รับเงินบริจาคหรือระดมทุน เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้มีการรับเลี้ยงเด็กในจำนวนมากและเป็นเวลานานเพื่อดึงดูดเงินบริจาคต่อไปเรื่อย ๆ
ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศอื่น ๆ จากเดอเลีย ป๊อป (Delia Pop) ผู้อำนวยการ Tanya's Dream Fund และผู้สนับสนุนการปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทน เล่าถึงตัวอย่างในประเทศโรมาเนียบ้านเกิดของเธอ และประเทศรวันดา
ในปี 2543 เด็กจำนวนกว่าหนึ่งแสนรายอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์จำนวนกว่า 640 แห่งทั่วประเทศโรมาเนีย แต่ในปี 2564 สถานสงเคราะห์เหล่านี้กลายเป็นสถานที่ผิดกฏหมายแล้ว ทำให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในระบบการเลี้ยงดูแบบครอบครัว
ในประเทศรวันดา การปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทนทำให้มีอาสาสมัครในระดับชุมชนและครอบครัวอุปถัมภ์ที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือแก่ครอบครัวเพื่อให้ดูแลเด็กได้ และนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกอบรมก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ป๊อปชี้ให้เห็นว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทนในสองประเทศนี้คือการที่งบประมาณได้ถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ในการส่งเสริมการดูแลแบบครอบครัวแทนที่จะถูกแจกจ่ายให้กับสถานสงเคราะห์ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบการดูแลเด็กที่แพงที่สุดในขณะที่เด็กต้องมีบาดแผลจากการล่วงละเมิดและการละเลยซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก

กัณฐมณีได้ยกคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีเด็กกำพร้า จนกว่าจะมีสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า” เพื่อเน้นถึงความสำคัญของบทบาทของครอบครัว เครือญาติ และชุมชนในการเลี้ยงดูเด็ก
ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เสนอว่าการลดความยากจนเพื่อลดการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศที่นำไปสู่การแตกแยกของครอบครัว การสร้างงานในท้องถิ่นและโครงการงบประมาณจูงใจสำหรับครอบครัวหรือญาติในการดูแลเด็กควรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาครัฐเช่นกัน
ในวันที่สองของการประชุม เจ้าชายไมเคิลแห่งเคนต์ องค์อุปถัมภ์ขององค์กร Care for Children ร่วมแสดงความยินดีกับประเทศไทยสำหรับความพยายามในการพัฒนาระบบบริการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ โดยกล่าวว่าตั้งแต่ปี 2551 พระองค์ทรงสนับสนุนโครงการนำร่องของ Care for Children ในจังหวัดเชียงใหม่ที่นำเด็กจากสถานสงเคราะห์กลับมาสู่ครอบครัวอุปถัมภ์และการฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ในท้องถิ่น
นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ยกย่องความมุ่งมั่นของไทยในการเสริมสร้างนโยบายการเลี้ยงดูทดแทน โดยกล่าวว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และยูนิเซฟกำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแผนงานระดับชาติของการเลี้ยงดูทดแทน เพื่อปรับปรุงบริการการสนับสนุนครอบครัวและส่งเสริมการเลี้ยงดูทดแทนแบบครอบครัว โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในช่วงท้ายของการประชุมว่า “ผมมักจะแนะนำนักสังคมสงเคราะห์ของกระทรวงฯ ให้มองว่าเด็กเป็นลูกของเรา เราจะได้ตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้รับการดูแลที่ดีที่สุด”
ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา