แถลงการณ์จากรองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟต่อเรื่องการระวังการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า

- พร้อมใช้งานใน:
- English
- ไทย
นิวยอร์ก, 9 มีนาคม 2563 – ชาร์ล็อต เพทรี่ กอร์นิทซ์กา รองผู้อำนวยการฝ่ายภาคีและพันธมิตร องค์การยูนิเซฟ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ระบุว่า ในช่วงเวลาเช่นนี้ที่ผู้คนทั่วโลกต่างก็กำลังปฏิบัติตามคำแนะนำที่สำคัญเพื่อป้องกันตนเองและครอบครัวจากเชื้อไวรัสโคโรน่า การเตรียมตัวและเฝ้าระวังที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากข้อมูลที่ผ่านการพิสูจน์และได้รับการรองรับทางวิทยาศาสตร์นั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในเวลานี้
ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากต่างกำลังแบ่งปันและส่งต่อทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสและวิธีการป้องกัน กลับพบว่ามีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็นประโยชน์หรือน่าเชื่อถือ การส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือนหรือไม่ถูกต้องในช่วงวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพเช่นนี้ จะนำไปสู่การตื่นตระหนก หวาดกลัว และการตีตราผู้อื่นในวงกว้าง อีกทั้งยังส่งผลเสียให้ผู้คนไม่ได้รับการป้องกันและสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อความที่แอบอ้างว่ามาจากองค์การยูนิเซฟในหลายภาษาบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีการระบุว่าให้หลีกเลี่ยงการทานไอศกรีมและอาหารที่เย็น ๆ เพื่อป้องกันโรค ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องแม้แต่น้อย
ยูนิเซฟขอให้ผู้ที่สร้างเนื้อหาและข้อมูลเท็จเหล่านี้ยุติการกระทำดังกล่าว เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และพยายามที่จะแอบอ้างชื่อหรือองค์กรอื่นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือนั้นถือเป็นสิ่งที่อันตราย และผิดอย่างมหันต์ และสำหรับสาธารณชน เราขอให้ทุกท่านค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลตนเองและครอบครัวจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ทางเว็บไซต์ขององค์การยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก (WHO) หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของภาครัฐ และบุคลากรทางการแพทย์ และขอให้ท่านอย่าได้แชร์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือยังไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง
ในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายเช่นนี้ อาจจะเป็นเรื่องยากในการเลือกรับข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการปกป้องและดูแลตัวคุณเองและคนที่คุณรัก แต่การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อหรือแชร์ให้กับคนที่รู้จักก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ยูนิเซฟพยายามอย่างยิ่งในการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัส โดยได้ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก ภาครัฐบาล และภาคีพันธมิตรบนโลกออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ลิงค์อิน (LinkedIn) และ ทิกท็อก (TikTok) เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ข้อมูลและคำแนะนำนั้นมีความถูกต้อง และพร้อมที่แจ้งแก่สาธารณชนหากปรากฏข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
เว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลก
ที่อยู่ติดต่อสื่อ
เกี่ยวกับยูนิเซฟ
ยูนิเซฟส่งเสริมสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กทุกคน ในทุกๆ งานที่เราทำ ยูนิเซฟทำงานใน 190 ประเทศและดินแดน ร่วมกับพันธมิตรของเรา เพื่อแปรเปลี่ยนความมุ่งมั่นให้กลายเป็นการลงมือทำที่เป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงพวกเด็กๆ ในกลุ่มที่เปราะบางและถูกมองข้าม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของเด็กทุกคน ในทุกๆ ที่
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับยูนิเซฟ และงานเพื่อเด็กของยูนิเซฟ ได้ที่เว็บไซต์ www.unicef.org/thailand/
ติดตามเรื่องราวล่าสุดจากยูนิเซฟได้ที่ ทวิตเตอร์ และ เฟซบุ๊ก ของยูนิเซฟ