สิทธิเด็ก-การคุ้มครองเด็ก-ศาสนา เกี่ยวกันไหม อย่างไร?

เสวนาออนไลน์ เรื่องศาสนากับการคุ้มครองเด็ก

ณัฐฐา กีนะพันธ์
เสวนา "บทบาทและประสบการณ์ของหน่วยงานและองค์กรศาสนาในการคุ้มครองเด็ก"
UNICEF Thailand/2022
เสวนา "บทบาทและประสบการณ์ของหน่วยงานและองค์กรศาสนาในการคุ้มครองเด็ก"
30 กันยายน 2022

เวลาเราพูดเรื่องสิทธิเด็ก หลายคนมักจะนึกถึงกฎหมาย นโยบาย หรือบทบาทของครอบครัว รัฐบาล องค์กรต่าง ๆ แต่เรามักไม่ค่อยนึกถึงศาสนาหรือองค์กรศาสนา เพราะดูเหมือนไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่  

จริง ๆ แล้ว ศาสนามีความเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็กอย่างมาก เพราะหลักสำคัญของแต่ละศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู หรือศาสนาหลักอื่น ๆ  ของโลกต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเมตตา ความไม่เบียดเบียนกัน และสันติสุข ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก นอกจากนี้ บทบาทขององค์กรศาสนามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและได้รับการไว้วางใจจากผู้ที่ศรัทธาอย่างมากมาย มีสถานะทางสังคมที่อยู่ในตำแหน่งพิเศษและไม่เหมือนใคร ทำให้สามารถเข้าไปจัดการปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของเด็กและผู้หญิง ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ดังนั้นบทบาทของนักการศานาจึงสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองเด็ก เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กได้ 

เร็ว ๆ นี้ ยูนิเซฟ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาออนไลน์ เรื่องศาสนากับการคุ้มครองเด็ก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและตัวแทนของแต่ละศาสนาในประเทศไทยมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงหลักการและบทบาทของศาสนาในการคุ้มครองเด็กท่ามกลางความท้าทายมากมายในโลกยุคปัจจุบันที่กำลังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนาครั้งนี้โดยได้เรียกร้องให้องค์กรและผู้นำทางศาสนามาร่วมเป็นกระบอกเสียงเรื่องสิทธิเด็กในด้านต่าง ๆ เช่น การต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดต่อเด็กในทุกรูปแบบ รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) การกลั่นแกล้งรังแก (ฺBullying) การแต่งงานในวัยเด็ก และการขลิบอวัยวะเพศ ซึ่งล้วนเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิเด็ก นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้องค์กรศาสนาเข้ามาบทบาทในการส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ได้เรียนรู้และพัฒนา และมีส่วนร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กและเยาวชนกำลังต้องรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เช่น ผลกระทบจากโควิด-19 การเรียนรู้ที่ถดถอย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต ยังได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องศาสนาและสิทธิมนุษยชนไว้ว่า ตามหลักสากลของสหประชาติในเวทีสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน คำว่า “ศาสนา” จะครอบคลุมถึง “ความเชื่อ” ซึ่งรวมถึงกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีความเชื่อของตนเอง โดยเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกศาสนาและความเชื่อของตนเองได้ หรือมีสิทธิที่จะเลือกไม่มีศาสนาหรือเปลี่ยนศาสนาก็ได้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการตัดสินใจของเด็ก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถชี้แนะได้แต่ไม่มีสิทธิ์บังคับหรือตัดสินใจแทนเด็ก 

ด้าน พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ ผศ.ดร. มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวคำสอนของพุทธศาสนาถือเป็นพื้นฐานของการคุ้มครองเด็ก เพราะเน้นเรื่องการักษาศีลและการยกระดับจิตใจ ส่งเสริมความเมตตา กรุณา และให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต แก่นคำสอนเหล่านี้ทำให้เราไม่อยากทำร้ายและละเมิดสิทธิของเด็กและสิทธิของผู้อื่นเนื่องจากตระหนักในคุณค่าของชีวิต นอกจากนี้ พุทธศาสนายังสอนเรื่องความละอายต่อบาปเพื่อป้องกันการทำร้ายหรือละเมิดผู้อื่น  

คุณพ่อสุวัฒน์ เหลืองสอาด รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับสิทธิเด็กว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เพราะศาสนาคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์จากพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ ดังนั้น การที่เด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นจึงเป็นผลมาจากพระพรของพระเจ้า ผู้ซึ่งได้มอบความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเด็กและในตัวของทุกคนให้เติบโตและงอกงามขึ้น สิทธิเด็กจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่พระเจ้ามอบให้กับเด็ก เป็นสิทธิที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เกิดไม่ใช่สิ่งที่ต้องเรียกร้อง หน้าที่ของผู้ใหญ่  คือ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในเด็กทุกคนนี้ ผ่านการฟูมฟักดูแลให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ หลักการนี้ตรงกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งระบุว่า สิทธิ์เด็กเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด โดยผู้ใหญ่มีหน้าที่ประกันสิทธิเด็กเพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัยและสามารถพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ 

ด้าน ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดีคณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวเน้นย้ำถึงหน้าที่ของทุกภาคส่วนในการช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ การให้ความรักและการคุ้มครองเด็กถือเป็นเรื่องสำคัญของหลักอิสลาม ซึ่งเน้นการให้ความรักอย่างเท่าเทียมและทะนุถนอม พร้อม ๆ กับการตักเตือนและการสั่งสอนที่ถูกต้อง โดยพ่อแม่จะต้องให้การดูแลเด็กเป็นอย่างดี ในขณะที่ครู โรงเรียน องค์กรศาสนา สังคมและรัฐบาลต้องสนับสนุนให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูเด็กให้เป็นไปตามหลักการได้ นอกจากนี้ หลักอิสลามยังกำหนดให้เด็กมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น เช่น การเลือกที่จะอยู่กับพ่อหรือแม่ในกรณีที่พ่อแม่แยกทางกัน หรือการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง  

ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าแก่นของศาสนาต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับหลักการสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้นำทางศาสนาถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดและเป็นผู้นำในการดำเนินชีวิตของคนในสังคมนั้น ๆ โดยองค์กรศาสนาและผู้นำทางศาสนาต่างเป็นพันมิตรสำคัญของยูนิเซฟในการขับเคลื่อนสิทธิเด็กในทุกพื้นที่ทั่วโลก  

ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง ความขัดแย้ง การล่วงละเมิดเด็ก ปัญหาสุขภาพจิต และผลกระทบจากโควิด-19 ที่เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญ ความร่วมมือขององค์กรศาสนาและผู้นำทางศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทยจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับชีวิตของเด็ก ๆ เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงในชีวิตและความผาสุกของสังคมไทย  

ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

 

ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา

[คลิกเพื่อสมัครเลย]

 

 

อ่านเรื่องราวในหัวข้ออื่น ๆ