#มนุษย์กรุงเทพฯxUNICEF
สัตว์ป่าเคยอยู่ตรงนี้: บทสัมภาษณ์ ‘วิน’ กตัญญู วุฒิชัยธนากร ช่างภาพสัตว์ป่า นักศึกษาสัตววิทยา นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
"ผมได้รับการปลูกฝังเรื่องธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวพาไปสวนสัตว์ หลังจากนั้นก็พาไปดูสัตว์ในป่า พอเห็นว่าลูกสนใจทางนี้ เขาเลยพาไปเข้าค่ายเกี่ยวกับธรรมชาติด้วย ช่วงนั้นผมดูนกในเมืองและในป่า ผมชอบ นกตีทอง ที่เห็นในสวนสราญรมย์ พอเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ผมชอบ นกพญาปากกว้าง ความสนุกของการดูนกคือ เรามีลิสต์ของนกไว้ พอเห็นตัวไหนก็จดว่าเจอแล้ว เหมือนเล่นเกมจับโปเกมอนเลย (ยิ้ม) แค่เราไม่ได้เอานกมาขังกรงไว้ที่บ้าน"
"ผมเริ่มถ่ายภาพสัตว์ป่าครั้งแรกตอน 10 ขวบ ถ่ายด้วยกล้องคอมแพคที่แม่ซื้อให้ ถ่ายไปสักระยะกล้องตัวนั้นก็พัง เลยเปลี่ยนมาใช้กล้อง DSLR ของพ่อ ช่วงแรกคนอื่นไปถ่ายตรงไหน ผมไปถ่ายตาม คนอื่นทำงานยังไง ผมทำตาม พอได้มีโอกาสร่วมงานกับช่างภาพมืออาชีพ นอกจากได้รู้วิธีใช้กล้องแล้ว สิ่งที่ผมได้คือ มารยาทในการถ่ายภาพ เราเข้าไปในบ้านของสัตว์ป่า ต้องไม่ไปรบกวนเขา หรือรบกวนให้น้อยที่สุด การอยากได้รูปสวยๆ จนไปทำลายสิ่งที่เป็นอยู่ในธรรมชาติ คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"
"การถ่ายภาพสัตว์ป่าคือสิ่งที่ผมสนใจ พอช่วงมัธยมเรียนโฮมสคูลเลยจัดสรรเวลาได้ ช่วงนั้นออกทริปแทบทุกอาทิตย์เลย ตอนอายุ 15 ผมถ่ายภาพวาฬบรูด้าที่อ่าวไทย ชื่อว่าแม่กันยา เป็นภาพโคสอัพจนเห็นขอบปากสีชมพู เห็นว่ามันกินปลากะตัก ผมชอบภาพนั้นมาก เหมือนเป็นการถ่ายที่แหกกฎ ปรากฏว่าภาพไปชนะเลิศรายการ Young Wildlife Photographer of the Year 2022 ผมว่าคุณค่าของภาพสัตว์ป่าคือการสื่อสารในสิ่งที่คนอาจไม่เคยเห็น ซึ่งอาจทำให้คนรักธรรมชาติมากขึ้นได้"
"ผมเรียนอยู่ปี 1 ด้านสัตววิทยา (คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์) ถ่ายภาพสัตว์ป่ามาเกือบสิบปีแล้ว ช่วงหลังเวลาเข้าไปในป่า เช่น ป่าแก่งกระจาน สัตว์ป่าที่เคยอยู่ตรงนี้ กลับไม่อยู่ตรงนี้เหมือนเดิม นกน้อยลงไป สัตว์อื่นๆ ก็น้อยลงไปด้วย ถ้าสิ่งที่หายไปเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันคือความสมดุล สัตว์ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไม่ใช่เรื่องแย่ เป็นการเปิดช่องว่างให้สปีชีส์ใหม่เกิดขึ้น แต่ปัญหาคือการหายไปในปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ไปเร่งกระบวนการ แล้วไม่มีสปีชีส์ใหม่มาทดแทน"
"ผมคิดว่าคนในเมืองไม่ต้องรู้จักและไม่ต้องสนใจสัตว์ป่าก็ได้ แต่เขาต้องรู้จักสิ่งแวดล้อม รู้ว่าการกระทำอย่างหนึ่งส่งผลกระทบกับหลายเรื่อง และมันจะวนกลับมาหาคน เช่น ไมโครพลาสติกเกิดจากขยะพลาสติกที่ลงไปในทะเล โดนน้ำซัด โดนแสงแดด จนเป็นเศษพลาสติกเล็กๆ เข้าไปอยู่ในสัตว์ทะเล แล้วมันก็กลับมาเป็นอาหารของคน เราเลยกินไมโครพลาสติกที่ตัวเองทิ้ง ถ้าสะสมอยู่ในร่างกายมากๆ ก็ส่งผลให้เป็นมะเร็ง เวลาอธิบายแบบนี้ คนจะเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติได้ง่ายขึ้น"
"สิ่งแวดล้อมทุกอย่างกำลังแย่ลง การกระทำของมนุษย์ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ที่มาหลักๆ คือโรงงานอุตสาหกรรม พอชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้โลกร้อนมากขึ้น อีกปัญหาคือบริษัทยักษ์ใหญ่รุกล้ำพื้นที่ป่า ทำให้พื้นที่อาศัยและพื้นที่หากินของสัตว์ป่าน้อยลง สัตว์ป่าเลยค่อยๆ หายไป ซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิด้วย เรามีความหวังว่าปัญหาเหล่านั้นจะดีขึ้นในพื้นที่เล็กๆ ได้ เช่น ถ้าเขาใหญ่เปลี่ยนการจัดการขยะได้ ปัญหากวางตายจากการกินขยะก็น้อยลง แต่ถ้าปัญหาโดยภาพรวมยังไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ารัฐบาลยังเอื้อนายทุนแบบนี้"
"ผมมองว่างานอนุรักษ์ในไทยสิ้นหวังมาก ผมโกรธบรรษัทข้ามชาติที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่เรากลับทำอะไรเขาไม่ได้เลย ต่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนรณรงค์ให้ประชาชนลดใช้ถุงพลาสติกมากขนาดไหน ถ้ากระบวนการผลิตยังสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โรงงานยังปล่อยไมโครพลาสติกสู่ทะเล โรงงานยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกำหนด ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เหมือนไม่ได้แก้ไข เพราะสุดท้ายแล้วการทำให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมดีกว่าและยั่งยืนกว่า"
"ทุกวันนี้เราเคยชินกับภาวะโลกร้อน อะไรๆ ก็ภาวะโลกร้อน มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเหรอ ‘อ๋อ.. เกิดจากภาวะโลกร้อน’ จนไม่ได้มองว่าเรื่องนี้น่ากลัว ทั้งที่ภัยพิบัติต่างๆ ในปัจจุบันเกิดจากภาวะโลกร้อนทั้งนั้น ถึงที่สุดแล้ว คนรุ่นผมคงแก่ไปโดยยังใช้ชีวิตได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าโลกแปรปรวน ถ้าทรัพยากรน้อยลง ทุกอย่างจะราคาสูงขึ้น ชีวิตคนที่ฐานะทางการเงินไม่ค่อยดีจะกระทบก่อน แต่สุดท้ายคนรวยก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดี แล้วทุกอย่างจะหายไปหมด"
"ถ้าพูดในมุมที่ดูดี การตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมคือการช่วยโลก เป็นการอนุรักษ์เพื่อให้คนรุ่นหลังอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าพูดแบบเห็นแก่ตัว เรากำลังช่วยตัวเองนี่แหละ ทำเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ เราไม่ต้องสนใจสัตว์ป่าเลยก็ได้ แค่สนใจว่าวันหนึ่งจะไม่มีปลาทะเลกิน ไม่ต้องสนใจเรื่องขยะก็ได้ แค่สนใจว่าทำยังไงถึงจะได้กินอาหารทะเลที่สะอาด แค่คุณตระหนักเท่านี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เกี่ยวข้องกับทุกคน และคุณคงอยากทำให้มันดีขึ้นแล้ว"
เด็ก คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งต่อตัวเอง คนใกล้ตัว และความไม่แน่นอนของชีวิตในอนาคต แต่ความต้องการของพวกเขามักถูกมองข้ามจากผู้ใหญ่ เสียงที่ส่งออกมาอาจมีคนได้ยินบ้าง แต่น้อยคนที่เปิดใจรับฟัง
ยูนิเซฟจึงเปิดตัวแคมเปญ #CountMeIn เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เด็กๆ เผชิญ เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้บอกเล่าความคิดเห็นและความต้องการของพวกเขา
เราต้องการให้เด็กและเยาวชนอยู่ในสมการเรื่องการพูดคุยและการแก้ไขเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นั่นเพราะพวกเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบ และเป็นคนที่ต้องอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกนาน
ยูนิเซฟทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และผู้มีอำนาจตัดสินใจเร่งปกป้องเด็กๆ จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น โดยปรับบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก และเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตในสภาวะของโลกที่เปลี่ยนไป ตลอดจนจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาด้านนี้ที่ให้ความสำคัญกับเด็ก
ในประเทศไทย ยูนิเซฟทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตร เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการพูดคุยและแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ
บทสัมภาษณ์ต้นฉบับเผยแพร่บนเพจ มนุษย์กรุงเทพฯ