วันของฉันกับยูนิเซฟ – เยาวชนบนเส้นทางนักการทูต

นารา ผลประเสริฐ ผู้นำเยาวชนอายุ 17 ปี แบ่งปันประสบการณ์ในการติดตามการปฏิบัติภารกิจ ของผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เป็นเวลาสองวัน

นารา ผลประเสริฐ
ภาพหมู่ของผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ และ 4 เยาวชนผู้ได้รับคัดเลือกในกิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางการทูต ทุกคนกำลังทำท่ามินิฮาร์ต
UNICEF Thailand/2023/Monthalee Songphatanayothin
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นารา ผลประเสริฐ และผู้ได้รับคัดเลือกในกิจกรรม เยาวชนบนเส้นทางนักการทูต ในงาน Asia-Pacific Regional Commemoration of International Women's Day เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566
21 เมษายน 2023

กิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางนักการทูต (Ambassador for A Day) มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยที่มีความสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอนาคตด้วยการให้โอกาสเยาวชนได้สัมผัสกับการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานสหประชาชาติและสถานเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีเยาวชนอย่างนารา ผลประเสริฐ หรือน้องเอม หนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกประจำปี 2566 เป็นกลุ่มเป้าหมาย นารา อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้นำชมรมเพื่อรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในโรงเรียน และเคยปฏิบัติหน้าที่ยุวทูตในเทศกาลหนังสั้นสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวิกฤติโลกรวน นารามีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในการเข้าถึงสะเต็มศึกษา นับเป็นปีที่สามที่กิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางนักการทูตเชิญชวนน้อง ๆ ส่งคลิปวิดีโอบอกเล่าเรื่องราว “การสร้างความเท่าเทียมทางเพศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ในปีนี้มีเยาวชนให้ความสนใจส่งวิดีโอเข้าประกวดมากถึง 288 ชิ้น แต่ผลงานของนารามีความโดดเด่นที่สุด จึงทำให้เธอได้รับโอกาสติดตามนางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ขณะปฏิบัติภารกิจเป็นเวลาสองวัน และในวันนี้นาราได้แบ่งปันประสบการณ์ของเธอผ่านบันทึกฉบับนี้ 

2023/Nara Phonpraserth
The winning video submission from Nara for the Ambassador for A Day contest.
Blocks
ผู้หญิงสามคนกำลังนั่งประชุมอยู่ในบริเวณที่นั่งโซฟาภายในห้อง
UNICEF Thailand/2023/Monthalee Songphatanayothin
การประชุมติดตามงานประจำสัปดาห์กับทีม Partnership & Advocacy ที่สำนักงานองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

การได้เข้าร่วมกิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางนักการทูตเป็นประสบการณ์ที่เอมจะไม่มีวันลืม การได้ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เป็นเวลาสองวันทำให้เอมได้เห็นภารกิจของยูนิิเซฟในแง่มุมต่าง ๆ โดยวันแรกได้ติดตามภารกิจการคุ้มครองเด็ก โดยเราเริ่มต้นกันที่สถานพินิจและศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งทำให้เอมได้เห็นว่ากรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้การช่วยเหลือเด็กที่กระทำผิดกฎหมายอย่างไร จากนั้นเราเดินทางต่อไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการสร้างหลักประกันให้สิทธิเด็กได้รับการเคารพและเด็กได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

การได้ใช้เวลาหนึ่งวันกับฝ่ายคุ้มครองเด็กของยูนิเซฟทำให้เอมเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทำงานของยูนิเซฟกับองค์กรเครือข่าย ทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนจะได้รับการสนับสนุนอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ประสบการณ์ในวันนี้ทำให้เอมได้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายที่เด็กหลายคนต้องเผชิญในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ครอบครัวที่แตกแยก ความรุนแรง และการถูกล่วงละเมิด ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการดูแลเอาใจใส่ภาวะจิตสังคมของผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน และการจัดการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพเพื่อดึงพวกเขากลับคืนสู่สังคมและเป็นหลักประกันในอนาคตให้แก่พวกเขา  กิจกรรมนี้ทำให้เอมเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการคุ้มครองเด็ก และเป็นแรงบันดาลใจให้เอมอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจนี้ในอนาคต

ภาพหมู่ของเหล่าเยาวชนผู้ได้รับการคัดเลือกร่วมกิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางการทูตภายในห้องประชุมขนาดใหญ่ ณ อาคารใน UNESCAP
UNICEF Thailand/2023/Monthalee Songphatanayothin
ภาพหมู่ในงาน Asia-Pacific Regional Commemoration of International Women's Day เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566

หนึ่งในภารกิจที่ประทับใจเป็นพิเศษ คือการได้เข้าร่วมงาน Asia-Pacific Regional Commemoration of International Women's Day ซึ่งจัดโดย UNESCAP และ UN-Women สุนทรพจน์ในงานให้ข้อคิดที่มีคุณค่ามากและแสดงให้เห็นว่าผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศในโลกดิจิทัลได้อย่างไร โดยเราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรี กิจกรรมนี้ได้ส่งต่อพลังและแรงผลักดันให้กับเอมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมของเราเดินหน้าสู่โลกที่เท่าเทียมและเป็นธรรมยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน

ภาพบรรยากาศภายในงานต้อนรับเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม "เยาวชนบนเส้นทางการทูต" ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตเบลเยียม ผู้คนที่มาร่วมงานทั้งชายและหญิงกำลังปรบมืออยู่
2023/Belgium embassy
งานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการเยาวชนบนเส้นทางนักการทูตประจำปี 2566 ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566
Blocks
ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟกำลังพูดคุยอยู่กับเยาวชนในห้องทำงานของเธอ
UNICEF Thailand/2023/Monthalee Songphatanayothin
การพูดคุยระหว่างนารากับนางคยองซอน คิม นาราแชร์ข้อคิดเห็นและประสบการณ์จากการร่วมภารกิจกับยูนิเซฟ

ตลอดสองวัน เอมได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากผู้นำสตรีหลายท่านที่ได้พบปะพูดคุยที่ยูนิเซฟ โดยเฉพาะคุณคิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผู้มีความมุ่งมั่นแต่ก็มีความเป็นกันเอง ทำให้เอมรู้สึกผ่อนคลายกล้าที่จะพูดคุยและตั้งคำถาม เธอรับฟังคำถามด้วยความตั้งใจและให้คำแนะนำเรื่องการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ 

การได้ติดตามการปฏิบัติภารกิจของคุณคิมทำให้ได้ข้อคิดและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  เอมจะไม่ลืมบทสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายและสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารจานโปรด งานอดิเรก หรือประสบการณ์การทำงานด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของคุณคิม ข้อคิดจากคุณคิมทำให้เอมได้เรียนรู้และเติบโต และทำให้เอมเห็นถึงความสำคัญของการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืน

แม้การติดตามการปฏิบัติภารกิจของยูนิเซฟจะเป็นเวลาสั้น ๆ แต่มันเป็นสองวันที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับเอม เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายในสองวันนี้นอกจากจะทำให้เอมสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เอมเดินหน้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีขึ้นต่อไป เอมอยากขอบคุณยูนิเซฟที่ให้โอกาสเอมได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และรู้สึกตื่นเต้นกับตัวเองว่าความสนใจในเรื่องการทูตจากภารกิจครั้งนี้จะพาเอมก้าวเดินไปในทิศทางใดในอนาคต

เกี่ยวกับกิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางนักการทูต 

กิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางนักการทูตเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 16 – 25 ปี ได้ติดตามการทำงานของเอกอัครราชทูตหรือผู้นำสตรีของสหประชาชาติเป็นเวลาหนึ่งวันในช่วงสัปดาห์สตรีสากลประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “นวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการศึกษาในยุคดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมทางเพศและการพัฒนาสตรีและเด็กผู้หญิงทุกคน” โดยเยาวชนจะต้องส่งวิดีโอความยาว 3 นาที เพื่อบอกเล่าความคิดของตัวเองในหัวข้อดังกล่าว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เปิดให้เยาวชนทุกคนทั่วประเทศไทยได้มีส่วนร่วม กิจกรรมดังกล่าวได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนและผู้นำสตรีได้แลกเปลี่ยนมุมมองและเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม และทำให้เยาวชนได้ตระหนักว่า เด็กผู้หญิงทุกคนสามารถฝันให้ไกลและไปให้ถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมเยาวชนบนเส้นทางนักการทูตได้ที่ https://thailand.un.org/en/209288-ambassador-day-2023 

อ่านเรื่องราวในหัวข้ออื่น ๆ