เช้าวันเด็กปีนี้ไม่เหมือนทุกปี เพราะพวกเรา 4 คน ท็อป รวงข้าว เเฮริส ณิชา สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ ได้รับโอกาสให้ทดลองเป็นผู้ว่าและรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 1 วันเต็ม นี่เป็นโอกาสที่ไม่คาดฝันที่จะได้ตามติดท่านผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เเละท่านรองผู้ว่าศานนท์ หวังสร้างบุญ ไปเรียนรู้เรื่องการพัฒนาเมืองและการพัฒนาเด็กไปพร้อม ๆ กัน

เส้นทางผู้ว่าเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์เด็กจตุจักร พื้นที่เรียนรู้เรื่องราวของกรุงเทพฯ ผ่านการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (Virtual Reality) และโรงละคร 4 มิติ จากนั้นไปเรียนรู้เรื่องการจัดระบบผังเมืองที่สวนเบญจกิตติพร้อมกับแขกพิเศษอย่างคณะท่านผู้ว่าจากเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
และเนื่องจากวันนี้เป็นภารกิจวันเด็กเลยได้ร่วมงานวันเด็ก ถึง 2 งาน ณ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินเเดง และสวนครูองุ่น แม้จะเป็นงานวันเด็กเหมือนกันแต่สิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นต่างออกไป ที่ศูนย์เยาวชนฯ มีหลากหลายกิจกรรมที่สนับสนุนความฉลาดที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างของเด็กแต่ละคน (พหุปัญญา) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม และเอกชน การสนับสนุนความต่างนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางความฝันของเด็กแต่ละคน

ส่วนงานวันเด็กที่สวนครูองุ่นมาในธีม “Gender Inclusive for Every Child” สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ พวกเราได้พบปะกับกลุ่มเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนฯ แลกเปลี่ยนเรื่องราวการขับเคลื่อนสังคม และปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ร่วมกัน สถานีต่อไปคือการร่วมประชุม “พลังภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกับทิศทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร” กับตัวแทนเขตและรองผู้ว่าศานนท์ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและลดช่องว่างในการทำงานระหว่างภาคประชาสังคมเเละผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้การทำงานเเละเเก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความรู้ใหม่ที่ได้จากการประชุม คือหลักในการการขับเคลื่อนสังคมที่ต้องจัดการให้ 3 พลังสมดุลกัน คือ พลังนโยบาย พลังความรู้หรือกลไก เเละพลังทางสังคมหรือคนทำ
สงสัยกันไหมว่า อะไรคือทักษะที่ท่านผู้ว่าชัชชาติและท่านรองศานนท์มีและใช้ในการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ดียิ่งกว่าเก่า หลังจากจับสังเกตมาตลอดหนึ่งวันก็ได้คำตอบว่า ทั้งสองคนต่างมี “ทักษะความเป็นผู้นำ” ที่ทำหน้าที่เสมือนกัปตันเรือคอยวางเส้นทางและบังคับเรือให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่เหมาะสม แต่ความเป็นผู้นำนั้นไม่ได้มีแค่มิติเดียว

ผู้นำที่เป็นผู้ตาม
การจะแก้ไขหรือพัฒนาอะไรเพื่อคนอื่นนั้นไม่ง่ายหากขาดการรับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังผู้ที่เผชิญกับปัญหา หากลองสังเกตจะเห็นว่านโยบายต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ มาจากการสะท้อนความต้องการของประชาชน เรียกได้ว่า “พวกเราทุกคนต่างเป็นเจ้าของนโยบาย” สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้นำใช้ความคิดและประสบการณ์ของตนในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลองสวมบทบาทผู้ตาม
ผู้นำที่ให้ความสำคัญกับเวลา
ยิ่งเป็นผู้นำ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเวลา ท่านผู้ว่าชัชชาติจะไม่ปล่อยเด็ก ๆ หรือผู้เข้าร่วมงานต้องรอแม้แต่นาทีเดียว จะคอยดูเวลาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามตารางงานเสมอ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้อื่น แน่นอนว่าตำแหน่งผู้นำมักมาพร้อมกับภาระงานที่หนักอึ้งและคงขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้หากขาดการบริหารจัดการที่ดีแม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ อย่างเวลา เราเชื่อว่าทักษะเรื่องการตรงเวลาเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างก็นำไปปรับใช้กับตัวเองได้
ผู้นำที่ไม่ติดกรอบ
ตลอดการติดตาม เราได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอ เป็นการฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ตั้งคำถามกับข้อมูลที่มีและสิ่งที่เห็น เพราะการตั้งคำถามจะพาเราไปสู่ข้อมูลและความคิดใหม่ ๆ เสมอ หากเรายึดติดแต่กับกรอบการพัฒนาเดิม ๆ โดยไม่ลองคิดนอกกรอบ นโยบายเจ๋ง ๆ ที่ถูกสร้างและพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ คงไม่เกิดขึ้น

ก่อนจบวันที่สวนรถไฟ พวกเราทั้ง 4 คน และพี่ ๆ จากยูนิเซฟได้ล้อมวงกันบนพื้นหญ้า พูดคุยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และสิ่งที่ควรปรับปรุง การติดตามท่านผู้ว่าและท่านรองช่วยให้เราได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ด้วยการลองทำและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ โดยมีทีมยูนิเซฟดูแลอย่างใกล้ชิด ชวนสร้างบทสนทนาเปิดโอกาสให้ได้คิดและแสดงความคิดเห็น สอนหลักการเข้าใจรากของปัญหา ด้วยคำถาม “5 Why” มอบเกร็ดความรู้เรื่องการทำนโยบายสาธารณะมหภาคให้เข้าถึงและครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคมมากที่สุด รวมถึงทักษะการเข้าใจคนอื่นที่เริ่มต้นจากการเปิดใจเเละตั้งใจรับฟัง
ถ้าจะให้เปรียบเทียบ พี่ ๆ จากยูนิเซฟเหมือนกับบุรุษไปรษณีย์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่าย รับส่งเสียง ความหวังเเละความฝันของคนรุ่นใหม่ ไปยังผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องในสังคม คอยสนับสนุนให้คำเเนะนำและส่งกำลังใจให้กับเด็กและเยาวชน พวกเราเชื่อมั่นว่าทีมยูนิเซฟสามารถมอบโอกาสที่มีค่านี้ให้กับเพื่อน ๆ เยาวชนอีกมากมายหลากหลายเเบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปเเบบของกิจกรรม นโยบาย การสร้างเครือข่าย เเคมเเปญรณรงค์ หรือการเป็นอาสาสมัคร สิ่งเหล่านี้ช่วยตอกย้ำว่าเด็กอย่างพวกเรามีความหมาย และเราทุกคนต่างเป็น Youth Advocator เยาวชนผู้สร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมได้