การศึกษาที่เท่าเทียม ความฝัน โอกาส และอนาคตของเด็กพิการ

เสียงของเยาวชนต่อความเท่าเทียมทางการศึกษา

ศิริบุตร มุสิกะโปดก
ศิริบุตร มุสิกะโปดก ขึ้นพูดในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
UNICEF Thailand/2022/Preechapanich
ศิริบุตร มุสิกะโปดก ขึ้นพูดในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
20 ตุลาคม 2022

ในวันที่การศึกษา ยังคงเป็นประตูสู่โอกาส เด็กทุกคนต่างไขว่คว้าเพื่อให้ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด ไม่ต่างจาก เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่แบกความฝัน และมีความหวังอยากมีชีวิตที่ดีในอนาคต เธอจึงเลือกสมัครเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด ซึ่งคิดว่าเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุเพียงว่าเธอพิการ และยังคงมีเด็กพิการอีกไม่รู้กี่คนทั่วโลก ที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป

ฉันชื่อ เนม ศิริบุตร มุสิกะโปดก เป็นเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น สายตาเลือนราง (Low vision) ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในสาขาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ตอนอายุ 15 ฉันเคยถูกปฏิเสธจากโรงเรียนที่อยากเรียน เพียงเพราะฉันเป็นเด็กพิการ โดยไม่มีการสอบวัดระดับความรู้ความสามารถใด ๆ  ตลอดชีวิตการเรียนฉันต้องพบเจอกับอุปสรรคที่หลายอย่าง เช่น การมองไม่เห็นการเรียนการสอนบนกระดาน เมื่อมองไม่เห็นก็เข้าถึงความรู้ที่ครูสอนไม่ได้ ผลการเรียนก็ไม่ดีตามไปด้วย ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการเรียน หรือการเรียนวิชาพละและศิลปะ ฉันมักถูกแยกออกมาเพราะทำในสิ่งที่เพื่อนทำไม่ได้ ฉันมักจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประหลาดแตกต่างจากเพื่อน ๆ อยู่เสมอ

ตามรายงานของยูนิเซฟทั่วโลก มีเด็กพิการประมาณ 240 ล้านคนทั่วโลกที่ถูกละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงสิทธิในการศึกษา ในประเทศไทย ช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาก็เป็นหน่วยงานลำดับต้น ๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนกะทันหัน ทุกคนในระบบการศึกษาล้วนเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเด็กพิการด้วย ทุกอย่างเหมือนหยุดชะงักไป เมื่อเปิดเทอมอีกครั้งผลร้ายที่เกิดขึ้นก็คือ พัฒนาการที่ควรก้าวหน้ากลับถดถอย ทุกอย่างกลับมาเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่ทั้งระบบ เด็กทั่วไปที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องมือเรียนออนไลน์ก็น่าสงสารมากแล้ว แต่เด็กพิการที่ขาดแคลนแม้กระทั่งโอกาสเข้าถึงการศึกษากระทั่งหลุดจากระบบการเรียนการสอนไป กลับกลายเป็นปัญหาสังคมที่รอให้แก้แบบไม่มีวันหมด

แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะส่งเสริมการศึกษาของคนพิการมากขึ้น จนคนพิการส่วนใหญ่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา แต่เราไม่สามารถการันตีได้ว่าคนพิการที่เรียนจบทุกคนจะมีงานทำ ยิ่งยากเข้าไปอีกหากคนพิการกลุ่มนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม อย่างกลุ่มที่มีความยากจน หรือเป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติ 

ฉันเลือกเรียนในสาขาการศึกษาพิเศษ เพราะหวังว่า วันหนึ่งการศึกษาจะเข้าถึงเด็กพิการทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงในประเทศที่เจริญแล้วเท่านั้น วันหนึ่งจะมีผู้ใหญ่ที่พร้อมจะจับมือเด็กทุกคนไว้และพัฒนาความรู้ความสามารถไปพร้อมกัน

ไม่ใช่เพียงบอกว่าพวกเราต้องมีความฝัน เพราะพวกเราคืออนาคต แต่โปรดอย่าลืมว่า ทุกวันนี้เด็กอย่างพวกเราคือปัจจุบัน ปัจจุบันที่ต้องได้รับการดูแล ทะนุถนอม และการเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ทุกคนบนโลกใบนี้

ฉันมีความฝันว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะมีระบบการศึกษา มีโรงเรียน ที่เด็กทุกคนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยไม่ได้แบ่งว่าฉันเป็นเด็กปกติ เธอเป็นเด็กพิการ มีคุณครูที่พร้อมพัฒนาเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าเด็กจะเกิดมามีต้นทุนชีวิตอย่างไร เพราะเด็กทุกคนต่างมีคุณค่า มีความสามารถ มีความพิเศษเฉพาะตัว ไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกลดทอนคุณค่าเพียงเพราะการเข้าไม่ถึงการศึกษาที่เท่าเทียม

สุดท้ายนี้ ฉันหวังว่าผู้ใหญ่ทุกท่าน จะไม่ละเลยเสียงของพวกเรา  ถึงแม้จะเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ที่สื่อสารแทนเด็กทั่วโลกที่เสียงของพวกเขาอาจจะไม่ดังพอ ฉันอยากให้ทุกท่าน รับรู้ว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันพรุ่งนี้อนาคตของพวกเราอยู่ในมือของทุก ๆ ท่าน


เกี่ยวกับผู้เขียน: 

ศิริบุตร มุสิกะโปดก เป็นนักศึกษาพิการทางการเห็น ศึกษาอยู่ที่คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ

ติดตามข่าวสารจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ไม่พลาดทุกการอัปเดต สมัครรับข่าวสารทางอีเมลกับเรา

[คลิกเพื่อสมัครเลย]

อ่านเรื่องราวในหัวข้ออื่น ๆ